READING

บุคลิกเฉพาะตัว : 5 แนวทางสนับสนุนบุคลิกเฉพาะตัว (p...

บุคลิกเฉพาะตัว : 5 แนวทางสนับสนุนบุคลิกเฉพาะตัว (personality) ของลูก

บุคลิกเฉพาะตัว

เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับบุคลิกเฉพาะตัว ที่ทำให้มีพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เด็กบางคนชอบเล่น ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ แต่เด็กบางคนก็ชอบทำอะไรคนเดียวเงียบๆ จนเหมือนไม่ค่อยอยากเล่นกับคนอื่น

สิ่งสำคัญก็คือเมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติและพื้นฐานของลูกแล้ว ก็ควรหาทางส่งเสริม บุคลิกเฉพาะตัว และปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะกับตัวตนและธรรมชาติของลูก เพื่อประโยชน์ของลูกในระยะยาว

งานวิจัยหลายฉบับระบุตรงกันว่า เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่เข้าใจ ยอมรับ และรู้วิธีส่งเสริม บุคลิกเฉพาะตัว ของลูก มีแนวโน้มจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจ รู้จักตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และสามารถเข้ากับคนอื่นในสังคมได้ดี

เราจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักบุคลิกเฉพาะตัวแต่ละประเภท เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและหาวิธีการส่งเสริมลูกได้อย่างเหมาะสม

1. เด็กร่าเริง ชอบเข้าสังคม (Extrovert)

personality_web_1

เด็กกลุ่มนี้มักมีพลังงานสูง ร่าเริง เปิดเผย ชอบพูดคุย ชอบเข้าสังคม และมักมีเพื่อนเยอะ ลูกจะรู้สึกสดชื่นเมื่อได้อยู่ท่ามกลางผู้คน ชอบเข้าร่วมกิจกรรม เป็นเด็กที่มีพลังงานจนมักจะกลายเป็นจุดสนใจในกลุ่ม คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมบุคลิกแบบนี้ได้ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้เข้าสังคมอย่างเหมาะสม เช่น พาลูกเข้าร่วมกิจกรรมที่ลูกสนใจเป็นประจำ หรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีบุคลิกแบบนี้อาจต้องการการฝึกฝนเรื่องการฟังและการเคารพพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น เพราะความกระตือรือร้นของลูกอาจทำให้ชอบพูดมากกว่ารับฟัง จนอาจกลายเป็นเด็กที่ชอบแย่งพูด พูดแทรก หรือรุกล้ำขอบเขตของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักหยุดฟังและให้โอกาสคนอื่นพูดแสดงความคิดเห็นบ้าง ก็เป็นทักษะสำคัญของการเข้าสังคมเช่นกัน

2. เด็กที่เงียบ สุขุม ชอบเก็บตัว (Introvert)

personality_web_2

เด็กที่มีบุคลิกแบบนี้มักมีโลกส่วนตัวสูง ชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเอง รู้สึกเหนื่อยหากต้องเจอคนจำนวนมากและเป็นเวลานาน ลูกอาจชอบทำกิจกรรมที่เงียบๆ เช่น วาดรูป ต่อเลโก้ อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมที่ได้ใช้จินตนาการและอยู่คนเดียว

เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความเคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูก ไม่เร่งรัดให้ลูกเข้าสังคมเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจได้

แต่ในขณะเดียวกันก็ควรช่วยสนับสนุนให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ค่อยๆ เล่นกับเพื่อนทีละคน หรือจัดกิจกรรมที่ลูกสนใจร่วมกับเด็กคนอื่นโดยไม่กดดัน ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน ไม่เร่ง และไม่กดดันให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไรเกินไป เพราะเด็กๆ ที่มีบุคลิกเฉพาะตัวแบบนี้ ต้องใช้เวลาและต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างมากกว่าการการทำตามคำสั่ง

3. เด็กที่มีความมุ่งมั่น จริงจัง รักความถูกต้อง (Perfectionist)

personality_web_3

เด็กกลุ่มนี้มักจะตั้งเป้าหมายกับตัวเองสูงมาก รักความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และต้องการทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ลูกมักใช้เวลานานกับการทำสิ่งหนึ่งเพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด และอาจรู้สึกไม่พอใจหากผลงานไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมในความพยายามของลูก ไม่ใช่เพียงแค่ผลลัพธ์เท่านั้น เพื่อให้ลูกรู้ว่าความตั้งใจนั้นมีคุณค่าเสมอ แม้ผลลัพธ์จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เปิดพื้นที่ให้ลูกได้ผิดพลาด และมองความผิดพลาดในแง่บวกบ้าง จะช่วยให้ลูกไม่กลัวการเริ่มต้นใหม่ และไม่กดดันตัวเองเกินไป

4. เด็กที่รักอิสระ ชอบลองสิ่งใหม่ (Creative)

personality_web_4

หากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีบุคลิกแบบนี้ ก็จะเป็นเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ชอบคิดนอกกรอบ มีความคิดแปลกใหม่ และมักอยากทดลองสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ลูกจะเบื่อเร็วกับกิจกรรมที่ซ้ำๆ และมักไม่ชอบถูกควบคุมหรือสั่งการแบบเข้มงวด

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมลูกได้ด้วยการให้ลูกมีพื้นที่ในการทดลอง เช่น ให้ลูกลองประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ ให้โอกาสลูกคิดกิจกรรมเอง หรือสร้างโปรเจ็กต์เล็กๆ ที่ลูกเป็นคนริเริ่ม

แต่ในขณะเดียวกันก็ควรช่วยวางขอบเขตให้ลูกอย่างชัดเจน เช่น การเล่นอย่างปลอดภัย การทำตามกติกาในบ้าน และความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เริ่มไว้ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าระหว่างคำว่า ‘อิสระ’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ควรอยู่คู่กันเสมอ

5. เด็กที่อ่อนไหว รับรู้อารมณ์ได้ลึกซึ้ง (Highly Sensitive Child)

personality_web_5

เด็กที่มีความรู้สึกไวมากจะสามารถรับรู้อารมณ์ของคนรอบข้างได้ดี มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเจ็บปวดหรือเสียใจได้ง่ายเมื่อถูกตำหนิ ถูกละเลย หรือเจอคำพูดแรงๆ คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบหรือใช้คำพูดที่อาจทำให้ลูกเก็บคำพูดเหล่านั้นไปคิดมาก และทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลง

สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้ลูกรู้จักดูแลใจตัวเอง เช่น การหายใจลึกๆ เวลารู้สึกโกรธหรือเศร้า การเขียนบันทึกความรู้สึก หรือการพูดคุยเปิดใจกับคุณพ่อคุณแม่

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรย้ำให้ลูกรู้ว่า ความอ่อนไหวของลูกไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นของขวัญที่ทำให้ลูกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นได้ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป

6. เด็กช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม (Inquisitive)

personality_web_6

ลูกที่มีบุคลิกแบบนี้จะเป็นเด็กที่ชอบถาม ชอบค้นหาเหตุผล และไม่เชื่อในสิ่งที่ได้ยินโดยง่าย ลูกมักตั้งคำถามกับทุกเรื่องที่พบ เช่น “ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียนทุกวัน” หรือ “ทำไมถึงห้ามดูโทรศัพท์ตอนกินข้าว”

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบตัดสินว่าว่าลูกเป็นดื้อ ชอบเถียง หรือชอบทำตัวมีปัญหา แต่ควรชื่นชมที่ลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง และใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และควรตอบคำถามของลูกด้วยเหตุผลที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการตอบเพื่อตัดบทและไม่มีที่มาที่ไป เช่น “ต้องทำเพราะแม่บอกไง” แต่ให้ลูกเข้าใจว่าเบื้องหลังแต่ละกฎหรือคำแนะนำมีเหตุผลอยู่ เช่น “เพราะตอนกินข้าวเราควรโฟกัสที่อาหาร เพื่อให้ย่อยง่ายและร่างกายได้พักจากหน้าจอ” และที่สำคัญ ควรฝึกให้ลูกรับฟังเหตุผลของคนอื่นด้วย เพื่อให้ลูกรู้ว่า ความคิดของตัวเองมีค่า แต่ความคิดของคนอื่นก็มีคุณค่าเช่นกัน

 

อ่านบทความ: ทดสอบบุคลิกภาพลูก: 4 คำถามทดสอบช่วยตอบคำถาม ลูกเป็น Introvert หรือ Extrovert กันแน่
อ้างอิง
babyyumyum
heysigmund
Naijaukmum
boldscience
nytimes
today
mothermag

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST