READING

Overfeeding: ลูกร้องไห้ อาจไม่ได้แปลว่าหิวเสมอไป...

Overfeeding: ลูกร้องไห้ อาจไม่ได้แปลว่าหิวเสมอไป

ภาวะ overfeeding

ภาวะ overfeeding คือ การที่ทารกดื่มนมมากเกินไป จนร่างกายไม่สามารถทำการย่อย ดูดซึม หรือขับถ่ายได้ทัน ทำให้ลูกมีอาการหงุดหงิดงอแงเพราะรู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง หรือสำลักออกมาเป็นน้ำนม (คุณแม่ทั่วไปเรียกว่าอาการ แหวะนม)

โดยทั่วไป ภาวะ overfeeding สามารถเกิดขึ้นกับทารกที่กินนมผงจากขวด มากกว่าทารกที่ดื่มนมแม่ เพราะลำไส้ของทารกมีความสามารถดูดซึมน้ำนมแม่ได้ดีกว่านมประเภทอื่น แต่การให้ลูกกินนมแม่มากเกินไป ก็มักเกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่ที่เข้าใจว่าทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ หมายความว่าลูกกำลังหิว ทำให้เกิดการให้ลูกกินนมบ่อยเกินไป

การได้รับน้ำนมมากเกินไป นอกจากจะทำให้ลูกร้องไห้งอแง เพราะไม่สบายท้อง แล้วยังเสี่ยงต่อภาวะอ้วน และการปล่อยให้ลูกสำลักหรือแหวะนมบ่อยๆ จะทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนมาทำให้หลอดอาหารของลูกเป็นแผลได้

ปริมาณนมที่ทารกควรได้รับใน 1 วัน 

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ มักจะมีคำถามคล้ายกันว่า ในหนึ่งวันจะต้องให้ลูกน้อยของเรากินนมเท่าไรถึงจะพอดี โดยจะแบ่งเป็นช่วงอายุ ดังนี้

1. อายุ แรกเกิด- 1 วัน 

ในช่วงแรกเกิดทารกต้องการกินนมเพียง 1 ช้อนชา หรือ 5-7 ml. ต่อมื้อ วันละ 8-10 ครั้ง และควรให้ลูกได้ดูดนมจากแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่

2. อายุ 1 สัปดาห์ 

พอลูกครบ 1สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ควรให้ลูกได้ดื่มนมประมาณ 45-60 ml. หรือ 1.5-2 oz. ทุก 2-3 ชั่วโมง วันละ 8-10 ครั้ง

3. อายุ 1 เดือน 

ช่วงวัยนี้ลูกน้อยต้องการดื่มนม ประมาณ 80-120 ml. หรือ 2.5-4 oz. ต่อมื้อ ทุก 3-4 ชั่วโมง วันละ 7-8 ครั้ง

4. อายุ 2-6 เดือน 

เด็กวัยนี้ต้องการดื่มนม มื้อละ 120-180 ml. หรือ 4-6 oz. ต่อมื้อ วันละ 5-6 ครั้ง

5. อายุ 6-12 เดือน 

เด็กวัยนี้ต้องการน้ำนมมากขึ้นเป็น 180-240 ml. หรือ 6-8 oz.ต่อมื้อ วันละ 4-5 ครั้ง

หรือคำนวณจาก น้ำหนักตัวลูก (kg.) คูณด้วย 110 ml. แล้วหาร 30 ก็จะได้ปริมาณน้ำนมที่ลูกควรกินในหนึ่งวัน

6. อายุ 1 ขวบขึ้นไป

เด็กหนึ่งขวบขึ้นไป ควรเริ่มที่จะต้องการอาหารหลักครบ 3 มื้อแล้ว และค่อยเสริมด้วยนมครั้งละ 180-240 ml. หรือ 6-8 oz. วันละ 3-4 ครั้ง

ทารกกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับนมมากเกินไป

• ทารกแรกเกิด-3 เดือน มีความเสี่ยงที่จะกินนมมากเกินไป เนื่องจากข้อจำกัดทางพัฒนาการ ทำให้ไม่สามารถในการควบคุมปริมาณน้ำนมที่กินเข้าไปแม้จะเกินความต้องการของตัวเองได้

• ทารกที่ดูดนมจากขวดนม จะควบคุมการไหลของน้ำนมได้ยาก หากปล่อยให้ลูกดูดขวดนม ที่ไม่มีการควบคุมปริมาณน้ำนมให้ดี ทารกก็มีโอกาสได้นมมากเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการได้

อาการของภาวะ overfeeding

• มีอาการงอแงหลังกินนม

• อาเจียน แหวะนมมากกว่าปกติ อาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย

• ท้องอืด มีอาการแน่นท้อง

• ท้องป่องเป็นทรงน้ำเต้า

• ไม่ยอมดูดนม แม้จะถึงเวลากินนมแล้ว

• มีนํ้าหนักตัวขึ้นเร็วมากกว่าปกติ (เกิน 35 กรัมต่อวัน หรือ 1 กิโลกรัมต่อเดือน)

วิธีป้องกันการเกิดภาวะ overfeeding

เวลาที่ทารกร้องไห้ คุณแม่อาจเคยชินกับการรีบให้ลูกเข้าเต้า หรือป้อนนมให้ลูกมากเกินไป ดังนั้น คุณแม่ควรมีวิธีสังเกตว่าลูกร้องไห้เพราะสาเหตุอื่นหรือไม่ นอกจากนั้นยังควรสังเกตพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกว่าอิ่มและไม่ต้องการกินนมอีกต่อไปแล้ว ดังนี้

• ลูกใช้มือผลักหรือหันหน้าหนี จากขวดนมหรือเต้านมแม่

• ลูกเริ่มดูดช้าลง

• มือและเท้าลูกผ่อนคลาย หรือเริ่มส่งเสียงเล่น

• ลูกเริ่มไม่มีสมาธิกับการกิน

• ลูกกินจนผล็อยหลับไป

 

อ่านบทความ: วิธีรับมือ 4 อาการผิดปกติของเบบี๋ ที่พ่อแม่เห็นแล้วไม่สบายใจ
อ้างอิง
babycareadvice
healthshots
samitivejhospitals
babylove

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST