ลูกชอบเล่นแรง แก้ยังไงดี!?

play hard

เวลาพาลูกไปเล่นกับเด็กคนอื่น นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องกังวลและระมัดระวัง กลัวว่าลูกจะโดนคนอื่นแกล้งหรือเล่นรุนแรงด้วย อีกนัยหนึ่งก็ต้องคอยระวังไม่ให้ลูกเราไปเล่นรุนแรงกับเด็กคนอื่นด้วยเหมือนกัน

โดยธรรมชาติแล้ว เด็กวัย 3 ขวบขึ้นไป จะเริ่มมีพัฒนาการทางร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น เด็กวัยนี้จะชอบเคลื่อนไหว และมีความคิดเป็นของตัวเอง เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยอนุบาล ลูกก็จะเริ่มมีสังคม มีกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่สามารถใช้แขนขาได้อย่างคล่องแคล่ว และกิจกรรมหลักของเด็กๆ วัยนี้ก็คือการปลดปล่อยพลังของตัวเองออกมาด้วยการเล่น เล่น แล้วก็เล่น!

และถ้าสังเกตให้ดี เด็กวัยนี้มักจะเผลอใช้ความรุนแรงกับเพื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ตีแรงๆ ผลัก ดึง ยื้อแย่งของเล่นอย่างสุดกำลัง นั่นเป็นเพราะลูกอาจยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ หรือไม่รู้ว่าควรใช้กำลังกับการทำอะไรแค่ไหน ไม่รู้ว่าต้องใช้แรงแค่ไหนถึงจะพอดี และไม่ทำให้เพื่อนรู้สึกเจ็บได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการตักเตือนและบอกวิธีที่เหมาะสมจากคุณพ่อคุณแม่ พฤติกรรมเล่นรุนแรงนี้อาจส่งผลต่อทักษะการเข้าสังคมของลูกได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกของเราใช้กำลังหรือเล่นกับเพื่อนด้วยความรุนแรง แต่จะสอนลูกอย่างไร เรามีวิธีมาบอกค่ะ

1. หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกเมื่อเล่นกับผู้อื่น

body01_ลูกชอบเล่นแรงแก้ยังไงดี (1)

เมื่อพาลูกออกไปเล่นนอกบ้าน หรือเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด หากเห็นว่าลูกเริ่มใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง หรือเล่นกับเพื่อนแรงๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ควรรีบแยกตัวลูกออกจากเพื่อน และอธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรเล่นกับเพื่อนอย่างนั้น เช่น ทำให้เพื่อนเจ็บ ทำให้เพื่อนไม่พอใจและรู้สึกไม่ดี แล้วสอนให้ลูกรู้จักขอโทษหากพลั้งมือหรือเผลอทำให้เพื่อนไม่พอใจ

และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรต่อว่าหรือลงโทษลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอับอาย และอาจจะยิ่งทำให้ลูกมีอาการดื้อต่อต้านมากขึ้นได้

2. สอนลูกให้ควบคุมอารมณ์ตัวเอง

body02_ลูกชอบเล่นแรงแก้ยังไงดี copy (1)

หากคุณพ่อคุณแม่พบปัญหาว่าลูกชอบใช้ความรุนแรง เมื่อตัวเองมีภาวะอารมณ์บางอย่าง เช่น โกรธจนตีเพื่อนแรงๆ หรือโกรธจนทำลายข้าวของจนเสียหาย นั่นหมายความว่าลูกยังไม่รู้จักวิธีควบคุมและรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเริ่มจากการสอนให้ลูกรู้จักวิธีจัดการอารมณ์และวิธีแสดงออกที่ถูกต้อง เช่น ถ้าลูกรู้สึกโกรธเพื่อน ลองเดินออกมาแล้วนับหนึ่งถึงสิบในใจ รอให้ใจเย็นก่อนค่อยกลับเข้าไปเล่นด้วยกันอีกครั้ง

3. จัดพื้นที่ให้ลูกได้ใช้แรงอย่างเหมาะสม

body03_ลูกชอบเล่นแรงแก้ยังไงดี copy 2 (1)

อย่าดูถูกพลังงานของเด็กๆ นะคะ เพราะธรรมชาติของเด็กควรได้ปลดปล่อยพลังงานไปกับการได้เล่นซุกซน ได้ออกแรงวิ่ง หรือกระโดดโลดเต้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาพื้นที่ให้ลูกได้เล่น ได้ออกกำลังกาย จัดสรรพื้นที่ในบ้านให้เด็กๆ ได้ขยับแข้งขยับขา อาจจะหากิจกรรมให้ลูกได้เน้นการออกแรง เช่น กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก หรือเต้นแร้งเต้นกาได้ตามอัธยาศัย เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกใช้พลังงานไปกับการเล่นที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยสร้างสาร BDNF (brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นสมองที่ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. สังเกตว่าการเล่นแรงของลูก มาจากพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่

body04_ลูกชอบเล่นแรงแก้ยังไงดี copy 3 (1)

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกชอบเล่นแรงกับเพื่อนอย่างไม่มีเหตุผล เมื่อตักเตือนแล้วลูกก็ไม่ฟัง ยังทำพฤติกรรมเล่นแรงๆ กับเพื่อน และมีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะต้องย้อนกลับมาหาสาเหตุที่ทำให้ลูกจดจำและนำพฤติกรรมรุนแรงมาใช้ เช่น คุณพ่อคุณแม่เคยใช้ความรุนแรงกับลูก หรือเคยใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็น ปล่อยให้ลูกอยู่กับคนที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจได้

อ้างอิง
familyweekend
th.theasianparent

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST