ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ จะเริ่มให้ความสำคัญกับการเล่นและส่งเสริมทักษะทำสำคัญในวัยเด็ก มากกว่าการเข้มงวดเรื่องความรู้ทางวิชาการ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อถึงเวลาที่ลูกเริ่มต้องเข้ากระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนเต็มตัว ความคาดหวังลึกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ ก็คงไม่อยากให้ลูกเรียนรู้ช้าหรือตามไม่ทันคนอื่น และการที่ ลูกเรียนไม่เก่ง ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่อดที่จะกังวลและเป็นห่วงไม่ได้อยู่ดี
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ ลูกเรียนไม่เก่ง หรือเรียนรู้ได้ไม่ดี อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลูกไม่ชอบคุณครูที่สอน ลูกไม่ถนัดวิชานั้นๆ ลูกมีปัญหาทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ก็เป็นเหตุที่ทำให้ลูกมีปัญหาในการเรียนรู้ได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะกังวลเรื่องผลการเรียนของลูก จนต้องพยายามเข้มงวดและกดดันลูกมากเกินจำเป็น เรามีข้อควรสังเกตและสัญญาณเกี่ยวกับปัญหาในการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ประเมินเพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกได้
1. การเรียนรู้พื้นฐานของลูกไม่พัฒนา
การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าเด็กเริ่มทำความรู้จักตัวอักษรได้ตั้งแต่อายุ 1.5 – 2 ขวบ โดยเรียนรู้ผ่านสิ่งรอบตัว เช่น ตัวหนังสือที่พบเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน หนังสือนิทาน และป้ายต่างๆ และจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนเก่งขึ้นในช่วงอายุ 5-6 ขวบ เพราะแม้จะอ่านไม่ออก แต่ก็เริ่มสามารถเดาคำบางคำได้จากตัวอักษร และกระบวนการการเรียนรู้เรื่องตัวอักษรจะค่อนข้างสมบูรณ์ในช่วงอายุ 7-8 ขวบ
แต่ถ้าหากลูกถึงวัยนี้แล้วยังคงมีปัญหากับทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน เขียนตัวอักษร หรือสะกดคำง่ายๆอาจเป็นสัญญาณแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหันมาให้ความสำคัญ เพราะอาจกระทบต่อการเรียนรู้ของลูกในระดับสูงขึ้น
2. ผลการเรียนลดลงต่อเนื่อง
หากลูกเคยมีผลการเรียนดี แต่ผลการเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไปอีก อาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่างจนกระทบต่อการเรียนรู้ เช่น ความเครียดจากการเรียน ความกดดัน หรือปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาสาเหตุให้พบและให้ความช่วยเหลือทันที
3. ขาดความสนใจหรือแรงจูงใจในการเรียน
หากลูกไม่มีความสนใจหรือแรงจูงใจในการเรียนเลย ไม่สนุกกับการเรียน พยายามหาทางเลี่ยงที่จะทำงานหรือการบ้านที่คุณครูให้ คุณพ่อคุณแม่ควรลองพูดคุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเกิดจากการที่ลูกไม่เข้าใจบทเรียน ไม่เข้าใจเนื้อหาที่คุณครูสอน ไม่แน่ใจในโจทย์ที่คุณครูให้การบ้านจนเกิดความรู้สึกเครียด ทำให้ไม่อยากเรียน และไม่สนุกที่จะเรียนรู้ต่อไป
แต่หากคุณพ่อคุณแม่คอยพูดคุย เช่น ถามว่าลูกไม่เข้าใจตรงไหนแล้วช่วยหาคำตอบ หรือปรึกษากับคุณครู เพื่อให้คุณครูช่วยหาทางอธิบายให้ลูกเข้าใจอีกครั้ง ก็จะช่วยปลดล็อกในใจและทำให้ลูกเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไปได้
4. มีพฤติกรรมแปลกหรือมีภาวะซึมเศร้า
การเรียนไม่เก่งอาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้อยค่า หรือมีภาวะเครียดจนเกิดการแสดงออกผ่านพฤติกรรม เช่น มีภาวะซึมเศร้า ขาดความมั่นใจ แกล้งป่วยเพื่อไม่ต้องไปโรงเรียน หรือหลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเรียน หากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขให้ทันท่วงที
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรให้การสนับสนุนลูกด้วยความเข้าใจ ไม่กดดันหรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น รวมถึงให้ความรักความเข้าใจ พร้อมที่จะรับฟัง และยินดีที่จะช่วยหาวิธีการเรียนที่เหมาะสมให้ลูกเสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST