READING

รับมือคอมเมนต์เชิงลบ : สอนลูกแยกแยะ Negative Comme...

รับมือคอมเมนต์เชิงลบ : สอนลูกแยกแยะ Negative Comment อันไหนมีประโยชน์หรือไม่มี

รับมือคอมเมนต์เชิงลบ

ในยุคโซเชียลมีเดียที่เปิดกว้างให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ หากลูกเติบโตและใช้งานโซเชียลมีเดียด้วยตัวเอง โดยไม่ได้รับการแนะนำเรื่องมารยาทหรือวิธีแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต ลูกก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนที่สร้างความไม่สบายใจให้คนอื่นได้

ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถ รับมือคอมเมนต์เชิงลบ หรือ Negative Comment ที่พบได้ง่ายในโซเชียลมีเดียและชีวิตจริง ไม่ให้ลูกรับเอาคำวิจารณ์ที่ทำร้ายจิตใจมาสร้างบาดแผลและปมในจิตใจต่อไป

ช่วง 10 ปีแรกของเด็ก เป็นช่วงวัยที่ลูกต้องใช้ความมั่นใจในตัวเองเพื่อพัฒนาตัวตนและทักษะที่สำคัญในชีวิต หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เตรียมให้ลูกรับมือคอมเมนต์เชิงลบ และแยกแยะคอมเมนต์ที่มีประโยชน์กับการแสดงความคิดเห็นเชิงลบที่ไม่มีประโยชน์และควรเพิกเฉย ก็อาจทำให้ลูกยิ่งสูญเสียความมั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น และไม่กล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ได้

ดังนั้น การสอนลูกให้รู้จักแยกแยะความคิดเห็นที่มีประโยชน์กับความคิดเห็นเชิงลบที่ไม่ควรใส่ใจจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญสำหรับเด็กเจนฯ นี้เป็นอย่างยิ่งค่ะ

1. ปูพื้นฐานให้แข็งแกร่ง ก่อนเจอเหตุการณ์จริง

NegativeComment_web_1

สิ่งสำคัญที่สุดคือการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า เมื่อลูกเติบโตขึ้น คนในสังคมจะไม่ได้มีแต่คำชื่นชมให้กันเท่านั้น ยังมีการตำหนิติเตียนทั้งจากผู้ที่หวังดี และการพูดแสดงความคิดเห็นเชิงลบ เพื่อทำลายความมั่นใจของลูกได้

ดังนั้น ลูกต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ลูกไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกความเห็น แต่สามารถเลือกที่จะรับฟัง และนำมาทำตามแค่ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เท่านั้น

2. คำวิจารณ์ที่มีประโยชน์มักมีเหตุผลสนับสนุนเสมอ

NegativeComment_web_2

ความแตกต่างระหว่างคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์กับคำวิจารณ์ที่ไม่ควรให้ค่าก็คือ การให้เหตุผลและแนวทางการแก้ไข คุณพ่อคุณแม่อาจยกตัวอย่างประโยคการติเตียนให้ลูกได้ลองแยกแยะ และเปิดโอกาสให้ลูกลองเป็นฝ่ายแสดงความคิดเห็น เพื่อทดสอบความเข้าใจของตัวเองด้วย

ตัวอย่างคำวิจารณ์ที่มาพร้อมแนวทางการแก้ไข

• มันดีมากเลยที่หนูเป็นเด็กกล้าพูดกล้าแสดงออก แต่ถ้าลูกลองพูดจามีหางเสียงอีกหน่อย จะยิ่งน่ารักมากๆ เลยล่ะ

• การแกล้งเพื่อนเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเลย ถ้าลูกอยากมีเพื่อนหรือเป็นที่รักของเพื่อนๆ ลองพูดชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันดีๆ ดูสิ

ตัวอย่างคำวิจารณ์ที่ไม่บอกเหตุผลและแนวทางแก้ไข

• พูดจาแบบนี้ ใครจะไปรัก

• ทำตัวอย่างนี้ึคงไม่มีใครเล่นด้วยหรอก

3. การติเรื่องรูปร่างหน้าตาจัดเป็นการติเพื่อทำลาย

NegativeComment_web_3

ปัจจุบัน คนส่วนมากให้ความสำคัญกับการยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเพิกเฉยต่อการแสดงความคิดเห็นประเภทวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ รูปร่างหน้าตา หรือรูปลักษณ์ภายนอกของลูก เพราะเป็นความเห็นที่จะทำลายความมั่นใจและลดทอนความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) ของลูกได้

4. อย่าให้น้ำหนักกับคอมเมนต์หยาบคาย

NegativeComment_web_4

การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือคำพูดที่สื่อถึงอารมณ์รุนแรง จัดเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน ลูกจึงไม่จำเป็นจะต้องให้ค่ากับคำพูดเหล่านั้น และที่สำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักจัดการอารมณ์ และไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์รุนแรง หรือคำหยาบคายกลับเช่นกัน

 

—อ่านบทความ: 5 สัญญาณเตือนว่าลูกของคุณกำลังติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว!
อ้างอิง
Childmind
Linkedin
Theselclassroom

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST