READING

Micro-Parenting : 5 ข้อควรระวังสำหรับพ่อแม่นักใส่ใ...

Micro-Parenting : 5 ข้อควรระวังสำหรับพ่อแม่นักใส่ใจทุกรายละเอียด

Micro-Parenting

พ่อแม่ทุกคนรู้ดีว่า การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความใส่ใจคือสิ่งที่สำคัญต่อการเติบโตและการเรียนรู้ของลูก

แต่บางครั้ง… ‘ความใส่ใจ’ ที่มากเกินไป อาจกลายเป็น ‘การควบคุม’ โดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่ปรากฏการณ์ Micro-Parenting หรือการเลี้ยงลูกแบบใส่ใจทุกเรื่องและทุกรายละเอียดของลูกมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและความมั่นใจในตัวเองของลูกได้

แต่ถึงอย่างนั้น การเลี้ยงลูกแบบ Micro-Parenting ก็ได้รับความนิยมจากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องการดูแลลูกอย่างใกล้ชิดทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการใช้ชีวิตประจำวันของลูก เพราะเชื่อว่าการดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและพยายามใส่ใจทุกรายละเอียดที่เกี่ยวกับลูก จะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ประสบคสามสำเร็จในอนาคต

แต่ความจริงแล้ว การเป็นพ่อแม่นักใส่ใจรายละเอียดก็มีข้อควรระวังเช่นกัน

1. อาจทำให้ลูกขาดอิสระในการเรียนรู้

Micro-Parenting_web_1

การใส่ใจรายละเอียดทุกเรื่องของลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกจำกัดอิสระ ไม่กล้าคิดหรือตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะมีคุณพ่อคุณแม่คอยยื่นมือมาช่วยอยู่เสมอ

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง หรือเฝ้ามองอยู่ห่างๆ บ้าง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองและเติบโตขึ้นอย่างมั่นใจ

2. ลูกต้องแบกความคาดหวังจนไม่มีความสุข

Micro-Parenting_web_2

หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งเป้าหมายให้ลูกสูงเกินไป อาจเป็นการกดดันจนทำให้ลูกเกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ เพราะลูกรู้สึกว่าต้องพยายามทำให้คุณพ่อคุณแม่พอใจและภูมิใจในการกระทำ จนไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความมั่นใจ และไม่มีความสุขตามธรรมชาติของช่วงวัยตัวเอง

3. ลูกอาจเป็นเด็กกลัวความผิดพลาด

Micro-Parenting_web_3

ลูกจะไม่สามารถพัฒนาทักษะและเติบโตทางความคิดได้เลย หากมีคุณพ่อคุณแม่คอยปกป้องตลอดเวลา ถึงแม้การปกป้องลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะเป็นหน้าที่ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้ลูกไม่สามารถเรียนรู้วิธีจัดการกับความท้าทายได้ด้วยตนเอง ไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวปัญหาและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

4. อาจทำให้ลูกไม่รักตัวเอง

Micro-Parenting_web_4

พ่อแม่ที่ใส่ใจลูกมากเกินไปมักชอบเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น เพราะคิดว่าการใส่ใจและทุ่มเทให้ลูกอย่างเต็มที่ ย่อมทำให้ลูกประสบความสำเร็จ หรือทำทุกอย่างได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง และพยายามเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ซึ่งอาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอและสูญเสียความมั่นใจในตัวเองได้

5. ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง

Micro-Parenting_web_5

การใส่ใจและคาดหวังในตัวลูกมากเกินไป ส่งผลต่อความสัมพันธ์และความตึงเครียดในครอบครัว เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด และคุณพ่อคุณแม่อาจขัดแย้งกับลูกมากขึ้น

 

อ่านบทความ: พ่อแม่จู้จี้จุกจิก: ลูกไม่ชอบ พ่อแม่ก็ไม่สบายใจ เลิกอย่างไรดี?!
อ้างอิง
Nwtoturing
Connectedfamilies

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST