สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยกำลังหัดพูดหัดเจรจา คงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า เด็กวัยนี้มีความสามารถในการพูดเรื่องเดิม หรือถามซ้ำไปซ้ำมามากแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าเป็นสิ่งที่เขาต้องการแล้ว เด็กๆ สามารถพูดถึงซ้ำๆ ได้อย่างไม่จบไม่สิ้นเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น
ลูก: ขอกินเยลลี่ได้ไหมครับ
แม่: ไม่ได้ครับ
สองนาทีผ่านไป
ลูก: แม่ครับผมอยากกินเยลลี่อะครับ
แม่: ไม่ได้ครับ
หนึ่งนาทีผ่านไป
ลูก: แม่ครับ ผมขอกินเยลลี่ได้ไหมครับ
แม่: !@#$%^
เมื่อเด็กมีใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะถาม ถาม และถาม เพราะเด็กคิดว่า บางทีมันอาจจะทำให้คุณแม่ใจอ่อน หรือไม่ก็รบกวนโสตประสาทจนคุณแม่ต้องยอมพ่ายแพ้และเปลี่ยนใจในที่สุด
พฤติกรรมที่สร้างความรบกวนแบบนี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ และเด็กก็จะทำอย่างนั้นต่อไป หากรู้ว่าเมื่อเขายืนยันที่จะถามหรือร้องขอสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายเขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเป็นพฤติกรรมที่สามารถเรียนรู้ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถแก้ไขพฤติกรรมนี้ได้เช่นกัน
วิธีแก้ปัญหานี้มาจาก ลินน์ ลอตต์ (Lynn Lott) ผู้ร่วมแต่งชุดหนังสือเรื่อง Positive Discipline โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีนี้กับลูกได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นเลยทีเดียว
วิธีการง่ายๆ ที่ว่าก็คือ ‘ถามและตอบ’
สมมติว่าลูกคุณวิ่งมาหาคุณและถามว่า “ผมขอขุดหลุมตรงสนามหญ้าได้ไหมครับ” และเมื่อคุณปฏิเสธไปในครั้งแรก แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่เกินห้านาทีลูกจะวิ่งกลับมา และขอคุณขุดหลุมที่สนามหญ้าเหมือนเดิมอีกครั้งแน่นอน แต่แทนที่คุณจะเริ่มต้นปฏิเสธพร้อมหัวเสีย (เพราะนี่คือการขอครั้งที่สองแล้วนะ!) เราอยากให้คุณสบตาลูกอย่างจริงจัง และทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ถามลูกว่า “ลูกเคยได้ยินเรื่องการถามและตอบไหม” (ลูกตอบว่า ไม่)
- ถามลูกว่า “ลูกถามแม่เรื่องนี้ไปแล้วใช่ไหม” (ลูกตอบว่า ใช่)
- ถามลูกว่า “แม่ได้ตอบลูกไปแล้วใช่ไหม” (ลูกตอบว่า ใช่, แต่… ผมอยากจะ…)
- ถามลูกว่า “การที่ลูกมาถามซ้ำแล้วซ้ำอีก คิดว่าแม่ดูเหมือนคนที่จะเปลี่ยนใจไหม” (มีโอกาสที่ลูกจะเริ่มถอดใจ หรือไปสนใจทำอย่างอื่นแทน)
- ถ้าลูกยังยืนยันการถามคำถามเดิมอีก ให้คุณเริ่มต้นด้วยการพูดถึงวิธี ‘ถามและตอบ’ อีกครั้ง และต่อไปคุณแค่พูดว่า “ถามและตอบ” เวลาที่ลูกพยายามถามซ้ำๆ เพื่อกวนใจคุณ ลูกก็จะรู้ตัวว่าต้องเจอกับอะไรต่อไปในทันที
แต่เทคนิคสำคัญก็คือ เมื่อคุณตัดสินใจที่จะใช้วิธีนี้ ขอให้คุณยึดมั่นในคำตอบเดิมเข้าไว้ อย่าได้โลเลหรือเผลอใจอ่อนเป็นอันขาด
เมื่อไรก็ตามที่ลูกเรียนรู้ว่ายังไงคุณก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจ เขาก็จะเลิกกวนใจคุณไปเอง!
NO COMMENT