READING

ลูกชอบกัดเล็บ: 5 เคล็ด (ไม่) ลับปรับพฤติกรรมลูกก่อ...

ลูกชอบกัดเล็บ: 5 เคล็ด (ไม่) ลับปรับพฤติกรรมลูกก่อนติดเป็นนิสัย

ลูกชอบกัดเล็บ

ปัญหา ลูกชอบกัดเล็บ ถือเป็นอีกหนึ่งข้อกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งเป็นห่วงเรื่องเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายลูกและยังไม่ดีต่อบุคลิกภาพ ซึ่งไม่ว่าจะพยายามหยุดพฤติกรรมกัดเล็บของลูกอย่างไร ก็ได้ผลเพียงชั่วคราว สุดท้ายลูกก็กลับมากัดเล็บเหมือนเดิมอีก

เด็กในช่วงวัย 2-3 ปี เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตัวเอง เช่น หัดวิ่ง หัดพูดและแต่งประโยคง่ายๆ นอกจากนั้นยังเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางความคิดและเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่อย่างเราจึงต้องเรียนรู้ว่า การจะห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรด้วยวิธีตำหนิ ต่อว่า ปัดมือลูกออก หรือใช้ความรุนแรง เพื่อหยุดพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการ อาจไม่ได้ผลดีในระยะยาว แต่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจถึงที่มาของพฤติกรรมนั้น เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และมาเรียนรู้ 5 เคล็ด (ไม่) ลับที่จะช่วยปรับพฤติกรรมชอบกัดเล็บ ไม่ให้ติดเป็นนิสัยไปด้วยกันค่ะ

ทำไม ลูกชอบกัดเล็บ

bitingnails_web_1

สาเหตุการกัดเล็บของเด็กวัยเตาะแตะมีหลากหลายทฤษฎี โดยนักวิจัยส่วนใหญ่มองว่าการกัดเล็บในเด็กเกิดจากการทำพฤติกรรมนี้ซ้ำๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน และบางครั้งพวกเขาก็ไม่รู้ตัว แต่การกัดเล็บสามารถบ่งบอกความคิดหลายอย่างในหัวของลูกน้อย เช่น ความเบื่อหน่าย เมื่อรู้สึกว่าไม่มีอะไรทำ จึงเริ่มกัดเล็บ

นอกจากนี้ Kimberly Montez ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวคฟอเรสต์ (Wake Forest University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวถึงสาเหตุการกัดเล็บของเด็กวัยเตาะแตะว่าเกิดจากความวิตกกังวลและภาวะกระสับกระส่าย (agitation) ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกเกิดความไม่สบายทางกาย หรือทางอารมณ์ จึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นการดูดนิ้ว หรือการกัดเล็บนั่นเอง

5 วิธีหยุดพฤติกรรม ลูกชอบกัดเล็บ

1. หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำรุนแรง

bitingnails_web_2

เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการช่วยลูกปรับพฤติกรรมลูกชอบกัดเล็บ อย่างที่กล่าวไว้ว่าเด็กวัย 2-3 ปี จะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถรับรู้ความรู้สึกและยึดมั่นในความต้องการของตัวเอง ดังนั้นการใช้ถ้อยคำรุนแรงเมื่อต้องการให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไร จะยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมต่อต้าน แทนที่จะเชื่อฟังอาจกลายเป็นทำให้ลูกยิ่งแสดงพฤติกรรมนั้นต่อไปเรื่อยๆ

2. อธิบายถึงผลเสียของการกัดเล็บให้ลูกเข้าใจ

bitingnails_web_3

การพูดคุยด้วยเหตุผลถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทุกปัญหา แม้ว่าลูกจะอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับเหตุผลที่ซับซ้อนได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ง่าย ๆ หรือบอกถึงผลเสียของการกัดเล็บให้พวกเขาเข้าใจได้ เช่น การกัดเล็บทำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ และเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้ลูกปวดท้องและไม่สบายได้  หรือการกัดเล็บทำให้ฟันผิดรูป เมื่อลูกเข้าใจว่าการกัดเล็บไม่ดีต่อตัวเอง ก็จะสามารถหักห้ามใจได้ดีขึ้น

3. ตัดเล็บลูกให้สั้น

bitingnails_web_4

เล็บที่ยาวจะยิ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเอาไว้ การคอยตัดเล็บลูกให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยไม่ให้ลูกกัดเล็บตัวเองได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่เล็บจะเก็บสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเอาไว้อีกด้วย

bitingnails_web_5

ความเบื่อหน่ายจากการไม่มีอะไรทำหรือต้องรอคอยอะไรนานๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมกัดเล็บ ดังนั้นเราจึงควรหากิจกรรมให้ลูกทำ เช่น ระบายสี เล่นเกม หรือต่อจิ๊กซอว์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูกจากการกัดเล็บ และยังเป็นการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการ และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย

5. ให้รางวัลพฤติกรรมเชิงบวก

bitingnails_web_6

สุดท้าย คือการสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมหรือของเล่นที่ลูกชอบ ซึ่งลูกจะได้รับต่อเมื่อวันนั้นลูกสามารถหักห้ามใจที่จะไม่กัดเล็บได้ หรืออาจเป็นการสะสมสติกเกอร์ในแต่ละวัน แล้วนำมาแลกของรางวัล เมื่อครบสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน

แม้การกัดเล็บของลูกจะสร้างความคับข้องใจให้กับคุณพ่อคุณแม่บ้างในบางครั้ง แต่ถ้าหากเราเข้าใจถึงสาเหตุ และรู้วิธีการรับมือกับพฤติกรรมนี้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถช่วยลูกหยุดพฤติกรรมการกัดเล็บให้ไม่ติดเป็นนิสัย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกรักตามแบบฉบับคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ที่เข้าใจลูกได้

อ้างอิง
healthline
theAsianparent
Parents
บทความพิเศษ การดูแลรักษาตามอาการแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะ agitation

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST