Perfectionist คือลักษณะที่ใช้เรียกคนที่คิดว่าทุกอย่างในโลกนี้ต้องสมบูรณ์แบบ หรือคนที่มีลักษณะนิสัยปรารถนาความสมบูรณ์แบบทั้งจากตัวเองและคนอื่น พยายามใช้ชีวิตไม่ให้มีข้อผิดพลาด
หากทำอะไรได้ไม่ดีพอหรือไม่ได้ตามมาตรฐานของตัวเองแล้วก็จะรู้สึกกังวล ไม่พอใจ รวมถึงทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายกว่าคนอื่นนอกจากจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิด เจ้ากี้เจ้าการ ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เครียดจนความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดในสมองแตกได้
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะไม่ทันระวังว่าความปรารถนาดีและการเลี้ยงดูที่ผิดวิธีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังและผลักดันให้ลูกมีโอกาสเป็นเด็ก Perfectionist ได้
เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาลองสำรวจตัวเองกันดูว่าเรามีลักษณะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้กลายเป็นเด็ก Perfectionist หรือเปล่า
1. พ่อแม่ที่คาดหวังสูง

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมมีความคาดหวังในตัวลูก แต่ความคาดหวังที่มากเกินไป เช่น กดดันให้ลูกเรียนให้ได้ผลการเรียนสูงที่สุด ต้องทำคะแนนเป็นที่หนึ่งของห้อง เพื่อเปิดโอกาสไปสู่การประกอบอาชีพที่ดีในอนาคต แต่ความคาดหวังนั้น จะเป็นทำให้ลูกไม่มีความสุขกับการเรียนหนังสือ กดดันตัวเอง กลัวความล้มเหลว เพราะกลัวว่าจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
2. พ่อแม่ที่ทำให้ความผิดพลาดของลูกเป็นเรื่องใหญ่

พ่อแม่ที่ใส่อารมณ์หรือโวยวายเมื่อลูกทำผิดพลาด รวมไปถึงการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าใจว่าความผิดพลาดของเขาเป็นเรื่องร้ายแรงที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจให้อภัยได้ และเขาจะใช้ชุดความคิดนี้ในการดำเนินชีวิตต่อไปจนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดทั้งของตัวเองและของคนอื่น
3. พ่อแม่ที่ไม่มีความยืดหยุ่นทางความคิด

คุณพ่อคุณแม่ควรลองสำรวจตัวเองดูว่า หากมีเหตุการณ์อะไรที่อยู่นอกเหนือไปจากการควบคุมหรือแผนการที่วางไว้แต่แรก คุณพ่อคุณแม่มักจะแสดงอาการวิตกกังวล กระวนกระวาย ควบคุมตัวเองไม่ได้ เผลอหงุดหงิดใส่ลูกบ้างหรือเปล่า
เพราะลูกจะซึบซับพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ไม่แสดงถึงการพยายามควบคุมสถานการณ์หรือแก้ปัญหาด้วยความใจเย็น ลูกก็จะกลายเป็นเด็กที่วิตกกังวลง่ายเมื่อเจอปัญหา ไม่รู้วิธีรับมือหรือแก้ไข จึงพยายามป้องกันตัวเองด้วยการทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์แบบที่สุด โดยไม่เผื่อใจรับความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นได้
4. พ่อแม่ที่มีระเบียบและเจ้ากฎเกณฑ์มากเกินไป

ครอบครัวที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่เจ้าระเบียบ มีกฎหรือข้อห้ามมากมาย ใช้อภิสิทธิ์ความเป็นพ่อแม่เข้าไปก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของลูก เช่น กำหนดว่าอะไรต้องวางตรงไหนไม่เว้นแม้แต่ในห้องส่วนตัวของลูก หรือคอยเข้าไปตรวจตราพื้นที่ส่วนตัวของลูกมากเกินไป ก็มีโอกาสทำให้ลูกเรียนรู้นิสัยเจ้าระเบียบและเจ้ากฎเกณฑ์นี้ไปใช้ โดยลืมนึกถึงการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นไปด้วย
5. พ่อแม่ที่คอยบอกลูกว่า ชีวิตที่ดีคือการอยู่ในกรอบที่พ่อแม่สร้างไว้

เพราะความหวังดี ทำให้คุณพ่อคุณแม่พยายามสร้างกรอบกติกาที่เข้มงวดและเคร่งครัดกับชีวิตลูกมากเกินไป ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
เด็กที่โตมากับการที่คุณพ่อคุณแม่ดูแลให้อยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด เมื่อพบว่าโลกภายนอกไม่เหมือนกรอบที่ครอบครัววางไว้ให้ อาจเกิดปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับคนอื่น ไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจอะไรเองได้ และเพื่อความปลอดภัย ลูกจะคอยทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกเท่านั้น
6. พ่อแม่ที่เอาความสุขของตัวเองไปผูกติดกับความสำเร็จของลูก

ลูกทุกคนอยากทำให้พ่อแม่มีความสุข แต่การที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกเข้าใจว่า พ่อแม่จะมีความสุขได้เมื่อลูกประสบความสำเร็จ เช่น แข่งกีฬาชนะ สอบได้ที่หนึ่ง สอบเข้าโรงเรียนที่ดีได้ จะทำให้ลูกกดดันตัวเอง เพราะอยากให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข และความกดดันนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง เมื่อลูกไม่กล้ายอมรับความผิดหวังหรือทำอะไรแล้วไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจ
COMMENTS ARE OFF THIS POST