READING

โรคฝีดาษลิง อาการเป็นอย่างไร วิธีการรักษา?!...

โรคฝีดาษลิง อาการเป็นอย่างไร วิธีการรักษา?!

โรคฝีดาษลิง

ขณะที่โรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่พวกเราคุ้นเคยและเตรียมตัวเตรียมใจที่จะอยู่ร่วมกันมันได้อย่างปกติ จู่ๆ โลกก็เกิดการระบาดของ ‘โรคฝีดาษลิง’ ตามมาติดๆ

แม้สถานการณ์ล่าสุด (วันที่ 6 มิถุนายน 2565) โรคฝีดาษลิง ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ทุกคน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลใจ เพราะนอกจากจะเป็นโรคติดต่อที่แพร่จากสัตว์สู่คน และยังสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยมักพบอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

โรคฝีดาษลิง คืออะไร อาการจะเป็นอย่างไร มีวิธีการรักษาหรือเปล่า วันนี้เราได้ทำสรุปในแบบฉบับเข้าใจง่ายมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

โรคฝีดาษลิงคืออะไร

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่เคยพบการระบาดทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยช่วงก่อนปี 2523

ตั้งแต่ปี 2523 โรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว แต่โรค Monkeypox ยังคงเกิดขึ้นประปรายในบางพื้นที่ของทวีปอาฟริกา

การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง

เชื้อไวรัส Othopoxvirus ที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก กระต่าย หนูป่า

การถ่ายทอดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน

• สัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ

• ถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคกัดหรือข่วน

• กินอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อโรค ด้วยการปรุงสุกไม่เพียงพอ

 

การถ่ายทอดเชื้อโรคจากคนสู่คน

• สัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อฝีดาษลิงผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ผิวหนังที่เป็นตุ่มหนอง หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

อาการและการรักษาโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ โดยจะมีลักษณะอาการ ดังนี้

ระยะก่อนออกผื่น (Invasion Phase)

• มีไข้ หนาวสั่น

• ปวดหัว

• เจ็บคอ

• อ่อนเพลีย

• ท้องเสีย

• อาเจียน

 

ระยะออกผื่น (Skin Eruption Phase)

• หลังจากมีไข้ 1-3 วัน จะเริ่มมีตุ่มผื่นขึ้น โดยจะเริ่มจากรอยจุดแดงๆ เป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง

• ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากใบหน้าและกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ทั่วร่างกาย

• ตุ่มผื่นจะกลายเป็นสะเก็ดแห้ง และหลุดออกมาภายใน 2-4 สัปดาห์

• หลังตุ่มหนองแห้งสนิท ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคนี้เองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ และมีโอกาสเสียชีวิตได้  1-10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในกลุ่มเด็กเล็ก

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ

• หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ

• ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ

• กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้) ภายใน 14 วัน

วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ

สามารถป้องกัน โรคฝีดาษลิง ได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากโรคไข้ทรพิษถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี 2523 จึงไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้มานับแต่นั้น

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนที่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้นั้น องค์การเภสัชกรรมมีการเก็บแช่แข็งไว้กว่า 40 ปี เมื่อมีโรคฝีดาษลิงกลับมาแพร่ระบาด จึงทำการส่งวัคซีนแช่แข็งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำไปเพาะเชื้อแล้วพบว่าสามารถเพาะเชื้อได้ แปลว่าวัคซีนน่าจะยังมีประสิทธิภาพ (ที่มา)

อ้างอิง
paolohospital
phyathai
sikarin
mgronline

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST