READING

4 ข้อสงสัยเกี่ยวกับ กฎหมาย PDPA ที่คุณพ่อคุณแม่ควร...

4 ข้อสงสัยเกี่ยวกับ กฎหมาย PDPA ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

กฎหมาย PDPA

คุณพ่อคุณแม่น่าจะเริ่มได้ยินคำว่า กฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหลายคนเป็นกังวลว่าจะส่งผลต่อไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของมนุษย์พ่อมนุษย์แม่ ที่รักการถ่ายรูปและคลิปของลูกเป็นชีวิตจิตใจ

เมื่อได้ยินคนพูดกันว่า การถ่ายรูปหรือคลิปแล้วติดคนอื่นจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ทำให้หลายคนไม่สบายใจและกลัวว่าต่อไปจะถ่ายรูปลูกในที่สาธารณะได้หรือเปล่า ถ้าถ่ายมาแล้วติดคนอื่นด้วยจะทำอย่างไรกันดี

เรามาชวนคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกฎหมายฉบับนี้และทำความเข้าใจทั้งข้อจำกัดและไม่จำกัดไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

1. กฎหมาย PDPA คืออะไร

PDPA_web_1

กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้ถูก ‘จัดเก็บ’ หรือ ‘นำไปใช้’ ซึ่งหมายถึงการเผยแพร่และเปิดเผยในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือคลิปวิดีโอ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล รวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวไปทำให้เจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย

มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

2. ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) หมายถึงอะไรบ้าง

PDPA_web_2

ข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง ข้อมูลเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถระบุตัวตน (หรืออาจระบุตัวตนของ) ของบุคคลนั้นได้ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ลายนิ้วมือ ข้อมูลพันธุกรรม วันเกิด ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลการแพทย์ ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ

3. โทษของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

PDPA_web_3

โทษของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. โทษทางอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. โทษทางแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายจริง

3. โทษทางปกครอง: ปรับไม่เกิน 1, 3, และ 5 ล้านบาท

4. พ่อแม่หลายคนสงสัย ถ่ายรูปลูกแต่ติดคนอื่นนำมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย จะผิดกฎหมาย PDPA หรือเปล่า

PDPA_web_4

หากตั้งใจถ่ายรูปหรือคลิปลูก แต่ติดคนอื่นเข้ามาโดยไม่เจตนาทำให้เกิดความเสียหาย และไม่ได้นำภาพหรือคลิปที่ได้ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย PDPA

แต่หากบุคคลที่ปรากฎในภาพหรือคลิปไม่ประสงค์ให้มีรูปของตน ก็มีสิทธิที่จะแจ้งให้นำรูปหรือคลิปนั้นออกจากโซเชียลมีเดียได้เช่นกัน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทำการขออนุญาตบุคคลที่ปรากฎในภาพหรือคลิป ก็ควรทำการเบลอหน้าหรือข้อมูลส่วนบุคคลของคนนั้นก่อนนำมาเผยแพร่ทุกครั้งนะคะ

(อ่านบทความเกี่ยวกับการโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

อ้างอิง
pdpa.pro
dporuler
thansettakij
t-reg

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST