ทารกแรกคลอด ร่างกายก็จะยังไม่สามารถปรับสภาพให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้มากนัก คุณพ่อคุณแม่อาจจะพบว่าเบบี๋มักมีอาการตัวสั่น ตัวแดง ร้อนหรือหนาวง่ายกว่าคนทั่วไป การดูแลเบบี๋แรกคลอดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ยิ่งสำหรับคุณแม่มือใหม่ ถึงจะพยายามหาข้อมูลการเลี้ยงลูกมาเท่าไร แต่พอเจอสถานการณ์จริง ทฤษฎีที่ว่าแน่ก็ต้องแพ้ลูกกันแทบทุกราย ไหนจะข้อมูลที่อ่านมา ไหนจะคำแนะนำจากผู้หวังดีรอบข้างที่คอยบอกว่า ทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ได้ คุณแม่มือใหม่ก็ย่อมสับสนเป็นธรรมดา
แต่ที่แน่ๆ วันนี้ M.O.M มี 5 พฤติกรรมเลี้ยงเบบี๋ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง เพราะถึงแม้จะทำไปด้วยเจตนาที่ดี แต่ก็อาจเกิดอันตรายกับลูกได้
1. ให้ลูกนอนคว่ำ
การนอนคว่ำอาจทำให้ทารกนอนหลับสนิทและไม่ค่อยผวาตกใจตื่น แต่ปอดของทารกแรกคลอดยังไม่แข็งแรงและยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การนอนคว่ำจึงเป็นการกดทับปอดของลูกจนทำให้เสี่ยงกับโรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) ได้
และที่สำคัญ การนอนคว่ำยังเป็นอันตรายต่อทารกที่ยังไม่สามารถยกคอหรือหันหัวได้ด้วยตัวเอง เพราะลูกจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อรู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือเมื่อมีหมอนและผ้าห่มมาขัดขวางการหายใจของตัวเองดังนั้นทารกควรได้รับการจัดท่าให้นอนหงาน โดยไม่มีหมอนหรือผ้าที่ทารกสามารถคว้ามาปิดหน้าปิดตาได้อยู่ใกล้ตัวมากเกินไป
2. ปล่อยให้คนอื่นจูบและหอมแก้มลูก
คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้ดีว่าลูกของเราน่ารักและน่าเอ็นดูแค่ไหน แต่ต้องนึกไว้เสมอว่าทารกแรกเกิดยังคงร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานและภูมิคุ้มกันโรคก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทารกจึงมีโอกาสที่จะป่วยเพราะได้รับเชื้อโรคได้ง่าย
ซึ่งหนึ่งในพาหะที่นำเชื้อโรคมาสู่ทารกก็คือผู้ใหญ่ที่อยากเข้ามากอด หอมแก้ม หรือจุ๊บลูกน้อยด้วยความรักความเอ็นดูนั่นเอง
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรให้ใครเข้ามากอด หอม หรือสัมผัสลูกของเราโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องกำชับให้ทำความสะอาดมือและใบหน้าก่อนที่จะมาเล่นกับทารกทุกครั้ง
3. สวมเสื้อผ้าหนาให้ลูกมากเกินไป
ทารกแรกเกิดมักมีอาการหนาวสั่น จนคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามหาเสื้อผ้าหนาๆ ให้ลูกใส่ และยังมีผ้าหุ้มห่อตัวลูกเอาไว้อีกชั้น แต่การห่อตัวลูกด้วยเสื้อผ้าที่แน่นหนาเกินไป จะทำให้อากาศไม่ระบาย ลูกอาจจะร้อน เหงื่อออก และเป็นผดผื่นเพราะความอับชื้นแทนได้
ทางทีดี คุณพ่อคุณแม่จึงควรประเมินอากาศรอบตัวลูกเสมอว่าควรสวมใส่เสื้อผ้าแบบไหนให้เหมาะกับสภาพอากาศในเวลานั้นๆ
4. ปล่อยให้ลูกร้องไห้นานเกินไป
เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ว่าการปล่อยให้ลูกร้องไห้ โดยไม่เข้าไปอุ้มหรือโอ๋ เป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่
ความจริงแล้ว ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก (2-3 ปี) คุณพ่อคุณแม่จะปล่อยให้ลูกร้องไห้เพื่ออบรมหรือสอนให้ลูกสำนึกผิดบ้างก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่สำหรับทารกแล้ว ลูกยังเด็กเกินไปที่จะใช้วิธีปล่อยให้ลูกนอนร้องไห้เพื่อสำนึกผิด แต่การปล่อยให้ทารกนอนร้องไห้นานๆ โดยไม่มีคุณแม่เข้ามาปลอบโยน มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีจิตใจและอารมณ์ไม่มั่นคง พัฒนาการทางสมองช้าอีกด้วย ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นเบบี๋ร้องไห้งอแงแล้ว ควรรีบเข้าไปปลอบหรือตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้งอแงได้เลยนะคะ
5. ให้ลูกดูดจุกนมหลอก
หลายครั้งที่จุกนมหลอกเป็นเหมือนอุปกรณ์ที่ช่วยให้ลูกน้อยสงบและผ่อนคลายลงได้ แต่ช่วงวัยของลูกที่เหมาะต่อการให้จุกนมหลอกนั้นก็สำคัญ
โดยปกติแล้วคุณหมอจะยังไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้จุกนมหลอกในเด็กแรกเกิด แต่สามารถใช้ได้เมื่อเขาอายุ 2 เดือนขึ้นไปเท่านั้นนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST