READING

4 วิธีรับมือกับเด็กช่างต่อรอง...

4 วิธีรับมือกับเด็กช่างต่อรอง

เด็กช่างต่อรอง

เมื่อเจ้าตัวเล็กเข้าสู่วัยอนุบาล จากเด็กน้อยหัดพูด ก็พัฒนาเป็นเด็กช่างเจรจา คุยเก่ง ซักถามเก่ง และมาพร้อมกับการเริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ไม่เชื่อฟังอะไรง่ายๆ และกลายเป็น เด็กช่างต่อรอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตามคำแนะนำของ Scott Brown ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้ง แนะนำว่า สิ่งที่ดีที่สุดของการเจรจาก็คือ การใช้ทัศนคติที่ดีเข้าสู้ และเรียนรู้ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างสันติ รับรู้ว่าการเจรจาต่อรอง คือ การต่อรอง ไม่ใช่การยอมแพ้ พยายามหาจุดกึ่งกลาง win-win ให้กับเราและลูกอย่างมีเหตุผล ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องนิ่งและหนักแน่นให้มากพอ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงรู้สึกว่ากำลังต่อสู้อยู่กับ ‘ทนายความตัวน้อย’ อยู่ทุกวัน ต่อจากนี้คือ เคล็ดลับพิชิต เด็กช่างต่อรอง แบบเชิงบวก ด้วยการฟัง (ลูก) บอก (เหตุผล) เสนอ (ทางเลือก) และยืนยัน (คำตอบ)

1. เปิดใจรับฟังมุมมองของลูก

negotiating_web_1

#ฟังลูกก่อน เมื่อลูกเริ่มหาเหตุผลสารพัดมาต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ สิ่งแรกที่ควรทำให้ก็คือ การทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และพร้อมพูดคุยกับลูกได้ทุกเรื่อง เพื่อให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมทำความเข้าใจมุมมองของลูกแต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามฝึกให้ลูก ยอมรับการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน

Karen at Lightly Frayed คุณแม่และนักเขียนจากเว็บไซต์ www.lightlyfrayed.com ได้เรียบเรียงบทความเกี่ยวกับ วิธีทำให้ลูกต่อรองน้อยลง จากแนวคิดของ Dr. Seuss’ Wisdom นักเขียนหนังสือเด็ก ผู้แต่งเรื่อง Horton Hears a Who โดยอธิบายว่า การยอมรับมุมมองของลูกไม่ได้ทำให้ความสำคัญในการสอนเรื่องการเจรจาต่อรองลดน้อยลง เพียงแต่พ่อแม่ต้องรู้เหลี่ยมรู้มุมในการพูดคุยกับลูก ยิ่งลูกต่อรองมากเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่จะยิ่งต้องรับฟังอย่างสงบ โต้ตอบด้วยด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลาง และสอนให้ลูกรู้จักการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

2. บอกเหตุผลที่ชัดเจน

negotiating_web_2

#บอกเหตุผล Albiona Rakipi นักบำบัดการพูด (speech–language pathologist: SLP) แนะนำว่า พ่อแม่ต้องใช้เหตุผลในการตัดสินเหตุการณ์และอธิบายว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำอย่างชัดเจน ตรงประเด็น หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่าด้วยอารมณ์ หรือคำอธิบายที่ยืดเยื้อเกินไป แต่ไม่ควรเร่งรัดและรีบร้อนให้ลูกเข้าใจทุกอย่างในเวลาอันรวดเร็ว

ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปฏิเสธที่จะรับฟังเหตุผลของลูก เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องการเอาชนะเขา และใช้อำนาจของการเป็นพ่อแม่อย่างไม่มีเหตุผลเพียงพอ

3. ให้ทางเลือกกับลูก

negotiating_web_3

   #เสนอทางเลือก (เพียงสองอย่าง) Megghan Thompson นักบำบัดเด็กและวัยรุ่น อธิบายว่า ทุกครั้งคุณพ่อคุณแม่บอกให้ลูกเปลี่ยนหรือหยุดทำกิจกรรมที่กำลังสนุกสนาน เด็กๆ จะรู้สึกถูกขัดจังหวะและผิดหวัง  บ้างก็แสดงเป็นอาการดื้อ หรือพฤติกรรมต่อต้านออกมาตรงๆ ไม่ก็พยายามจะต่อรอง เพื่อเปลี่ยนใจคุณพ่อคุณแม่หรือขอเวลามากขึ้น แต่เคล็ดลับที่จะทำให้ลูกสงบลงได้ก็คือการเสนอทางเลือก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูก

 และทางที่เสนอนั้น ควรมีแค่สองทางเท่านั้น แน่นอนว่า เด็กๆ จะต้องมีทางเลือกที่สาม ซึ่งเป็นทางที่เขาต้องการที่สุด แต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหนักแน่น และบอกให้ลูกเข้าใจว่าทางเลือกที่มีนั้นจะส่งผลดีต่อตัวลูกและคนอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

4. ให้ลูกได้ไตร่ตรองคำตอบด้วยตนเอง

negotiating_web_4

#ยืนยันคำตอบ Lynn Lott ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมวินัยเชิงบวกระดับโลก แนะนำว่า หากลูกยังคงต่อรองไม่หยุดต้องใช้วิธีที่เรียกว่า ‘Asked and Answered’ วิธีเจรจา เริ่มจากย่อตัวลงให้เท่ากับความสูงของลูก มองหน้าและสบตาลูกด้วยความรัก แล้วถามว่า ลูกได้ถามเหตุผลจากคุณพ่อคุณแม่หรือยัง แล้วคุณพ่อคุณแม่ตอบคำถามของลูกหรือยัง, ถ้าคุณพ่อคุณแม่อธิบายเหตุผลให้ลูกฟังแล้ว แปลว่าการต่อรองได้ยุติลงแล้ววิธีนี้จะช่วยสอนให้ลูก ได้เรียนรู้วิธีแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ และการยอมรับการตัดสินใจของคนอื่น

ที่สำคัญสำหรับการรับมือ ลูกช่างต่อรอง วัยนี้ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ใช้เวลา และใช้วิธีเดิมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกเรียนรู้การใช้เหตุผล รวมถึงรู้จักคิด พูด รับฟัง และยอมรับการตัดสินใจของคนอื่นอย่างมีเหตุผลเช่นเดียวกัน

อ้างอิง
thompsonchildtherapy
theeverymom
lightlyfrayed

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST