ภาวะมีโซโฟเนีย (Misophonia) หรือ ภาวะเกลียดเสียง คือการที่สมองส่วนที่เชื่อมระหว่างประสาทสัมผัสกับอารมณ์มีการตอบสนองไวกว่าปกติ
Dr. Hashir Aazh แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตวิทยา ประเทศอังกฤษ พบว่า ปัจจุบันมีอัตราการเกิดภาวะมีโซโฟเนียหรืออาการเกลียดเสียง ในเด็กสูงถึงร้อยละ 49 และพบมากในเด็กผู้หญิงตั้งแต่วัยเรียน หรือช่วงอายุ 7 ปีขึ้นไป โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติหรือการตอบสนองต่อเสียงที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยให้ความสนใจของลูกได้ตั้งแต่วัยเตาะแตะ เช่น ร้องไห้งอแงเมื่อได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารของคุณพ่อคุณแม่ เสียงกดปากกาซ้ำๆ หรือแม้กระทั่งเสียงลมหายใจ ซึ่งเสียงเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบ มีอารมณ์ฉุนเฉียว รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล และนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือกลัวการเข้าสังคมเมื่อโตขึ้นได้
ดังนั้น หากพบว่าลูกมีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะเกลียดเสียง ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต นอกจากการบำบัดรักษาทางการแพทย์แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการเยียวยาและช่วยลดอาการเกลียดเสียงให้ลูกด้วยการดูแลใกล้ชิด ก่อนที่ภาวะนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของลูกต่อไปในอนาคต
1. ทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่พร้อมอยู่เคียงข้างเสมอ
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจยังไม่ค่อยรู้จักหรือเข้าใจภาวะมีโซโฟเบียของลูกมากนัก จึงใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการตำหนิหรือบอกให้ลูกอดทนต่อเสียงนั้นๆ ลงโทษเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมเชิงลบ หรือพยายามพาลูกออกห่างจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนที่ทำให้เกิดปัญหา แต่การพยายามแยกลูกออกจากสังคมภายนอก นอกจากจะไม่สามารถช่วยลูกบำบัดอาการเกลียดเสียงได้ถึงต้นเหตุแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกถูกทอดทิ้ง และขาดความรัก ความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องพูดคุย และทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจปัญหาที่ลูกกำลังเผชิญ และจะพยายามช่วยให้ลูกผ่านอาการเหล่านี้ไปได้ โดยไม่รู้สึกแปลกแยกกับสังคมหรือคนในครอบครัว
2. สังเกตอารมณ์และความรู้สึกของลูกอยู่เสมอ
การเกิดภาวะมีโซโฟเนียในเด็กส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์เชิงลบที่ลูกมีต่อเสียงนั้นๆ เช่น ลูกเคยถูกคุณพ่อคุณแม่ทำโทษตอนเคี้ยวหมากฝรั่งเสียงดัง จนเกิดความกังวลทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเคี้ยวหมากฝรั่งของคนอื่น หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่มา เช่น ลูกรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อหยุดเสียงเคี้ยวอาหารให้ได้
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตการแสดงออกทางอารมณ์ของลูก ทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในอารมณ์ของตนเอง พูดคุยและช่วยกันปรับทัศนคติที่มีต่อเสียงกระตุ้นของลูกให้เป็นไปในเชิงบวก เช่น เมื่อลูกรู้ตัวว่าเริ่มหงุดหงิดเพราะเสียงที่ได้ยิน ลองหยิบหูฟังมาใส่แล้วเปิดเพลงฟังเบาๆ ลองเปลี่ยนตำแหน่งการนั่งของตัวเอง หรือเลี่ยงไปทำกิจกรรมอื่นสักพัก
และอย่าลืมให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเห็นว่าลูกกล้าบอกความรู้สึกของตัวเอง หรือพยายามเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อเสียงกระตุ้น โดยไม่แสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมาด้วยนะคะ
3. เผชิญหน้ากับเสียงกระตุ้นไปพร้อมกับลูก
แม้การเผชิญหน้ากับเสียงกระตุ้นอาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด แต่การฝึกฟังเสียงนั้นโดยมีคุณพ่อคุณแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชในการฝึก จะช่วยให้ลูกรู้สึกคุ้นเคย และสบายใจขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มฝึกให้ลูกฟังเสียงนั้นด้วยการจำลองสถานการณ์ หรือบันทึกเสียงเก็บไว้ และเปิดฟังไปพร้อมกัน โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตการตอบสนองของลูกแต่ละครั้ง
แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้เกียรติ เคารพการตัดสินใจ ไม่บังคับ หรือฝืนใจลูกเพื่อการฝึกอย่างหักโหมมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ลูกมีประสบการณ์เชิงลบกับเสียงกระตุ้นมากขึ้นไปอีก
4. พาลูกทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสียงเพลง
งานวิจัย พบว่าเสียงเพลงสามารถสร้างสมดุลในการทำงานของสมองให้เป็นปกติ แล้วยังช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้ นอกจากนี้การได้ฟังเสียงที่มีคุณภาพ ยังช่วยให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อเสียงต่างๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถใช้เสียงเพลงช่วยบำบัดภาวะมีโซโฟเนียของลูก เช่น ชวนลูกเล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นประกอบเพลง หรือหาเกมสนุกๆ ที่มีเสียงเพลงประกอบ เช่น เก้าอี้ดนตรี หรือเปิดเพลงคลอเบาๆ ในบ้าน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยกับเสียง และเกิดความรู้สึกดีต่อเสียงรอบตัวมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST