ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมปัจจุบันแม้แต่เด็กเล็ก เด็กอนุบาลก็หลีกเลี่ยงการแข่งขันกับคนอื่นได้ยาก ในฐานะคุณพ่อคุณแม่ ก็ย่อมต้องการให้ลูกมีประสบความสำเร็จและมีโอกาสเท่าเทียมคนอื่น ทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มกังวลเกี่ยวกับผลการเรียนของลูก กลัวว่าลูกจะเรียนไม่พอ หรือเรียนไม่ทันคนอื่น ก็เลยต้องมองหาโรงเรียนสอนพิเศษ เพราะหวังให้ลูกเรียนเสริมนอกเวลา ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
แต่คุณพ่อคุณแม่คงจะพอได้ยินมาบ้างว่า ช่วงปฐมวัยของเด็ก คือช่วงเวลาที่ควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเองหรือเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะปฐมวัยคือช่วงวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและควรมีอิสระในการเรียนรู้
การส่งเสริมให้ลูกคร่ำเคร่งเรียนแต่วิชาการอย่างเดียว อาจขัดขวางการเรียนรู้และพัฒนาด้านอื่นของลูกได้ เราลองมาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้เวลาเพื่อพัฒนาลูกได้ โดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียนสอนพิเศษ
1. ส่งเสริมให้ลูกมีสมาธิและรักการอ่าน

แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการเรียนของลูกมากขึ้น จนทำให้เด็กๆ สนใจสิ่งที่อยู่ในหน้าจอมากกว่าการอ่านหนังสือ แต่การรับข้อมูลผ่านเทคโนโลยีเพียงเดียว จะทำให้ลูกเป็นเด็กไม่มีสมาธิ ไม่สามารถโฟกัสหรือจดจ่อกับการเรียนในห้องเรียนได้
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากสังเกตเรื่องที่ลูกสนใจ แล้วหาหนังสือที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมตามวัย มาช่วยส่งเสริมพัฒนาการ และปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ
2. เป็นคุณครูให้ลูกเอง

ตามร้านหนังสือมีหนังสือที่รวมข้อสอบมากมาย อาจจะเรื่องจากปกหนังสือน่ารักๆ เพื่อดึงดูดใจเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถซื้อหนังสือมาอ่านและทดลองทำข้อสอบกับลูกที่บ้านได้ค่ะข้อดีของการสอนลูกด้วยตัวเอง คือคุณพ่อคุณแม่จะได้เข้าใจลูก รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของลูก และมีเวลาในการสอนลูกที่ยืดหยุ่นได้ ทำให้เด็กไม่เคร่งเครียดจนเกินไปค่ะ
3. เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เช่น คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือบ่อยๆ ลูกก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ชอบ และสนใจที่จะอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกอ่านหนังสือ แล้วช่วยกันสรุปใจความสำคัญที่ได้จากหนังสือนั้นๆ
4. ให้เวลาลูก อย่าให้ลูกตกอยู่ในภาวะเครียดจากการถูกเร่งรัด
(Hurried Child Syndrome)

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเร่งรัดให้ลูกอ่านหรือเข้าใจเรื่องที่เรียนภายในเวลาจำกัด หรือออกคำสั่งให้อ่านหนังสือให้จบ เพราะสุดท้ายสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้มากก็คือการทำให้ลูกเครียดเกินไป อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดภาวะเครียดจากการถูกเร่งรัด (Hurried Child Syndrome) เพราะอย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยาและพัฒนาการของเด็กเห็นตรงกันว่า เด็กเล็กไม่ใช่วัยที่เราควรยัดเยียดวิชาการให้มากจนเกินไป เพราะพวกเขาอยู่ในวัยที่ต้องเล่น ต้องพัฒนากล้ามเนื้อและร่างกาย หากคุณพ่อคุณแม่ยัดเยียดให้ลูกเรียนอย่างคร่ำเคร่งมากเกินไป อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ รวมถึงสุขภาพจิตของลูกได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST