READING

ลูกเป็นเด็กโมโหง่าย หรือกำลังเป็นโรคดื้อต่อต้าน OD...

ลูกเป็นเด็กโมโหง่าย หรือกำลังเป็นโรคดื้อต่อต้าน ODD (Oppositional Defiant Disorder) กันแน่?!

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ เจ้าตัวน้อยเอาแต่ร้องไห้งอแงเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือโมโหรุนแรงเมื่อรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะอายุยังน้อย เด็กจึงยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกได้ดีเท่าไรนัก เราจึงมักเห็นเด็กๆ แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเพื่อแสดงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกมาให้คนอื่นได้รับรู้

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าอาการโมโหร้าย หรือชอบเถียงคุณพ่อคุณแม่บ่อยและมากจนผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าลูกไม่ได้เป็นแค่เด็กขี้โมโหหรือหงุดหงิดง่ายทั่วไป แต่เขาอาจจะกำลังเผชิญกับโรคดื้อต่อต้าน หรือ ODD (Oppositional Defiant Disorder) อยู่ก็เป็นได้

โรคดื้อต่อต้าน เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง มักจะแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเมื่อเด็กอายุได้ 6-8 ปี และเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง อาการคือเด็กมักจะแสดงอาการโมโหร้าย ชอบเถียง อารมณ์เสีย และหงุดหงิดง่าย จนทำให้ความสัมพันธ์ทั้งภายในครอบครัว และสังคมภายนอกเป็นไปอย่างไม่ดีนัก

สาเหตุของโรค ODD

ODD_web_1

สาเหตุของโรค ODD ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่นักวิจัยได้แบ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นสองทฎษฎี ได้แก่ ทฤษฎีพัฒนาการ อาจเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่ในช่วงวัยหัดเดิน ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเติบโตและเรียนรู้ แต่หากเด็กมีพัฒนาการทางเรียนรู้บกพร่องก็อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

และสองคือทฤษฎีการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมด้านลบของพ่อแม่ที่สะท้อนไปถึงลูก ทำให้เด็กแสดงออกซึ่งพฤติกรรมด้านมากขึ้น นอกจากสองทฤษฎีดังกล่าวแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม หรือเด็กเป็นโรคทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย

โดยหากไม่แน่ใจว่าลูกอาจเสี่ยงเป็นโรค ODD หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมต่อไปนี้ต่อเนื่องและยาวนานเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไปหรือไม่

1. อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย

ODD_web_2

ปกติแล้วเด็กมักหงุดหงิดเมื่อรู้สึกเหนื่อย หรือหิวเป็นเรื่องธรรมดา แต่เด็กที่เป็น ODD จะแสดงออกอาการหงุดหงิดที่รุนแรงและโมโหร้ายมากกว่าปกติ เพราะแม้ความเหนื่อยและหิวของเด็กจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กที่มีอาการ ODD ก็ก็พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ของตัวเองออกมาทุกเมื่อ

2. มักไม่เชื่อฟัง และชอบเถียงอยู่เป็นประจำ

ODD_web_3

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครูบอกหรือสอนสิ่งที่เขาควรทำ เด็กจะแสดงอาการไม่เชื่อฟัง เถียงอย่างไม่ยอมแพ้ และไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะยกเหตุผลมากมายมาอธิบายให้เข้าใจอย่างไรก็ตาม ลูกก็จะยังคงต่อต้านและไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ อยู่ดี

3. ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด

ODD_web_4

เมื่อลูกทำอะไรผิด เขาจะไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง และมักจะโยนความผิดให้คนอื่นด้วยเหตุผลที่คิดเข้าข้างตัวเอง และเชื่อมั่นในตัวเองว่าไม่ได้ทำผิด หรือโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นต่างหาก

4. มองโลกในแง่ลบ

ODD_web_5

เด็กที่เป็น ODD มักมีความคิดแง่ลบ และมักมีเจตนาร้ายต่อคนอื่น จึงทำให้ไม่สามารถเข้ากับสังคมเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ หรือร้ายที่สุดคือไม่สามารถเข้ากับคุณพ่อคุณแม่ของตัวเองได้

ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมการมองโลกในแง่ลบ จะบั่นทอนการพัฒนาการด้านการเรียนรู้ตามช่วงวัยของเด็ก เช่น คิดไปเองว่าเพื่อนคนนั้นต้องนิสัยไม่ดี คุณครูคนนี้จะต้องรักเด็กไม่เท่ากัน ท้ายที่สุดเด็กก็ไม่สามารถมีเพื่อนและมีพัฒนาการด้านสังคมได้

5. เจ้าคิดเจ้าแค้นผู้อื่น

ODD_web_6

หากมีใครทำอะไรให้เด็ก ODD โกรธหรือเสียใจเข้าละก็ เด็กจะมีวิธีการรับมือกับความรู้สึกนั้นด้วยการหาทางเอาคืน ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย พูดคำหยาบหรือสบถใส่ ซึ่งนอกจากจะสร้างผลลบให้กับตัวเด็กเองแล้ว ยังเป็นการสร้างพลังงานลบไปสู่คนอื่นอีกด้วย

เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการบำบัด

ODD_web_7

การรักษาโรค ODD คุณหมอมักใช้เป็นวิธีการพูดจาบำบัดเป็นหลัก โดยอันดับแรกคือเน้นให้สมาชิกภายในครอบครัวเข้าใจอาการของโรคนี้ เพราะครอบครัวจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด จึงต้องมีการทำความเข้าใจ สร้างทัศนคติเชิงบวก ช่วยกันผลักดันเพื่อให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นไปอย่างมั่นคงและราบรื่น

เช่นเดียวกับตัวเด็กที่ต้องใช้วิธีการพูดคุยถามถึงทัศนคติด้านต่างๆ ก่อนที่จะพูดคุยเพื่อปรับพฤติกรรมการแสดงออกให้ออกมาในลักษณะที่ไม่เกรี้ยวกราด ฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไปจนถึงความคิดแง่ลบต่างๆ ที่อยู่ในตัวเด็กให้ลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อ้างอิง
pobpad
honestdocs
hopkinsmedicine
mayoclinic

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST