READING

4 ลักษณะของพ่อแม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไป (Overprotec...

4 ลักษณะของพ่อแม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไป (Overprotective Parents) ก็ใช่ว่าจะดี

Overprotective Parents

หนึ่งในสัญชาตญาณที่สำคัญของพ่อแม่ก็คือการปกป้องลูกให้พ้นจากภัยอันตรายให้ได้มากที่สุด แต่การพยายามเป็นพ่อแม่ที่ ปกป้องลูกมากเกินไป (Overprotective Parents) กลับไม่ได้เป็นผลดีต่อลูกมากอย่างที่คิด

การถูกปกป้องมากเกินไป อาจเท่ากับการปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ปิดกั้นพัฒนาการตามวัย และกลายเป็นความกดดันที่อาจส่งผลต่อภาวะอารมณ์ รวมถึงสุขภาพจิตของลูกต่อไปในอนาคต

แต่ปัญหาก็คือ คุณพ่อคุณแม่มักจะไม่แน่ใจว่า การปกป้องลูก เลี้ยงลูกด้วยความรักและทะนุถนอม การพยายามควบคุมและดูแลชีวิตลูกให้ดีที่สุดอย่างที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้นถือว่ามากเกินไปหรือเปล่า และถ้ามากเกินไปแล้วจะส่งผลเสียอย่างไรต่อลูกบ้าง

เรามี 4 ลักษณะของพ่อแม่ที่เข้าข่ายว่าจะปกป้องและควบคุมชีวิตลูกมากเกินไป มาให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจตรวจสอบตัวเอง และค่อยๆ ปรับแก้ให้ความรักความหวังดีของเราไม่มากเกินจนส่งผลร้ายให้ลูกกันดีกว่านะคะ

1. ไม่ยอมให้ลูกทำอะไรผิดพลาด

Overprotective_web_1

ถ้าคุณพ่อคุณแม่มักจะนึกโกรธและโทษตัวเองที่ปล่อยให้ลูกทำอะไรผิดพลาด เช่น ลืมทำการบ้าน สอบได้คะแนนไม่ดี หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันก็ไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง เพราะคาดหวังให้ลูกเป็นเด็กสมบูรณ์แบบ จึงไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจผิดพลาด และสุดท้ายเมื่อลูกทำหรือเป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้ นอกจากจะนึกโทษตัวเองแล้ว ยังเผลอโกรธและตำหนิลูกอีกด้วย

นี่คือสัญญาณแรกที่พอจะบอกได้ว่า คุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าข่ายการเป็นพ่อแม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปแล้วล่ะค่ะ เพราะความจริงแล้วเด็กๆ ควรมีโอกาสได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองบ้าง และหากคุณพ่อคุณแม่ปิดกั้นไม่ให้ลูกคิดหรือลองทำอะไรใหม่ๆ เสียเลย ลูกก็จะกลายเป็นเด็กที่ขาดความกล้า ไม่มีความมั่นใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของลูกอย่างแน่นอน

2. ตามประกบลูกทุกเวลาและทุกฝีก้าว

Overprotective_web_2

เวลาปล่อยให้ลูกวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น หรือแม้แต่ห้องเพลย์กรุ๊ปของเด็กๆ ลองสำรวจตัวเองว่า คุณเป็นพ่อแม่ที่คอยเดินตามติดใกล้ชิดลูกตลอดเวลา และคิดเสมอว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกหกล้มละก็ จะต้องมีสองมือของคุณพ่อคุณแม่เข้าไปคว้าและประคองไม่ให้ลูกล้มได้ทันแน่ๆ

จริงอยู่ที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูกเป็นเรื่องจำเป็น แต่การตามประกบทุกฝีก้าวอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางจิตใจของลูกได้ ลูกจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะระวังอันตรายด้วยตัวเอง จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการล้ม และอาจจำเป็นต้องล้มอีกหลายครั้ง เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีเล่นอย่างปลอดภัย

3. ไม่ชอบให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น

Overprotective_web_3

ความในใจของพ่อแม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไป ก็คือความรู้สึกไม่สบายใจและไม่วางใจเมื่อลูกต้องทำกิจกรรมหรือใช้เวลาร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องอยู่ไกลจากสายตา เช่น ไปเล่นเกมบ้านเพื่อน หรือซ้อมกีฬาหลังเลิกเรียน และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะทำเสมอก็คือการปฏิเสธ ไม่อนุญาต และพยายามหากิจกรรมที่ลูกสามารถทำและอยู่ในสายตาพ่อแม่มานำเสนอ ทั้งที่รู้ดีว่ามันทดแทนกันไม่ได้

4. จัดการทุกอย่างจนไม่เหลือพื้นที่ส่วนตัวให้ลูก

Overprotective_web_4

พ่อแม่ที่ไม่ว่าลูกจะเติบโตแค่ไหน ก็ยังพยายามจัดการและคิดว่าตัวเองจำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในชีวิตลูก เช่น เข้าออกห้องส่วนตัวของลูกตามอำเภอใจ ห้ามลูกคบเพื่อนบางคน ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว และตัดสินใจแทนลูก เพราะเชื่อว่าการตัดสินใจของตัวเองดีที่สุดสำหรับลูกเสมอ

ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดว่าตัวเองเริ่มมีลักษณะตรงตามข้อใดข้อหนึ่งแล้วละก็ คงถึงเวลาที่เราจะมาปรับเปลี่ยนทัศนคติการเลี้ยงลูกของตัวเอง ให้ความรักและความหวังดีของพ่อแม่ ไม่กลายเป็นสิ่งปิดกั้นพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก จนทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด กดดัน และสูญเสียความเป็นตัวตนของตัวเองกันดีกว่านะคะ

อ้างอิง
verywellfamily
thematter
kendekthai
healthline

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST