READING

เราไม่จำเป็นต้อง Perfect : 4 วิธี ช่วยให้ลูกรู้ว่า...

เราไม่จำเป็นต้อง Perfect : 4 วิธี ช่วยให้ลูกรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในทุกเรื่อง

perfect

แม้จะเป็นเรื่องที่รู้กันดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง แต่หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังและพยายามเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุดให้กับลูก และหลายครั้งที่เผลอเอาความคาดหวังไปลงที่ลูก เพราะคิดว่าในเมื่อคุณพ่อคุณแม่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกแล้ว ก็ย่อมอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากลูกเช่นกัน

ความคาดหวังและพยายามให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ อาจกลายเป็นการปลูกฝังและหล่อหลอมให้ลูกยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบ อยากเป็นคนเพอร์เฟ็กต์ในสายตาคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลูกรู้สึกกดดันและหวาดกลัวความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ The Center for Parenting Education กล่าวไว้ว่าสัญญาณที่แสดงว่าลูกอาจเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบมากเกินไปก็คือ ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นรวมถึงตัวเอง แต่เป็นคนที่อ่อนไหวกับคำวิจารณ์ และมี self-esteem ต่ำ

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังไม่ให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังนิสัยยึดติดความสมบูรณ์แบบหรืออยากเป็นคน Perfect มากเกินไปด้วยเทคนิคการสอนลูก ดังนี้

1. ขยายความคิดและความหมายของความสำเร็จ

ขยายความคิด

เมื่อพูดถึงความสำเร็จของลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจนึกถึงการทำข้อสอบได้คะแนนดี การชนะการประกวดความสามารถต่างๆ แต่ความจริงแล้วคำว่าความสำเร็จ ควรจะหมายรวมรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของลูกด้วย

งานวิจัยจาก Adam Grant ผู้เขียนหนังสือ Give and Take ได้กล่าวว่าทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่แข็งแกร่งของเด็กๆ คือสิ่งที่ขับเคลื่อนความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตอย่างแท้จริง

2. ค้นหาวิธีและแรงจูงใจที่เหมาะสมกับลูก

แรงจูงใจ

คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าการเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำจะช่วยให้ลูกสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดี แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ลูกทำอะไรได้ดีก็คือการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับความชอบของลูก เช่น คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่ลูกไม่สนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเชื่อมโยงสิ่งที่ลูกไม่สนใจเข้ากับสิ่งที่ลูกชอบ เช่น ลูกชอบทำอาหาร วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำคัญกับการทำอาหารของลูกอย่างไรบ้าง

การหาแรงจูงใจที่เข้ากับความชอบของลูก จะทำให้ลูกรู้สึกมีเป้าหมาย และไม่ได้ทำเพราะถูกบังคับ แต่ลูกจะรู้สึกอยากทำให้ดีเพื่อเป้าหมายของตัวเองมากกว่าทำไปเพราะถูกกดดันโดยไม่ทราบสาเหตุ

3. ไม่บอกให้ลูกทำให้ดีที่สุด

ความพยายาม

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า การบอกให้ลูกทำให้ดีที่สุด ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงแล้ว การบอกให้ลูกทำให้ดีที่สุด อาจเป็นเหมือนดาบสองคมที่ทั้งผลักดันและกดดันลูกไปพร้อมกัน

ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าให้ลูกทำให้ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนเป็นการสอนให้ลูกมีความพยายาม และเป็นความพยายามที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรแสดงให้ลูกเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ให้คุณค่ากับความพยายามของลูกไม่น้อยไปกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามนั้นๆ ด้วย

4. การเรียนรู้ทุกอย่างย่อมใช้เวลา

nottobeperfect_web_4

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Carol S. Dweck แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่าความฉลาดของมนุษย์เรานั้นไม่คงที่ยิ่งท้าทายมากเท่าไร สมองก็จะยิ่งปรับตัวมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจใช้แนวคิดนี้ในการสอนให้ลูกเข้าใจว่า หากลูกล้มเหลวหรือไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้ในครั้งแรก นั่นแปลว่าลูกกำลังเกิดการเรียนรู้และจะสามารถทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีพูดถึงสิ่งที่ลูกเคยทำไม่ได้แต่ในปัจจุบันทำได้ดีมากขึ้นแล้ว เช่น การผูกเชือกรองเท้า การใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง ลูกก็จะเรียนรู้ว่าเรียนรู้ที่ต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝน ไม่มีใครทำครั้งแรกแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบทันที การให้เวลาลูกเรียนรู้และฝึกฝนจะทำให้ลูกมีกำลังใจในการพยายามและไม่ยึดติดความสมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต

อ้างอิง
parents
parentology
lifehacker

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST