READING

เมื่อหน้าที่คุณพ่อก็สำคัญ: คุณแม่มีวันลาคลอดแล้ว ค...

เมื่อหน้าที่คุณพ่อก็สำคัญ: คุณแม่มีวันลาคลอดแล้ว คุณพ่ออยากลาบ้างได้ไหม?

เมื่อว่าที่คุณแม่เข้าสู่ช่วงเวลาใกล้ที่จะคลอดเจ้าตัวน้อยเต็มที ก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการเตรียมตัวและจัดการทุกอย่างให้พร้อม

‘การลาคลอด’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เหล่าคุณแม่วัยทำงานจะต้องจัดการวางมือจากเรื่องงานเพื่อพักฟื้นร่างกายและทำหน้าที่ดูแลลูกน้อยในช่วงเวลาสามเดือนแรกที่สำคัญมากสำหรับลูก แต่เอ๊ะ… แล้วคุณพ่อผู้เป็นกำลังใจและผู้ช่วยคนสำคัญของคุณแม่ล่ะ พวกเขาอยู่ตรงส่วนไหนในช่วงเวลานั้น

เชื่อได้ว่า ใครหลายคนอาจลืมนึกถึงบทบาทและหน้าที่ของคุณพ่อที่มีต่อครอบครัวไม่น้อยกว่าคุณแม่ จนอาจมองข้ามความสำคัญของวันลางานของคุณพ่อไป ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการลางานของคุณพ่อในช่วงวันคลอดของภรรยามากขึ้น (และในบางประเทศก็ยังมีการลาเพื่อเลี้ยงดูลูกหลังจากนั้น)

เพราะงานเลี้ยงลูกไม่ได้เป็นหน้าที่ของคุณแม่เท่านั้น หากคุณพ่อสามารถจัดสรรเวลาเข้ามาช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูลูกได้ ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ลดความเหนื่อยและตึงเครียดของคุณแม่ได้ รวมทั้งคุณพ่อก็จะมีช่วงเวลาที่ได้อยู่กับลูกอย่างเต็มที่และเนื่องในเดือนแห่งวันพ่อนี้ เราลองยกเอาตัวอย่างการอนุญาตให้คุณพ่อลางานในช่วงวันคลอดของภรรยาในประเทศต่างๆมาให้ดูเป็นแนวทาง เผื่อว่าวันหนึ่งบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยจะนำมาปรับใช้ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ดีใจไปพร้อมกันค่ะ

ไอซ์แลนด์ ประเทศแห่งคุณพ่อดีเด่น

Maternityleave_1 (1)

ประเทศไอซ์แลนด์มีกฏหมายให้คุณพ่อสามารถลางานในช่วงวันคลอดของภรรยาได้ 3 เดือน ซึ่งงานวิจัยของประเทศไอซ์แลนด์นี่แหละ ที่บอกว่าการที่คุณพ่อลางานไปช่วยคุณแม่ดูแลลูก ทำให้คุณแม่สามารถฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเองได้เร็วกว่าปกติ และเป็นผลดีทำให้คุณแม่สามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังกล่าวอีกว่าคุณพ่อประเทศไอซ์แลนด์ เป็นคุณพ่อที่สุดจะแข็งแกร่ง แถมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมากๆ โดยเขาก็คาดการณ์กันว่าเป็นผลจากการให้คุณพ่อมีวันลาเพื่อดูแลลูกได้อย่างยาวนาน จึงทำให้ได้เลี้ยงลูกและใช้เวลาร่วมกับลูกมากขึ้น

และในแง่ของสังคมยังถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ เพราะหน้าที่ของการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่เป็นหน้าที่ของแม่เพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นหน้าที่อันสำคัญของทั้งพ่อและแม่ไปพร้อมกัน

ฟินแลนด์ประเทศแห่งสวัสดิการสำหรับครอบครัวและเด็ก

Maternityleave_2

อย่างที่รู้กันดีว่าประเทศฟินแลนด์นั้นมีสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัวดีมาก เช่น การแจกกล่องแรกเกิดอย่าง Kela box (สามารถตามไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Kela box ได้ที่ : https://aboutmom.co/features/kela-box/14723/) เพราะประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอย่างมาก และต้องการให้เด็กซึ่งจะต้องเป็นอนาคตของประเทศได้เขาได้เติบโตอย่างมีพัฒนาการและมีความสุขควบคู่กันไป

คุณพ่อฟินแลนด์มีวันลาสำหรับดูแลบุตรทั้งหมด 54 วัน หรือ 9 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นวันลาพร้อมการลาคลอดของภรรยาได้ 18 วัน หรือ 3 สัปดาห์ และสามารถลาเพื่อดูแลบุตร อีก 6 สัปดาห์ (ไม่ต่อเนื่องกัน) โดยในระหว่างการลารัฐบาลฟินแลนด์ก็จะจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้กับคุณพ่อ ไม่ว่าคุณพ่อจะพนักงานบริษัท เป็นฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของบริษัทก็สามารถเรียกรับเงินเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้ได้ทั้งหมดค่ะ

นอกจากนั้น ในปี 2556 ประเทศฟินแลนด์ยังมีแคมเปญ ‘It’s Daddy Time’ เพื่อรณรงค์ให้คุณพ่อใช้ช่วงวันลามาอยู่ร่วมกับภรรยาและลูกได้อย่างเต็มที่ และยังมีเว็บไซต์ที่เปิดให้คุณพ่อเข้ามาพิมพ์เล่าความรู้สึกและเรื่องราวระหว่างพ่อลูก เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าการลางานในช่วงแรกคลอดของภรรยามันดีแะสำคัญต่อคุณพ่ออย่างไร เพื่อเชิญชวนให้คุณพ่อทั้งหลายยอมลางานเพื่อมาอยู่กับลูกมากขึ้น

 มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ทำไมวันหยุดงานของคุณพ่อจึงมีความสำคัญกับประเทศเขาถึงขนาดที่ต้องมีทั้งการปฏิรูปกฏหมายและสร้างแคมเปญนี้ขึ้น ก็เป็นเพราะว่า ช่วงปีนั้นประเทศฟินแลนด์มีประชากรคุณพ่อมากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากถึงร้อยละเก้าสิบของเหล่าคุณพ่อที่ทำงานเป็นหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน โดยลูกของพวกเขายังไม่เข้าโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ นั้นหมายความว่าคุณพ่อจะมีเวลาช่วยเลี้ยงลูกเล็ก  หรืออยู่กับลูกในเวลาที่น้อยเอามากๆ

ประเทศสิงคโปร์ก็มีนะ

Maternityleave_3

ลองมาดูประเทศใกล้ๆ กับเราอย่างสิงคโปร์กันบ้างดีกว่า

สิงคโปร์มีกฏหมายให้คุณพ่อลาคลอดได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถเริ่มลาได้ภายใน 16 สัปดาห์แรกหลังจากลูกคลอดและรัฐบาลยังมอบเงินช่วยเหลืออีก $2,500 ต่อสัปดาห์ ไปจนหมดวันลาของคุณพ่อค่ะ ซึ่งบอกก่อนว่าคุณพ่อที่เป็นทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นฟรีแลนซ์ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือนี้เช่นเดียวกัน

แล้วประเทศไทยละเป็นอย่างไร?

Maternityleave_4

อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อยเลยว่า แล้วประเทศไทยมีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลาเลี้ยงดูบุตรของคุณพ่อเช่นเดียวกับประเทศอื่นหรือไม่ บอกเลยว่ามีค่ะ แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกฏหมายที่ครอบคลุมสำหรับคุณพ่อทุกอาชีพชัดเจน

โดยหลังจากคุณแม่คลอดลูกออกมา คุณพ่อที่ทำงานเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างราชการ จะสามารถลาคลอดได้ 15 วัน ซึ่งต้องลาภายใน 30 วัน และจะต้องแนบหลักฐานสำเนาทะเบียนสมรส สำเนาสูติบัตรของบุตร เพื่อให้สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ แต่หากลาก่อน หรือลาเกินกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจจากผู้บังคับบัญชาในตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปค่ะ

ส่วนคุณพ่อที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน ก็จะเป็นการทำการตกลงเองกับบริษัท จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่การตกลงค่ะ

M.O.M ลองสำรวจความคิดเห็นของคุณพ่อยุคใหม่จากหลากหลายอาชีพกันดู ว่าปัจจุบันแล้วพวกเขามีวันลาเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ อย่างไร และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของวันลาเลี้ยงดูบุตรของคุณพ่ออย่างไรบ้าง

คุณพ่อธิติพงศ์ พิบูลกุลสัมฤทธิ์ อายุ 35 ปี / เจ้าหน้าที่ของรัฐ
น้องจักรวาล 3.1 ขวบ

Maternityleave_5

ลาได้สองอาทิตย์ ที่เหลือใช้ลาพักร้อนเอา จริงๆ คิดว่าไม่พอนะ อยากให้ลาได้สักสองเดือน หรือให้ทำงานที่บ้านก็ได้ เพราะมันโคตรสำคัญเลย ยิ่งลูกคนแรกนี่กังวลมากเลยนะ มันไม่ใช่แค่ห่วงชีวิตเดียว เราห่วงตั้งสองชีวิตเลยแล้วอีกอย่างเราก็ต้องคอยสแตนด์บายกับทุกเรื่องที่มันจะเกิดหรือจะไม่เกิดด้วย ยิ่งช่วงใกล้คลอด คนท้องดูแลตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว ยังต้องกังวลลูกในท้องอีก มันไม่ใช่แค่เตรียมของให้แล้วจบ เรื่องจิตใจนี่สำคัญที่ต้องดูแลกันในช่วงเวลาแบบนั้นเลย

คุณพ่อปรัชญา สิงห์โต อายุ 37 ปี / เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
น้องนิทาน 7 ขวบ และน้องเวลา 5 ขวบ

 

Maternityleave_6

ที่บริษัทไม่มีพนักงานชาย… แต่ถ้าตอบในฐานะตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ คิดว่าถ้ามีก็ดี ตามหลักแล้ว นอกจากวันลาตอนคลอดและหลังคลอด ก็ควรลาต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็ให้เป็นสิทธิพิเศษบางอย่างต่ออีกหน่อย และถ้าถามว่าพ่อควรลาในช่วงแม่คลอดไหม ก็ควร เพราะยังไงพ่อก็สำคัญมาก แม่ลูกอ่อนเลี้ยงลูกคนเดียวลำบากมาก ต้องช่วยกันสองแรง

คุณพ่อนทธัญ แสงไชย อายุ 32 ปี / พนักงานบริษัทเอกชน
น้องปุญญ์ 1 ขวบ

Maternityleave_7

คือภรรยาคลอดก่อนที่จะย้ายมาทำงานที่ปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีนะวันลาสำหรับคุณพ่อ ตอนนั้นก็อยากช่วยแฟนเลี้ยงลูก เลยคุยกับบริษัทขอย้ายแผนก และ work from home 3-4 เดือน คิดว่ามันเป็นเรื่องที่คุยกันได้ และเห็นด้วยนะกับการมีวันลาของคุณพ่อ เพราะบางทีคนส่วนใหญ่อาจคิดว่าพ่อไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก แต่จริงๆ มันจำเป็นนะ เพราะผู้หญิงหลังคลอดส่วนมากจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเยอะ และการที่คุณพ่อเข้ามาช่วยคุณแม่ก็ถือว่าช่วยมากๆ จริงๆ คุณพ่อควรได้รับวันลาคลอดสัก 3 เดือนก็ดีนะ

คุณพ่อนเรนทร์ สันติกุลานนท์ อายุ 38 ปี / ศัลยแพทย์ประจำ รพ. ตำรวจ
น้องสกาย ​อายุ 5 เดือน

Maternityleave_8

มีวันลานะครับตามกรอบของราชการที่ให้ลาจะเป็น 15 วันทำการรวมกับเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดราชการ คือถ้าคิดในกรณีที่เลี้ยงดูตามลำพัง (เรากับภรรยา) ควรจะลาได้ 2 เดือนนะ แต่ถ้ามีคนช่วยเลี้ยงเท่านี้ก็โอเค

การลาของคุณพ่อนี่สำคัญมากๆ หลังคลอดตัวคุณแม่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่ว่าจะทางกายภาพ แน่นอนว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จะทำอะไรมันไม่ค่อยสะดวก น้ำนมที่มาแบบมหาศาลรวมทั้งอาการคัดเต้านมปวดแบบทรมาน พักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องตื่นนอนทุก 3 ชั่วโมง เพื่อมาให้นมลูกหรือปั๊มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อาบน้ำให้ลูก ซึ่งคนที่ไม่เคยทำมาก่อนจะลำบากมาก ยังมีอื่นๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละครอบครัวอีกนะ เช่น อยู่บ้าน อยู่คอนโด

ต่อมาทางจิตใจ หลังคลอดทุกคนจะมีภาวะ postpartrum blue หรือ ซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากการลดระดับของฮอร์โมนที่เร็วเกินไปหลังคลอด ทำให้เกิดความเครียด คิดมาก ซึมเศร้า หดหู่ ถ้าเบาๆ หน่อย เช่น สามีไปทำงานแล้วอยู่บ้านคนเดียวกับลูกก็หดหู่แล้วร้องไห้  หรือหนักมากก็อาจมี suicidal idea ซึ่งภาวะนี้มักจะหายไปประมาณ 1 เดือนหลังคลอด

อย่างสุดท้ายคือทางสังคม คือการจะต้องรับแรงกดดันจากพ่อตาแม่ยาย  ญาติทั้งหลาย ที่มาวุ่นวายกับการเลี้ยงลูก เช่น จับนอนคว่ำสิ กินน้ำตามหลังกินนมด้วยสิ มากดดันว่าทำไมนมแม่มาน้อยจังลูกจะอิ่มเหรอ ทำไมต้องกินนมผงไม่กินนมแม่ เยอะแยะร้อยแปดอย่างวุ่นวายสุดๆ

ลองคิดดูว่าถ้าคุณแม่ต้องรับมือสภาวะแบบนี้ด้วยตัวคนเดียวจะเกิดอะไรขึ้น จึงจำเป็นต้องมีคุณพ่อมาเป็นเบาะรับแรงกระแทก เป็นคนเจรจา เป็น supporter ที่ดี

คุณพ่อธีรนัย ทองไหม อายุ 32 ปี / รับราชการตำรวจ
น้องโชกุน 5 ขวบ และน้องโชกี้ 2 เดือน

Maternityleave_9

ตามปกติมีให้คุณพ่อสามารถลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงบุตรหลังคลอดได้ 15 วัน แต่ถ้าถามว่าพอไหมกับวันลาเท่านี้ก็คือไม่พอ การลาของพ่อสำคัญนะ เนื่องจากภรรยาเหนื่อยล้าจากการคลอดบุตร สามีก็จะได้ช่วยเลี้ยงได้

คุณพ่อชวาลชัย ชัยขจร อายุ 37 ปี / เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
น้องเอิ๊นเอิ๊น 5 ขวบ และน้องไอ่ไอ๋ 1 ขวบครึ่ง

Maternityleave_10

พอดีเป็นเจ้าของกิจการเอง ที่บริษัทยังไม่เคยจัดวันลาให้พ่อที่ภรรยาเพิ่งคลอด แต่ตัวผมตอนภรรยาคลอดก็ลาไปช่วยเลี้ยงลูกช่วง 1 เดือนแรกครับ ถ้าให้คิดจริงๆ อยากให้รัฐจัดวันลาให้กับคุณพ่อที่เข้าประกันสังคม สัก 1 เดือนยิ่งดี เพราะการลาของคุณพ่อช่วยได้มากในการได้เริ่มต้นทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและเสริมสร้างความอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกได้เป็นอย่างดี

คุณพ่อชูพร รัตนสุวรรณ์ อายุ 31 ปี / พนักงานรัฐวิสาหกิจ
น้องฌอณ 10 เดือน

Maternityleave_11

บริษัทมีลาได้ 15 วัน แต่ถ้าให้พูดคือมันไม่พอนะ อย่างน้อยต้องสัก 1 เดือน ให้พ้นระยะซึมเศร้าของแม่ก่อน คือการลาของคุณพ่อมันสำคัญทั้งช่วยเป็นกำลังใจให้แม่หลังคลอด แบ่งเบางานอย่างอื่นช่วงที่แม่ต้องให้นมเด็ก เพื่อให้แม่ไม่เครียดจะได้มีน้ำนม คอยรับส่งในที่ต่างๆ เพราะในช่วงเดือนแรกหลังคลอดอาจต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ

คุณพ่อมารุต พิพิธผลารักษ์ อายุ 37 ปี / มัณฑนากรอิสระ
น้องพราว 4 เดือน

Maternityleave_12

จะลาตอนไหนก็ได้ แค่แบ่งเวลาทำงานส่งงานตามกำหนดการให้ตรงเวลา จริงๆ อยากให้มีเบี้ยเลี้ยงขณะลูกคลอด เพราะเราไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มเวลาเหมือนเดิม และการลาของพ่อสำคัญนะ เพราะเราต้องช่วยเบาภาระในการเลี้ยงลูกแทนภรรยา ในตอนที่เค้าต้องพักผ่อน (ช่วง 1-2 เดือนแรกสำคัญมาก)

คุณพ่อแบงค์ ณัฐชนน อายุ 34 ปี / เจ้าของบริษัทเอกชน
น้องชิม 3 ขวบ

Maternityleave_13

ไม่มีวันลาของพ่อนะ เพราะจริงๆ ไม่ได้คิดไว้ แต่ถ้าลาได้ก็ให้ลา และคงให้ไปอยู่ดูแลลูกก่อน จะ work from home ก็ได้ แต่คิดว่าพ่อควรจะต้องอยู่ดูแลแม่กับลูกอย่างน้อย 90 วันเหมือนกัน

คุณพ่อฑาห์กร รชตะนันทน์ อายุ 33 ปี / รับราชการ
น้องสกาย 2 ขวบ และน้องโอเชี่ยน 1 เดือน

Maternityleave_14

ตามระเบียบเลยพ่อสามารถลาได้ 15 วันครับ แต่เอาจริงๆ ไม่มีใครลาได้ตามนั้นเลย เพราะงานตามตัวเยอะมาก ปกติเหลือลากันไม่เกิน 7 วัน คือการลาคลอดของคุณพ่อนี่สำคัญมากนะ โดยเฉพาะลูกคนแรก พ่อแม่มือใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกเล็ก โดยเฉพาะแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาเพิ่มอีก พ่อสามารถช่วยทั้งแม่และลูกในช่วงนี้ได้มาก

คุณพ่อนวฤทธิ์ อารยวุฒิกุล / พนักงานประจำบริษัทเอกชน
น้องริต้า 2 ขวบ

Maternityleave_15

ที่บริษัทไม่มีลาของคุณพ่อครับจะใช้เป็นการลาพักร้อนเอา คือเขาจะให้ลาช่วงภรรยาเพิ่งคลอดลูกอยู่โรงพยาบาล ถ้าถามวันลาพอไหมก็คงไม่พอ ส่วนตัวเราว่า ช่วงอาทิตย์แรก หรือสองสัปดาห์หลังกลับจากโรงพยาบาล ถ้ามีลาคลอดของคุณพ่อก็จะดีมากๆ หรือระบบจะใช้เป็น work at home แทนก็ได้นะ อาจจะเพราะส่วนตัวชอบทำงานด้วย แต่ก็นั้นแหละครับถ้าลาได้ก็ดี จะได้แบ่งเบาภรรยา ช่วยจิตใจภรรยาได้ไม่มากก็น้อย

คุณพ่อปณัยณัฐ อินทราวุธ อายุ 31 ปี / พนักงานประจำบริษัทเอกชน
น้องพิพพา 2 ขวบ 5 เดือน

Maternityleave_16

ที่ทำงานไม่มีวันลาของพ่อครับ ต้องใช้วันลาพักร้อน จริงๆ อยากให้มี paternity leave เป็นกฎหมายเลย อาจจะไม่เทียบเท่ากับของแม่ แต่ก็ควรจะมี หากได้ 1 เดือนน่าจะดีมาก เพราะว่ามันสำคัญมากนะ การมีลูกเป็นเรื่องของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกที่ทั้งครอบครัวต้องปรับตัวมาก ต้องเจอกับความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงดูลูก และความเครียดจากการไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ทำแล้วถูกหรือไม่

แม้ว่าคุณแม่อาจจะรับบทหนักกว่า แต่การที่คุณพ่อมีวันลาจะเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อจะได้ช่วยแบ่งเบาทางกายและ support ทางใจให้คุณแม่ ได้สร้างสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับลูกน้อย รวมไปถึงได้ฝึก skills ในการเลี้ยงลูกด้วย จะได้สามารถสลับให้คุณแม่ทำธุระหรือพักผ่อนได้บ้าง

 

 

 

อ้างอิง
mol
moneykapook
sanook
eurasia
localnewsingapore
kela
slideshare
nordiclabourjournal

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST