วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ และรับรู้ข่าวสารต่างๆ เทคโนโลยีจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รู้ตัวอีกที เราก็ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอของอุปกรณ์ต่างๆ ไปเป็นชั่วโมง และหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้ไม่เหลือเวลาสำหรับการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือมีเวลาสัมผัสกับธรรมชาติน้อยลง
โดยเฉพาะเด็กๆ หลายคนเติบโตในช่วงปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วัยที่ควรจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย กลับกลายเป็นวัยที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน
‘โรคขาดธรรมชาติ’ อาจเป็นชื่อโรคที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนได้ยินแล้วรู้สึก เอ๊ะ… มีแบบนี้ด้วยเหรอ อาจเพราะเป็นอาการที่เหมือนจะถูกคิดไปเองและนิยามไปเอง แต่ความจริงแล้วโรคนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเรามากขึ้นในอนาคต
โรคขาดธรรมชาติ คืออะไร!?
โรคขาดธรรมชาติ Nature Deficit Disorder (NDD) มีการพูดถึงครั้งแรกในปี ค.ศ.2005 Richard Louv นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ The Nature Principle และ Last Child in the Woods กล่าวไว้ว่า เด็กที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้านหรือห้องเรียนให้ได้สัมผัสจับต้องกับธรรมชาติอย่าง ต้นไม้ ดินหญ้า ลำธารหรือสวนสาธารณะ แต่ใช้เวลาอยู่แต่กับการเล่นมือถือ เกม คอมพิวเตอร์ หรือเรียนพิเศษจนหมดวัน จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง และคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น
และถึงแม้ว่าโรคขาดธรรมชาตินี้จะยังไม่ได้มีการระบุทางการแพทย์ว่าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชเด็ก แต่ก็เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการที่คนเราใช้เวลาอยู่กลางแจ้งน้อยลง จะส่งผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กๆ ได้ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานๆ บางคนก็มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมต่อไป
สาเหตุของอาการขาดธรรมชาติ
ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยได้พาลูกออกไปใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ยอมให้ลูกได้ลองสัมผัสหรือเล่นสนุกกับธรรมชาติรอบตัว อาจเพราะความเป็นห่วงและกังวลว่าลูกจะเกิดอันตราย หรือไม่อยากให้ลูกเล่นซนมากเกินไปก็ตาม อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ เช่น บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อยากทำภารกิจตรงหน้าให้เสร็จ และไม่อยากให้ลูกเข้ามาก่อกวน จึงจำเป็นต้องใช้สมาร์ตโฟน แท็ปเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มาเบี่ยงเบนความสนใจลูก และก็มักจะได้ผล เพราะเด็กๆ ก็จะสนุกกับสิ่งที่อยู่ในหน้าจอและลืมนีกถึงการออกมาวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมที่ได้สัมผัสธรรมชาติได้น้อยลง
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่กดดันให้ลูกเรียนหนักมากเกินไป ทำให้ลูกคร่ำเคร่งอยู่กับการเรียน จนไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นอีกด้วย
วิธีป้องกันลูกให้ห่างไกลจากภาวะขาดธรรมชาติ
ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกใช้หน้าจอและกำหนดเวลาในการใช้: ไม่ปฏิเสธเลยว่าสมาร์ตโฟนและการหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตก็มีประโยชน์และช่วยในการเรียนรู้ของลูก แต่ก็ส่งผลเสียต่อการมีพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่จำเป็น คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยงการให้ลูกใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ โดยคำนึงถึงวัยที่เหมาะสมเป็นสำคัญ และหากจำเป็นควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
พาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน: หากคุณพ่อคุณแม่มีโอกาสควรพาลูกออกไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ และปล่อยให้ลูกได้เล่นเลอะเทอะบ้าง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้ลูกได้มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วยค่ะ
คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีทีสุดให้กับลูก: เพราะเด็กๆ มักเรียนรู้จากการเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นควรสร้างเวลาคุณภาพให้กับครอบครัว ไม่ใช้หน้าจอตอนอยู่กับลูกจะดีที่สุดค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST