การเลี้ยงลูกแบบแพนด้า (Panda Parenting) หมายถึง รูปแบบการเลี้ยงลูกแบบปล่อยวางและยึดหลักการไว้วางใจให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง
คำว่า Panda Parenting หรือ เลี้ยงลูกแบบแพนด้า ถูกพบครั้งแรกในหนังสือ How to Raise Successful People: Simple Lessons for Radical Results โดย Esther Wojcicki—ผู้เขียน ได้อธิบายไว้ว่า “การปล่อยวางและให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ขี้เกียจเลี้ยงลูก แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้มีอิสระ แทนที่จะคอยช่วยเหลือตลอดเวลา และพ่อแม่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อลูกๆ ต้องการเท่านั้น” ดังนั้น หัวใจสำคัญของการ เลี้ยงลูกแบบแพนด้า คือหมายถึงการเลี้ยงลูกที่เน้นให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตัวเอง และมีความเชื่อมั่นว่าแม้ทำผิดพลาด ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจ ให้อภัย และพร้อมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ จึงทำให้ลูกรู้สึกเป็นอิสระ แต่ไม่โดดเดี่ยวทางใจ และแน่นอนว่าการที่เราจะได้เด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน
หลักการ เลี้ยงลูกแบบแพนด้า
1. สนับสนุนแต่ไม่ทำแทนทุกอย่าง
![Panda_web_1 Panda_web_1](https://aboutmom.co/wp-content/uploads/2024/12/Panda_web_1-500x500.png)
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกประสบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผูกเชือกรองเท้าเองไม่ได้ ไม่ควรและไม่จำเป็นต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือหรือทำให้ลูกทันที แต่ควรที่จะเปิดโอกาสให้ลูกลองคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน
และคุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเฉพาะจุดที่จำเป็น เช่น การอธิบายแนวทางที่ง่ายขึ้น หรือการยกตัวอย่างเพื่อให้ลูกเข้าใจมากขึ้น โดยที่ลูกยังคงเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกฝนให้ลูกมีทักษะความมั่นใจและความสามารถในการพึ่งพาตัวเองต่อไปได้
2. ให้ลูกลองเผชิญความท้าทายบ้าง
![Panda_web_2 Panda_web_2](https://aboutmom.co/wp-content/uploads/2024/12/Panda_web_2-500x500.png)
เพราะการเลี้ยงลูกแบบแพนด้า ไม่ได้หมายถึงการปล่อยลูกตามลำพัง แต่คือการหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนและการให้อิสระ เพื่อปลูกฝังให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและมั่นใจในตัวเอง เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับความท้าทายบ้าง ไม่จำเป็นต้องกีดกันลูกจากสถานการณ์ที่ยากหรือน่ากลัวทุกครั้ง หากลูกอยากลองทำสิ่งใหม่ เช่น การเล่นเสี่ยง ปีนต้นไม้ หรือทำอาหาร โดยมีคุณพ่อคุณแม่ดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
Dr. Lilit Ayrapetyan นักจิตวิทยา กล่าวว่า การส่งเสริมความเป็นอิสระตามธรรมชาติ เด็กๆ จะเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง และรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเพื่อคอยสนับสนุนพวกเขา ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
3. ส่งเสริมความรับผิดชอบในตัวลูก
![Panda_web_3 Panda_web_3](https://aboutmom.co/wp-content/uploads/2024/12/Panda_web_3-500x500.png)
การฝึกให้ลูกมีหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นการสร้างระเบียบวินัยในระยะยาว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กด้วยการมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกทำ เช่น การเก็บของเล่น การทำการบ้านให้เสร็จตามเวลา หรือการช่วยงานบ้าน
4. เชื่อมั่นในศักยภาพของลูกเข้าไว้
![Panda_web_4 Panda_web_4](https://aboutmom.co/wp-content/uploads/2024/12/Panda_web_4-500x500.png)
แม้ว่าลูกอาจจะยังเด็กและมีความสามารถจำกัดในบางเรื่อง แต่ถึงอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มองว่าเขาอ่อนแอหรือทำไม่ได้ เพราะลูกจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ หากได้รับโอกาสที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ลูกต้องตัดสินใจ เช่น เลือกว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและถามความคิดเห็นของลูก เช่น “ลูกคิดว่าอยากลองไหม หรือถ้าไม่ลอง ลูกจะรู้สึกเสียดายทีหลังหรือเปล่า” แทนที่จะตัดสินใจแทนลูก สิ่งนี้ช่วยให้ลูกได้ฝึกการตัดสินใจและยอมรับผลจากสิ่งที่เลือกอีกด้วย
5. คุณพ่อคุณแม่เป็นที่ปรึกษาไม่ใช่ผู้ควบคุม
![Panda_web_5 Panda_web_5](https://aboutmom.co/wp-content/uploads/2024/12/Panda_web_5-500x500.png)
แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะสั่งหรือบังคับให้ลูกทำตามที่คุณต้องการ ลองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยให้คำแนะนำในฐานะผู้ให้คำปรึกษา เช่น หากลูกมีปัญหากับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะฟังสิ่งที่ลูกเล่าโดยไม่ตัดสิน และถามว่าเขาคิดว่าควรทำอย่างไร นอกจากนี้ยังควรพูดให้กำลังใจ เช่น “แม่เชื่อว่าลูกจัดการได้” หรือ “ลูกลองแบบนี้ไหม แล้วถ้าไม่ได้ผล เราค่อยหาวิธีใหม่ด้วยกัน” การเป็นกำลังใจให้ลูกแบบนี้ จะช่วยให้ลูกมั่นใจในตัวเองและรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมอยู่เคียงข้างเสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST