คำพูดของคุณพ่อคุณแม่บางคำ บางประโยคที่คิดว่าดี มีประโยชน์สำหรับลูก แต่การพูดบ่อยๆ หรือย้ำมากไปอาจส่งผลเสียกับลูกได้อย่างคาดไม่ถึง
1. หนูเก่งจังเลย สุดยอดที่สุด

คำชมเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนอยากได้ยิน แต่หากคุณพ่อคุณแม่กล่าวชื่นชมลูกบ่อยเกินไป เช่น ชมในสิ่งที่ลูกต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้วมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดคำชม ต้องได้รับคำชมหรือเยินยอก่อนถึงจะลงมือทำ หรืออาจจะรู้สึกว่าการชื่นชมของคุณพ่อคุณแม่ เป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย
คำที่ควรพูด: คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวคำชม เมื่อเห็นถึงความตั้งใจหรือความพยายามของลูก และอาจใช้คำพูดอื่นแทนบ้างในบางครั้ง เช่น ลูกมีความตั้งใจมากเลย, แม่ดีใจมากที่เห็นลูกกินข้าวเองได้, รูปที่หนูวาดสวยมากเลย
2. คนเก่งเขาไม่ร้องไห้กันนะ

เมื่อลูกได้ยินคำพูดแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้ลูกคิดว่าคนที่ไม่เสียใจหรือคนที่ไม่เคยร้องไห้ คือคนเก่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ซึ่งอาจจะกลายเป็นการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านอารมณ์และการเรียนรู้ ส่งผลให้เมื่อโตขึ้นไม่สามารถแสดงออกทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ได้
คำที่ควรพูด: แทนที่จะห้ามลูกแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง เช่น ถามว่า ‘ลูกเสียใจใช่ไหมที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้…’ เมื่อลูกรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญหน้าอยู่คือความเสียใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถพัฒนาความรู้สึกและอารมณ์ของลูกไปในทางบวกได้
3. ไม่เป็นไรนะลูก แค่นี้เอง

คุณพ่อคุณแม่หลายคนเลือกที่จะไม่ให้ลูกวิตกกังวลกับสถานการณ์เลวร้ายที่ลูกกำลังเผชิญ จึงพยายามปลอบลูก ด้วยการบอกว่าเรื่องแค่นี้… ’ ซึ่งมักจะสวนทางกับความรู้สึกที่แท้จริงของลูกเป็นอย่างมาก
คำที่ควรพูด: เช่น เมื่อลูกหกล้ม แล้วร้องไห้งอแง แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะปลอบด้วยการบอกว่า เรื่องแค่นี้ ควรแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจและอยากให้เขารับมือกับความเจ็บปวดนั้นด้วยการโอบกอดและบอกกับลูกว่า “ล้มแบบนี้ลูกเจ็บหน่อยนะ” แล้วสอนให้ลูกระมัดระวังตัวมากขึ้น
4. ห้ามคุยกับคนแปลกหน้า

เด็กเล็กยังไม่เข้าใจว่าคนแปลกหน้าคือใคร ส่งผลกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร ในขณะเดียวกันเด็กบางคนเข้าใจว่าให้ระวังคนแปลกหน้า แต่ไม่สามารถแยกคนดีกับคนร้ายได้ เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ลูกไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากหมอ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ
คำที่ควรพูด คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า คนแปลกหน้าคือคนไม่ดี และสมมติสถานการณ์เพื่อให้ลูกเข้าใจง่ายขึ้น เช่น “คนที่บอกลูกว่าจะให้ขนม และชวนกลับบ้านด้วย” และสอนวิธีรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ รวมถึงสอนลูกให้บอกกับพ่อแม่ทันทีเมื่อเจอคนที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว
5. เร็วๆ เข้า แม่รีบ!

ช่วงเวลาเร่งรีบในตอนเช้า คุณพ่อคุณแม่เร่งให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้ลูกเครียดตั้งแต่เริ่มวันใหม่ และมีผลกับอารมณ์ของลูกตลอดทั้งวัน
คำที่ควรพูด: คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนคำพูดใหม่ และใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน เช่น “เรามาทำอะไรให้เร็วขึ้นกันเถอะ” หรือสร้างบรรยากาศสนุกๆ ด้วยการเล่นเกม เช่น “มาเล่นเกมแข่งแต่งตัวกัน ใครแต่งตัวเสร็จก่อนชนะ”
COMMENTS ARE OFF THIS POST