ความพร้อมทางเทคโนโลยี ทำให้เด็กๆ ในปัจุบันสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้อย่างง่ายดาย แต่ความสะดวกสบายนั้นก็มาพร้อมกับปัญหาเด็กและเยาวชนติดหน้าจอ หรือใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้นตามไปด้วย
ปัญหาเด็กติดหน้าจอ หรือลูกใช้เวลากับโทรศัพท์มือมากเกินไป กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอยากแก้ไข แต่เมื่อย้อนกลับมาดูพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่แล้ว อาจไม่ต้องสงสัยว่าทำไมลูกถึงเป็นเช่นนั้น เพราะพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือของลูก อาจมีที่มาจากพฤติกรรม พ่อแม่ติดโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกัน
ดังนั้น หนึ่งในวิธีป้องกันลูกจากการติดโทรศัพท์มือถือ ก็คือต้องเปลี่ยนพฤติกรรม พ่อแม่ติดโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่เพียงเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็นแล้ว ยังส่งผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของลูกอีกด้วย
1. ลูกถูกขัดขวางการเติบโตทางอารมณ์
เมื่อคุณพ่อคุณแม่หมกมุ่นหรือจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือจนไม่มีสมาธิหรือไม่ได้โฟกัสที่ลูกเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่คุณพ่อคุณแม่ที่อาจพลาดการเห็นพัฒนาการและเหตุการณ์สำคัญในชีวิตลูก แต่ลูกก็จะพลาดโอกาสในการเรียนรู้ เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะหรือพัฒนาการมากเท่าที่ควรได้
2. ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ
คุณพ่อคุณแม่ที่ให้เวลาและความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือ หรือโฟกัสอยู่กับธุระของตัวเองมากจนละเลยที่จะใส่ใจ พูดคุย หรือตอบคำถามลูก จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญเท่าธุระของคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง
3. ลูกมีพัฒนาการช้ากว่าที่ควร
การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการเลี้ยงลูกมากเกินไป เช่น ให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างรอคุณพ่อคุณแม่กินข้าว หรือส่งโทรศัพท์ให้ลูกเล่นเพื่อจะได้ไม่กวนหรือสร้างความรำคาญให้คุณพ่อคุณแม่ เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองเด็กทั้งสิ้น
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรจ้องมองหน้าจอ และเด็กที่อายุเกิน 5 ขวบ ควรจำกัดเวลาการใช้หน้าจอเพียงสองชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เนื่องจากส่งผลต่อโครงสร้างสมอง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง คิดช้า และมีความจำถดถอยอีกด้วย
4. ลูกขาดการพัฒนาทักษะการสื่อสารที่เหมาะสม
Dana Suskind รองศาสตราจารย์สาขากุมารแพทย์ศัลยกรรมมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าวว่า การพัฒนาสมองของเด็กในช่วง 2-3 ปีแรก เป็นช่วงที่สำคัญมาก หาก พ่อแม่มัวแต่ติดโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้ใช้เวลาและพูดคุยกับลูกมากพอ อาจส่งผลต่อการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารของลูกได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST