READING

ปกป้องลูกจากโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) คุณพ่อคุณแม่ก็ทำไ...

ปกป้องลูกจากโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) คุณพ่อคุณแม่ก็ทำได้!

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (obsessive-compulsive disorder) เป็นหนึ่งในปัญหาจิตเวชที่สามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆ และสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย ถึงแม้อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำจะไม่รุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม การเรียนรู้ และสร้างพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ได้

แต่เพื่อคลายความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ เรามาทำความรู้จักโรคย้ำคิดย้ำทำ และหาคำตอบว่าคุณพ่อคุณแม่จะช่วยปกป้องลูกน้อยให้ห่างจากโรคนี้ได้อย่างไรบ้างกันดีกว่าค่ะ

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) คืออะไร?

OCD_web_1

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) คือ พฤติกรรมการคิดและทำอะไรซ้ำๆ บางครั้งอาจก่อให้เกิดความกังวลใจ หงุดหงิด และอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กลัวความสกปรกมากกว่าปกติ จนต้องล้างมือบ่อยๆ หรือทำความสะอาดสิ่งของบ่อยๆ เกินความจำเป็น หรือเกิดความไม่สบายใจเมื่อเห็นความไม่เป็นระเบียบ เห็นสิ่งของที่แปลกแยก ไม่เท่ากันและไม่สมดุล ทำให้เกิดภาวะเครียดและวิตกกังวลได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจจะพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าต่อไปได้

เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมคิดและทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา มากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือทำให้ลูกมีความกังวลจนนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ส่งผลต่อการเข้าสังคม รวมทั้งส่งผลต่อการเรียน นี่คืออาการผิดปกติที่อาจเกิดจากโรคย้ำคิดย้ำทำและอาจมาควบคู่กับโรคสมาธิสั้น โรคกล้ามเนื้อกระดูก หรือโรคที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ ที่ผิดปกติ อีกด้วย

สาเหตุในการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นยังไม่มีการระบุแน่ชัด แต่หลายงานวิจัยให้ความเห็นตรงกันว่า โรคนี้อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนสารเซโรโทนิน (serotonin) ในสมอง หรืออาจเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนี้ การติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดโรคย้ำคิดย้ำทำขึ้นได้

โรคนี้สามารถเกิดกับเด็กได้ตั้งแต่วัยอนุบาล และสะสมอาการต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี จนเห็นได้ชัดเจนในวัยประถมต้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน

คุณพ่อคุณแม่คือยาบำบัดที่ดีที่สุด

OCD_web_2

โรคจิตเวชที่เกิดขึ้นกับเด็กสามารถบำบัดได้โดยจิตแพทย์ก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเยียวยารักษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็คือ การเลี้ยงดูด้วยความรักและความเอาใจใส่ในครอบครัวที่จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตใจที่แข็งแรง มีภูมิต้านทาน และช่วยให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาของลูก หากพบว่าลูกมีความวิตกกังวลหรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเดิม ซ้ำไปซ้ำมามากเกินไป อาจลองชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นเพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ระบายอารมณ์ และลดความเครียดลงได้

นอกจากนี้ยังมีวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยป้องกันลูกจากความเสี่ยงที่จะเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำได้ด้วยการเลี้ยงดูที่เหมาะสมมาฝากค่ะ

1. ไม่ขู่หรือพูดเกินจริงเพื่อให้ลูกกลัว

OCD_web_3

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มักจะเผลอใช้วิธีขู่หรือพูดเกินจริง เพื่อให้ลูกกลัวและยอมทำตามความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ เช่น อยากสอนให้ลูกรู้จักปิดแอร์เมื่อไม่จำเป็น แต่ใช้วิธีบอกลูกว่าเปิดแอร์นานๆ จะทำให้ไฟไหม้บ้านได้ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ได้ผล แต่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการทำให้ลูกกลัว จะทำให้ลูกหมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าถ้าไม่ปิดแอร์ บ้านจะไฟไหม้ เกิดเป็นความหวาดระแวง กลัวว่าตัวเองจะทำพลาด เมื่อเกิดภาวะนี้บ่อยๆ ก็จะกลายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะสอนลูกไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ก็ควรใช้การบอกเหตุผลที่แท้จริงให้ลูกเข้าใจนะคะ

2. ไม่ต่อว่าหรือซ้ำเติมเมื่อลูกคิดและทำอะไรซ้ำๆ

OCD_web_4

พฤติกรรมการคิดซ้ำๆ ทำอะไรซ้ำๆ ของลูกอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ หลีกเลี่ยงการใส่อารมณ์ พูดจาซ้ำเติมลูก หรือบอกว่าสิ่งที่ลูกทำมันน่าอาย แต่ควรค่อยๆ ปรับพฤติกรรมลูกด้วยความใจเย็น ปลอบโยนให้ลูกลดความกังวล อาจจะชวนคุยหรือเบนความสนใจไปเรื่องอื่นแทนบ้างก็ได้นะคะ

3. คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมวิตกกังวลมากเกินไป

OCD_web_5

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ตัวว่าลูกเรียนรู้พฤติกรรมวิตกกังวลมาจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น เห็นว่าคุณแม่กลัวลืมปิดไฟจนต้องเดินกลับไปดูบ่อยๆ หรือเมื่อเห็นว่าลูกย้ำคิดย้ำทำอะไร กลับกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่เสียเองที่หวั่นไหวไปตามพฤติกรรมของลูก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรเป็นฝ่ายที่ตั้งสติและหนักแน่น ไม่แสดงอาการวิตกกังวลจนทำอะไรซ้ำๆ ให้ลูกเห็นมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกตามไปด้วยนะคะ

 

อ้างอิง
cedars-sinai
katielear
paolohospital
dmh
thematter

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST