4 คอนเทนต์ ‘คุณพ่อสอนลูก’ ปี 2022 #MOMRecap2022

MOMRecap2022

แม้การเลี้ยงลูกที่ดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของคุณแม่เป็นหลัก แต่สำหรับครอบครัวรุ่นใหม่ คุณพ่อก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงลูกได้ไม่แพ้คุณแม่

เพื่อต้อนรับเทศกาลวันพ่ออย่างอบอุ่น วันนี้เราได้รวบรวม 4 คอนเทนต์ เกี่ยวกับคุณพ่อสอนลูกที่ได้รับความสนใจในปี 2022 มาฝากกันค่ะ

1. พ่อชอบสปอยล์ลูก: 4 สถานการณ์ที่คุณพ่อต้องยอมเป็นคนใจร้ายในสายตาลูก (บ้าง)

dadteachkids_1

ถ้าพูดถึงบทบาทในการเลี้ยงดูลูก แต่ละครอบครัวก็คงจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป

บางครอบครัว คุณแม่รับบทเป็นคนเข้มงวด ระเบียบต้องได้ วินัยต้องดี ส่วนคุณพ่อก็รับบทคนใจดี เป็น พ่อชอบสปอยล์ลูก หรือบางครอบครัวก็กลับกันเป็นคุณพ่อสายโหด แต่มีคุณแม่คอยเปิดโหมดโอ๋และตามใจลูก ทั้งนี้ครอบครัวไหน ใครจะรับบทบาทไหนในการเลี้ยงดูลูก ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงหรือจะปล่อยให้เป็นไปเองโดยธรรมชาติก็ไม่ผิดนัก

แต่จากงานวิจัยของ Dr. David Bredehoft ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Concordia University) พบว่า ความจริงแล้ว คุณพ่อมีแนวโน้มที่จะเป็นคนตามใจลูกมากกว่าคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อที่มีลูกสาว และในบางสถานการณ์การ คุณพ่ออาจตามใจลูกมากเกินไปจนส่งผลเสียต่ออุปนิสัย และการใช้ชีวิตประจำวันของลูกได้

เราจึงรวบรวม 5 สถานการณ์ที่ไม่ว่าคุณพ่ออยากจะตามใจลูกมากแค่ไหน ก็ต้องลองสวมบทเป็นคนใจร้าย เลิกตามใจ และไม่สปอยล์ลูก เพื่อฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยและเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพมาฝากค่ะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

2. ลูกเล่นกับพ่อ: 4 ผลลัพธ์ดีๆ เมื่อคุณพ่อเล่นกับลูกบ่อยๆ

dadteachkids_2

ตอนลูกยังเล็ก คุณพ่อหลายคนคงเคยนึกน้อยใจที่ลูกรักดูเหมือนจะไม่ค่อยให้ความไว้วางใจในตัวคุณพ่อ เพราะนอกจากจะชอบเกาะติดคุณแม่ ร้องเรียกแต่คุณแม่ แล้วลูกยังดูเหมือนจะชอบเล่นกับคุณแม่มากกว่า การปล่อยให้ ลูกเล่นกับพ่อ เหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก

แต่พอเริ่มเข้าสู่วัยอนุบาล ลูกก็จะเริ่มมีรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไป จากที่ชอบชวนคุณแม่เล่นเป็นประจำ ก็เริ่มชอบเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เล่นของเล่นคนเดียว และเริ่มสนุกกับการได้เล่นกับคุณพ่อมากเป็นพิเศษ

นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณพ่อและลูกน้อย เพราะการได้เล่นกับลูก ได้พูดคุยและหัวเราะไปพร้อมกับลูก จะช่วยให้สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อลูกใกล้ชิดและแนบแน่นยิ่งขึ้น

องค์การยูนิเซฟอธิบายว่า การให้ ลูกเล่นกับพ่อ เป็นกลยุทธ์สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะการเล่นกับพ่อเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีการโต้ตอบ ทำซ้ำ และการมีส่วนร่วมในทุกด้าน รวมถึงกิจกรรมที่ลูกเล่นกับพ่อจะช่วยพัฒนาทักษะรอบด้าน ทั้งในทางกายภาพ อารมณ์ จิตใจ สังคม และทักษะชีวิตให้กับลูกได้

ตรงกับการรวบรวมข้อมูลของ Mary Beth Nierengarten นักเขียนบทความทางการแพทย์ ได้กล่าวไว้ในบทความ Fathers’ influence on development and well-being of children (อิทธิพลของพ่อที่มีต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของลูก) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Contemporary Pediatrics Journal ระบุว่า คุณพ่อที่เล่นและมีส่วนร่วมเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงลูกช่วงปฐมวัย มีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางจิตใจและการเข้าสังคมที่ดี และยังส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงบวกในทุกช่วงอายุได้

หากคุณพ่อยังไม่แน่ใจว่า การเล่นกับลูกจะส่งผลได้มากแค่ไหน นี่คือ 4 ผลลัพธ์ฉบับรวบรัด ที่จะทำให้คุณพ่ออยากรีบกลับบ้านมาเล่นกับลูกมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

3. ลูกไม่เอาพ่อ: อยากให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูก แต่ติดที่ลูกไม่ยอม ทำไงดี

dadteachkids_3

แม่ๆ ทุกคนย่อมอยากให้คุณพ่อสามารถเป็นมือวางอันดับสองที่ไว้ใจให้ช่วยเลี้ยงดูลูกแทนในช่วงเวลาที่ตัวเองต้องทำหน้าที่การงานอย่างอื่น แต่ไม่ว่าคุณพ่อจะยินดีและเต็มใจแค่ไหน ปัญหาที่ทำให้แม่ๆ ต้องปวดหัวก็คือลูกไม่ยอม! หรือที่แม่ๆ มักจะบ่นว่า ลูกไม่เอาพ่อ เลยนั่นเอง

Vanessa Lapointe นักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็กและครอบครัวแห่งเซาท์เซอร์รีย์ ประเทศแคนาดา อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กปฐมวัยจะมอบความรักและโลกทั้งใบของตัวเองได้ทีละหนึ่งความสัมพันธ์เท่านั้น ดังนั้นหากลูกอยู่กับคุณแม่มาตลอดทั้งวัน เมื่อคุณพ่อกลับมา ลูกจึงไม่สามารถโฟกัสที่พ่อและแม่พร้อมกันได้ เด็กส่วนใหญ่จึงยังคงให้ความสนใจคุณแม่เพียงคนเดียว ในขณะที่บางคนก็จะเปลี่ยนความสนใจเป็นวิ่งเข้าหาคุณพ่อทันทีเช่นกัน

อีกมุมหนึ่ง Dr. Tovah P. Klein นักจิตวิทยาเด็กและผู้อำนวยการ Barnard Center for Toddler Development อธิบายเพิ่มเติมว่า การลูกติดแม่ แต่ไม่ติดพ่อ คือการที่ลูกกำลังพยายามควบคุมโลกของตัวเอง เพื่อแสดงออกว่าต้องการใคร หรือไม่ต้องการใคร และเมื่อไหร่ที่ต้องการคนนี้มากกว่าคนนั้น

แต่สิ่งสำคัญที่ ดร.ไคน์ เน้นย้ำก็คือ คนที่ลูกไม่ต้องการในเวลานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเสียใจที่ถูกลูกรักปฏิเสธ และยังยืนยันว่า การที่ลูกแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากให้คุณพ่อเป็นคนดูแล อีกนัยหนึ่ง เป็นเพราะลูกรู้สึกเชื่อมั่นว่าอย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะเป็นคนที่รักและต้องการเขาเสมอ

ดังนั้นเพื่อเยียวยาหัวใจของคุณพ่อ และช่วยบรรเทาความเหนื่อยให้คุณแม่ได้ การหาวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อควรศึกษาและกลวิธีเอาชนะใจลูกติดตัวไว้ใช้เหมือนกันนะคะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

4. ใครว่าอย่าปล่อยลูกไว้กับพ่อ: 5 ข้อดีเมื่อปล่อยให้คุณพ่อเลี้ยงลูกเอง (บ้าง)

dadteachkids_4

ทำไมถึงมีคำกล่าวที่ว่า อย่าปล่อยลูกไว้กับพ่อ เกิดขึ้น คงเพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลี้ยงลูกคือหน้าที่รับผิดชอบที่มักจะตกเป็นของคุณแม่ทันทีที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ส่วนคุณพ่อ ยิ่งลูกเล็กมากเท่าไร ก็ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าคอยให้กำลังใจ เป็นลูกมือช่วยหยิบจับและอำนวยความสะดวกให้คุณแม่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณพ่อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกตามลำพังโดยไม่มีคุณแม่คอยควบคุมอยู่ใกล้ๆ และนั่นอาจเป็นที่มาของแฮชแท็ก อย่าปล่อยลูกไว้กับพ่อ ในโซเชียลฯ ที่แม่ๆ หลายคนเห็นแล้วคงทั้งขำและสงสาร (ทั้งพ่อทั้งลูก) ในเวลาเดียวกัน

แต่ถึงอย่างนั้น งานวิจัยของ Richard A. Warshak นักจิตวิทยาและการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า เด็กวัยก่อนเรียนกับคุณพ่อควรใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่ได้ใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อจะมีผลการเรียนดีขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีความเครียดน้อยลง

ดังนั้น ถ้ามองข้ามเรื่องความชำนาญในการเลี้ยงลูกไป การหาโอกาสปล่อยให้คุณพ่อลองเลี้ยงลูกตามลำพังดูบ้าง ก็มีข้อดีมากพอที่คุณแม่จะใช้เป็นข้ออ้าง เอ๊ย! เหตุผลในการฝากลูกไว้กับพ่อได้อย่างสบายใจแล้วล่ะค่ะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST