READING

รวม 6 คอนเทนต์ หมวด ‘ดูแลสุขภาพจิตลูก’...

รวม 6 คอนเทนต์ หมวด ‘ดูแลสุขภาพจิตลูก’ ปี 2022 #MOMRecap2022

ดูแลสุขภาพจิตลูก

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมคาดหวังให้ลูกมีสุขภาพกายที่ดี จึงพยายามดูแลและปกป้องลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภายกายที่ดี นั่นก็คือสุขภาพจิตที่ดี เพราะการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงจะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันเด็กไทยมีความเครียดสูง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมา ภายในปี 2022 เราได้เห็นข่าวเด็กและเยาวชนฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กดดัน ทำให้เด็กไม่สามารถรับมือกับความเครียดและจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้

วันนี้เราจึงรวบรวมคอนเทนต์ในหมวด ดูแลสุขภาพจิตลูก มาฝากคุณพ่อคุณแม่เผื่อที่จะนำไปปรับใช้ รวมถึงตั้งข้อสังเกตกับตัวเองว่าเรากำลังทำลายสุขภาพจิตของลูกอยู่หรือเปล่า

1. เราเป็นพ่อแม่ที่กำลังผลิต ‘เด็กเก็บกด’ ภัยเงียบที่ยากเกินคาดเดา อยู่หรือเปล่า?

mentalhealth_1

จากเหตุการณ์น่าสะเทือนจิตใจทั้งคนเป็นลูกและคนเป็นแม่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ (ที่มา) สิ่งหนึ่งที่เด็กหญิงในวัย 14 ปีสะท้อนออกมาหลังจากเป็นคนสำคัญที่ตัดสินใจทำเรื่องเลวร้ายให้เกิดขึ้น ก็คือ ‘ความเก็บกด ที่กลายเป็นโกรธแค้นที่เงียบที่สุด’ ตามข่าว เด็กหญิงให้เหตุผลว่าเป็นเพราะถูกแม่ดุด่ามาตั้งแต่เล็ก หลายครั้งที่ต้องการกำลังใจ แต่กลับได้คำซ้ำเดิม ทั้งกดดัน ทั้งเคียดแค้นที่ถูกปฏิเสธความรักจากแม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ท้ายสุดก็มีตัวกระตุ้น จนระเบิดออกมาอย่างรุนแรง กระทั่งจบลงด้วยความสูญเสีย

การเก็บกด (repression) เป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกการป้องกันตนเอง จากความทรงจำที่ไม่ดี หรืออารมณ์ที่ต้องอดทน อดกลั้น คับข้องใจ เป็นระยะเวลานาน แล้วพยายามเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งที่เก็บไว้ไม่ไหว จากความรู้สึกที่อยู่ในใจก็เริ่มกลายเป็นพฤติกรรม เช่น มองโลกในแง่ร้าย และแสดงออกผ่านบุคลิกภาพ ท้ายที่สุด ความเก็บกดอาจกลายเป็นความโกรธแค้น และรุนแรงมากพอที่จะทำให้โศกนาฏกรรมได้

ความเก็บกดที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ย่อมมีการเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้ปกครองเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น พ่อแม่อย่างเราคงต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเด็กคนหนึ่งให้กลายเป็นเด็กเก็บกดต่อไปหรือไม่

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

2. วิธีกอบกู้ตัวตนเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง

mentalhealth_2

วัยอนุบาลเป็นช่วงเวลาที่ลูกได้เป็นเด็กน้อยอย่างเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นความสดใส รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความแสบซนให้อยู่เสมอ แต่หากวันหนึ่งลูกเริ่มหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ไปโรงเรียน เริ่มไม่อยากเจอเพื่อนบางคน มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ร้องไห้บ่อย และไม่สดใสเหมือนเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังถูกกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นงทางร่างกายหรือจิตใจได้

Tony Volk รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเด็กและเยาวชนมหาวิทยาลัยบร็อก ประเทศแคนาดา ได้ระบุว่า เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งซ้ำๆ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเด็กที่คิดในแง่ลบ ตำหนิตัวเอง และสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปในที่สุด

สอดคล้องกับที่นักจิตวิทยาเด็ก Joanne Cummings ผู้อำนวยการฝ่ายการระดมความรู้ที่ PREVNet เครือข่ายส่งเสริมความสัมพันธ์และการขจัดความรุนแรงระหว่างบุคคลและเยาวชน ประเทศแคนาดา ระบุว่า เด็กที่ถูกรังแกบ่อยๆ มักจะมีเพื่อนใหม่หรือทำกิจกรรมใหม่ๆ น้อยลง ส่งผลให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลได้ในอนาคต

เห็นผลเสียของการปล่อยให้ลูกถูกกลั่นแกล้งอย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่จะช่วยกู้หัวใจดวงน้อยของลูกให้กลับมาแข็งแรงและเติบโตต่อไปอย่างดีได้อีกครั้ง ด้วยวิธีต่อไปนี้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

3. เด็กฆ่าตัวตาย: ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้

mentalhealth_3

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหา เด็กฆ่าตัวตาย เริ่มปรากฏให้เห็นตามสื่อมากขึ้นตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2560-2564 พบว่า คนไทยในช่วงวัย 15-34 ปี มีอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่เมื่อมองที่กลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนอายุ 15-24 ปี พบว่า ปี 2563 คนกลุ่มนี้มีการฆ่าตัวตายถึง 428 คน และปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 439 คน (ที่มา)

และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา เด็กฆ่าตัวตาย ก็คืออาการของ โรคซึมเศร้า ที่เกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมักไม่ได้รับความเข้าใจและการเยียวยารักษาอย่างถูกต้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่ พ่อแม่ และผู้ปกครองมักจะมองข้ามปัญหาที่เด็กๆ กำลังเผชิญ ด้วยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องที่มีสาระสำคัญมากพอที่จะรับฟังหรือให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

4. ภาวะเครียดในเด็ก: 4 สาเหตุที่อาจทำให้ลูกวัยซนเกิดความเครียด

mentalhealth_4

ภาวะเครียด สามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ตั้งแต่วัยหัดเดิน หรือเด็กในช่วงอายุ 1-3 ปี ขึ้นไป โดยความเครียด นอกจากจะส่งผลกับอารมณ์และจิตใจ แล้วยังเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก ทำให้ลูกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้อีกด้วย

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า ภาวะเครียดในเด็ก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายใน เช่น สารเคมีในสมอง หรือกระบวนการคิด ซึ่งจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น สภาวะกดดันจากคุณพ่อคุณแม่ กิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพอากาศ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แต่โดยปกติแล้ว เมื่อเกิด ภาวะเครียดในเด็ก เด็กมักจะไม่สามารถแสดงออก หรือระบายความเครียดออกมาได้ดีนัก จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของลูกอย่างใกล้ชิด และเรียนรู้ 4 สาเหตุที่อาจทำให้ลูกวัยซนเกิดความเครียด เพื่อหาทางป้องกันต่อไปค่ะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

5. ลูกไม่มีความสุข: 4 แนวคิดของพ่อแม่ที่อาจทำลายความสุขของลูก โดยไม่รู้ตัว

mentalhealth_5

ไม่ใช่แค่การเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่การเลี้ยงดูและดูแลให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข ก็ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน

แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วิธีการเลี้ยงดูและความเข้มงวดในแนวคิดบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจหรือคิดว่าดีสำหรับลูก อาจกำลังทำให้ ลูกไม่มีความสุข โดยไม่รู้ตัวได้

Amy Morin นักจิตวิทยาและอาจารย์สอนจิตวิทยาแห่ง Northeastern University กล่าวว่า การกระทำ คำพูด ทัศนคติ รวมไปถึงความเชื่อที่พ่อแม่มีต่อสิ่งต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและการใช้ชีวิตของลูก

ดังนั้น ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความหวังดี แต่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทบทวนและเฝ้าระวังการปลูกฝังแนวคิดและความเชื่อที่ตัวเองคิดว่าดี ว่ากำลังกลายเป็นการคาดหวัง กดดัน และตีกรอบ จนทำให้ ลูกไม่มีความสุข ใช่หรือเปล่า…

เราจึงรวบรวมตัวอย่างแนวคิดของคุณพ่อคุณแม่ ที่อาจมีส่วนในการทำลายความสุขของลูกโดยไม่รู้ตัว มาย้ำเตือนคุณพ่อคุณแม่ทบทวนกันดูค่ะ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

6. ช่วยลูกผ่านเรื่องเลวร้าย: 4 เทคนิคเยียวยาจิตใจลูก

mentalhealth_6

พ่อแม่อย่างเรา นอกจากจะต้องดูแลให้ลูกปลอดภัยทางสุขภาพร่างกายแล้ว สุขภาพจิตใจของลูกก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนจะต้องดูแล ปกป้อง และเยียวยารักษา ช่วยลูกผ่านเรื่องเลวร้าย ในชีวิตตัวเองได้

เพราะในชีวิตจริง ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามทะนุถนอมดูแลลูกอย่างดีแค่ไหน แต่การที่ลูกเติบโตมีสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กว้างขึ้น ย่อมมีโอกาสที่ลูกจะพบเจอเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไป เช่น เช่น ลูกถูกเพื่อนแกล้ง ถูกคุณครูทำโทษ ไปจนถึงเรื่องที่สามารถเป็นบาดแผลในจิตใจลูกได้

และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่อาจปกป้องลูกจากเหตุการณ์ไม่ดีหรือเรื่องเลวร้ายในชีวิตได้ทุกครั้ง สิ่งที่ควรทำก็คือการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือและคอยเยียวยาจิตใจ ช่วยลูกผ่านเรื่องเลวร้าย เพื่อฟื้นคืนสภาพจิตใจลูกให้กลับมาเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีความมั่นคงทางจิตใจได้อีกครั้ง

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST