READING

PLAY NO MATTER WHAT การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเ...

PLAY NO MATTER WHAT การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุก (3)

การเล่นสนุก

ผ่านมาหลายตอน ชวนเล่นมาตลอด แต่ไม่ได้ต้องการด้อยค่าระบบการศึกษาหรือพื้นที่ทางการศึกษาอย่างโรงเรียนนะคะ ไม่ได้จะบอกว่า เล่นไปเถอะ หนังสือไม่ต้องเรียน โรงเรียนไม่ต้องไปแล้ว ไม่ใช่เลยนะ แค่อยากให้ทุกคนตามหาหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ให้เจอ เพราะมันจะช่วยปลดล็อกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่อยู่ระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ของเราและเด็กๆ ของเราได้เยอะเลย เผลอๆ ก็จะช่วยให้สบายใจขึ้น และอะไรที่เคยกังวลก็อาจจะผ่อนคลายลงได้อีกมาก

หลายๆ อย่าง ถ้ามองไม่เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตของเด็กๆ อย่างไร เราก็ให้ความสำคัญน้อยลงได้ หลายๆ อย่างที่ เราเริ่มมองเห็นคุณค่าในสิ่งนั้น เราก็ให้ความสำคัญกับมันมากหน่อยได้ เอาเวลาจากสิ่งหนึ่งมาโปะให้กับอีกสิ่งหนึ่งที่มีความหมายกับเด็กๆ ของเรามากกว่าเดิมอีกหน่อยก็ได้ นี่แหละคือศิลปะแห่งการ balance คือหนทางอีกทางของการเล่นสนุกในชีวิตเราได้เหมือนกันนะ

เพราะอย่าลืมว่าชีวิตเราย่อมมีข้อจำกัด ไม่ใช่ทุกอย่างจะได้อย่างใจ เหมือนเล่นเกมนั่นแหละ บางครั้งเราต้องเล่นตามน้ำไปก่อนเพื่อรอเวลา หลายอย่างเราพอหลบเลี่ยงได้ หลายอย่างหลบไม่ได้ ก็อาจต้องพุ่งชน หลายครั้ง พอมีเวลาให้เตรียมคิดหาทางหนีทีไล่ ได้ทัน แต่หลายครั้งก็ต้องทำเป็นมองข้ามไปบ้าง หลายอย่าง ต้องวัดดวงและต้องท้าทายโชคชะตา เหมือนเวลาเล่นเกมนั่นแหละ

พูดไปก็ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันเท่าไร แต่เอาเป็นว่า นี่คือเกมถอดรหัสที่เราจะเล่นไปด้วยกัน ตลอดการเดินทางแห่งการเรียนรู้และการเล่นสนุกของเด็กๆ

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุก มีอยู่จริงที่ไหนบ้าง

การเล่นสนุก

เราพูดถึงวิถีแห่งโรงเรียนมหัศจรรย์ ว่าผู้คนที่นั่นจะรู้จักหนทางในการหล่อเลี้ยงหัวใจของนักเรียนรู้ที่อยากรู้ไปหมดทุกอย่างได้ โรงเรียนจะรู้วิธีทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าโลกนี้ช่างมหัศจรรย์ และสร้างตัวตนที่แข็งแรงให้เด็กๆ ผ่านชุดความคิดที่ว่า ‘ฉันจะเป็นคนสร้างความมหัศจรรย์ขึ้นมากับมือให้ดู’

ได้! ดังนั้นโรงเรียนก็จะทำทุกอย่าง เพื่อที่จะจุดไฟ จะโหมกระพือไฟ ด้วยทุกกระบวนท่า เพื่อทำให้นักเรียนรู้ของเรารู้สึกว่า เราโตขึ้นทุกวัน เราพัฒนาตัวเองให้เจ๋งขึ้นทุกวัน ขนาดวันนี้เรายังเก่งกว่าเมื่อวานเลย แล้ววันพรุ่งนี้ล่ะจะขนาดไหน แล้ววันหนึ่งที่เราโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ โอ้โห! เราคงจะเป็นคนที่เจ๋งมากๆ เลยนะ โรงเรียนให้คุณค่ากับการสื่อสารกับเด็กๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งว่า เมื่อเราทำบางอย่างได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะท้าทายตัวเองในขอบเขตใหม่ๆ ทำให้เด็กๆ อยากพาตัวเองไปผจญภัยในดินแดนใหม่ๆ ทุกวัน

เพราะเรามันคนแสนมหัศจรรย์นี่นา!

ถ้าเราทำให้นักเรียนรู้สักคนรู้สึกแบบนี้ในหัวใจได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือต่อจากนั้น เด็กๆ จะพามันไปต่ออีกไกลแสนไกลด้วยตัวของเขาเอง

ซึ่งพอได้รู้แบบนี้แล้ว ก็อาจคิดสงสัยว่า อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนถึงจะทำหน้าที่สร้างหัวใจแบบนี้ แต่ควรเป็นที่ไหนก็ได้ ที่มีนักเรียนรู้ ที่มีคนที่สนุกกับการเรียนรู้ตลอดเวลา มารวมตัวกันเพื่อเติมไฟในการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกนี้ให้แก่กัน เพราะการเรียนรู้ต้องไม่ได้เกิดขึ้น (และสิ้นสุด) อยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น

แต่โรงเรียนไม่ได้ผิดอะไร แค่เราทุกคนจะลืมไม่ได้ว่าโลกทั้งใบนี้ต่างหากที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

การเรียนรู้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของคุณครู การเรียนรู้ไม่ต้องถอยห่างจากการเล่น และถูกตีเส้นแบ่งคั่นเอาไว้ว่าตอนไหนคือ ‘ชั่วโมงเรียน’ ตอนไหนคือ ‘ชั่วโมงพัก’ ที่อนุญาตให้เราเล่นได้ การเรียนรู้กับการเล่นไม่จำเป็นต้องถูกแยกออกจากกันเลยด้วยซ้ำไป

 

วันนี้ เราตั้งใจจะชี้ให้เห็นคุณค่าของการมีพื้นที่เรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้นเต็มไปหมดในโลกใบนี้ โดยเฉพาะในที่ที่การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกกลายเป็นเรื่องพื้นฐาน แทรกซึมอยู่ทุกอณูชีวิตเด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมนั้นไปแล้ว

หากไม่ปรับตัว และยังคงมุ่งมั่นที่จะแยกการเรียนรู้และการเล่นสนุกออกจากกัน ในอนาคตโรงเรียนอาจจะถูกแทนด้วยพื้นที่ที่ให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเลือกเล่นและสำรวจตามความสนใจในรูปแบบที่หลากหลายก็เป็นได้

ยิ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างก็ตระหนักรู้อย่างแจ่มชัดอยู่ในใจ ในวันที่การเรียนออนไลน์แบบไม่เห็นความหมาย ไม่เห็นความเชื่อมโยงใดๆ กับชีวิต และไม่สนุกเลยสักนิด กำลังทำลายตัวตนและหัวใจของเด็กๆ อยู่ทุกวันการเรียนรู้สนุกๆ จึงเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เมื่อมีใครสักคน (หลายคนยิ่งดี) เห็นคุณค่าในสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข อย่างการเล่น แล้วการเล่นก็จะนำมาซึ่งความมหัศจรรย์ด้วยตัวของมันเอง

ถ้านักเรียนรู้สักคนจะได้รับโอกาส รับประสบการณ์ ที่จะได้รู้สึกแบบนั้น เพียงแค่ชั่วโมง สองชั่วโมง หรือแค่ครั้ง แล้วมันไปสะกิดได้ถูกจุดที่หัวใจ มันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับนักเรียนรู้คนนั้นไปตลอด มันจะมีกลไกขับเคลื่อนและทำงานต่อไป ไม่ว่าเด็กๆ จะอยู่ที่ไหน มันจะเพียงพอ มันจะเกินพอ มันจะติดตัวและอยู่กับเด็กๆ ของเราไปตลอดชีวิต

แล้วยิ่งถ้านักเรียนรู้ได้รับโอกาสและประสบการณ์เช่นนั้นบ่อยๆ จะดีขนาดไหน

วันนี้ เราอยากขอเล่าถึงหนึ่งพื้นที่ เป็นตัวอย่างของพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ใช่โรงเรียน แต่เล่นสนุกกับเด็กๆ ทุกวัน

ในฐานะคนที่เคยเดินผ่าน ไม่ได้สัมผัสตรงๆ แบบเด็กๆ ยังได้รับพลังมหาศาล จนเรียกว่าเป็นการเดินผ่านที่เปลี่ยนชีวิตเราไปตลอด

พื้นที่นี้ ทำหน้าที่ดูแลวัยเด็กของเด็กๆ ผ่านการเล่น ในแบบที่ไม่ใช่เพียงการใช้ร่างกาย หมายความว่า ไม่ใช่การวิ่งเล่น ปีนป่าย แบบสวนสนุก หรือสนามเด็กเล่น สนามกีฬา แต่พื้นที่แห่งนี้ดูแลวัยเด็กของเด็กๆ ด้วยการเล่นสนุกทางความคิด หรือที่เราเรียกกันว่า การคิดสร้างสรรค์—แง่มุมสำคัญที่มักถูกทำหล่นหายไปในหนทางแห่งระบบการศึกษาแบบเดิมๆ (หรือการเรียนรู้ที่หน้าตาไม่เหมือนการเล่นสนุกเอาเสียเลย)

การเล่นสนุก

Ministry of Stories คือ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำงานด้านการเล่าเรื่องผ่านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และคลับนักเขียนน้อยที่มีหน้าร้านเป็นร้านค้าสำหรับสัตว์ประหลาด

บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดของการมีพื้นที่เรียนรู้เฉพาะทาง แต่บางประเทศในโลกก็มีหลากหลายทางให้เด็กๆ ได้เลือกเข้าร่วมตามความสนใจ ทางเลือกนั้นมีให้เลือกมากอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ การละคร การทำอาหาร ธรรมชาติศึกษา

เราจึงอยากชวนกันบินลัดฟ้าไปดู writing centre ที่ประเทศอังกฤษ พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กๆ ที่ชื่นชอบการเล่าเรื่อง แต่งเรื่อง และการขีดๆ เขียนๆ ค่ะ
ในย่านสุดฮิปของลอนดอนอย่าง Shoreditch มีช็อปเล็กๆ ชื่อ Hoxton Street Monster Supplies มีตัวหนังสือโบราณสีทองเขียนเป็นข้อความบอกไว้ ‘ก่อตั้งปี 1818, จำหน่ายสินค้าคุณภาพสำหรับสัตว์ประหลาดทุกชนิด’

ถ้าสังเกตดีๆ ข้อความประหลาดนี้ยังมีปรากฏอยู่ทั่วไป ตามกระจก กำแพง ผนังภายในและภายนอกร้านค้า โปสเตอร์และป้ายประชาสัมพันธ์ ชวนให้นักอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เดินผ่านไปผ่านมานึกสงสัย

‘ขอความกรุณาลูกค้าทุกท่านงดเขมือบพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่’‘เปิดให้บริการยามวิกาลตามนัดหมาย เฉพาะลูกค้าที่เป็นแวมไพร์เท่านั้น’

‘รับเฉพาะเงินสด ขอสงวนสิทธิ์ในการรับชำระด้วยบัตรเครดิต เมล็ดถั่ว (ทั้งถั่ววิเศษและถั่วธรรมดา) และการบูชายัญมนุษย์’
กว่าจะรู้ตัวอีกที เด็กๆ ก็เดินเลยแผนกขายอาหารมังกร ผ่านชั้นวางขวดแยมสมองไหล ทะลุแถวที่ขายยาอมเสียงใสสำหรับมนุษย์หมาป่า แล้วก็ผ่านประตู ‘STAFF ONLY’ (เฉพาะพนักงาน) เข้าไปนั่งจุ้มปุ๊ก เขียนเรื่องราวแสนสนุก ตื่นเต้น ระทึกขวัญ อยู่หลังร้านเรียบร้อยโรงเรียนสัตว์ประหลาด

Ministry of Stories เป็นสมาคมลับ เป็นที่สุมหัวรวมตัวกันของเด็กๆ ที่ชื่นชอบการเล่นสนุกทางความคิด และบอกเล่าเรื่องราวสนุกๆ ในหัวใจออกมาผ่านหนทางที่เขาเลือกแล้วว่าเหมาะกับเขา และอยากที่จะบอกเล่าในแบบนี้ ก็คือการเขียน

เป็นหนทางในการสร้างการเรียนรู้ด้านการ คิด อ่าน เขียน โดยไม่มีแม้เสี้ยววินาทีที่เกี่ยวข้องกับการคัดหรือแจกลูกสะกดคำใดๆ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนั้นจะมีความหมายกับเด็กๆ ไปทั้งชีวิต ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งสร้างสรรค์งานเขียนที่แสนวิเศษเองกับมือด้วย ได้เห็นศักยภาพของตัวเอง (อ่านเองยังสนุกเองเลย) ได้รู้จักและแวดล้อมด้วยเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ที่รับส่งพลังในเรื่องเล่าและความคิดสุดเพี้ยนให้แก่กัน ได้เล่นสนุกไปทุกวันให้สมกับที่เป็นเด็กครั้งเดียวในชีวิต

หลังเลิกเรียน เด็กๆ ก็จะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อเรียนรู้ต่อ โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการเรียนเลยสักนิด แต่กลับเป็นการเล่นสนุกเพื่อเติมพลังปิดท้ายวันผ่านการคิด เขียน และบอกเล่าเรื่องราวด้วยซ้ำ
ผู้ใหญ่ที่สร้างพื้นที่แห่งนี้ เข้าใจการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างดี เขาละทิ้งเวลาในการชวนคัดเขียนอ่านไปนั่งคิดฉลากแปะขวดเจลขี้มูกย้อย ออกแบบผลิตภัณฑ์แปรงฟัน (เขี้ยว) มอนสเตอร์ว่าควรหน้าตาอย่างไร คิดสูตรอาหารพิสดารที่ใส่ทุกอย่างลงไป โยนรับส่งไอเดียกันกับเด็กๆ ไปทุกวันแบบนี้ ยั่วเย้าด้วยเรื่องเล่าชวนขนลุกและขยะแขยงนิดหน่อยพอให้ทำงานกับหัวใจนักเล่นของเด็กๆ แบบนี้ เป็นทุกอย่างที่ทำให้อยากที่จะจับดินสอเขียนเหลือเกิน

และเขารู้จักนักเรียนรู้เป็นอย่างดีด้วยนะ เขารู้ว่าเด็กๆ ทุกคนมีความคิดนอกกรอบแสนมหัศจรรย์ และความเป็นไปได้ร้อยพัน เด็กๆ แค่ต้องการพื้นที่ให้ได้ปล่อยของหรือบอกเล่าเรื่องราวความคิด

หากการเขียนไม่เชื่อมโยงกับการคิด เด็กๆ ก็จะโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่อีกคนที่เขียนได้อ่านได้ แต่ไม่มีเรื่องเล่าอะไรให้เขียนเลย หรือถึงนั่งลงเขียนมันออกมา ก็อ่านแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่เลย (เขียนมาถึงตรงนี้ก็กังวลขึ้นมาจับใจเลย ที่เราเขียนนี่อ่านพอเข้าใจไหมนะ)

เพราะภาษาคือความซับซ้อนของความคิดที่มนุษย์คนหนึ่งจะใช้สื่อสารเรื่องราวใดๆ ออกมา ภาษาไม่ใช่การสะกดเพียงเท่านั้น ใครจะอยากเขียนกัน ถ้าไม่รู้จะเขียนไปทำไม เรื่องไม่เพี้ยน ไม่ตลก ไม่มีความหมายกับหัวใจ แล้วใครจะอยากเล่าให้เพื่อนฟัง

แล้วเมื่อไม่เคยนึกสนุกที่จะคิดอะไรก็ได้ตามใจ เมื่อไม่เคยมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ แพสชั่น หดหาย ชีวิตชีวาก็ไม่มี เชื่อมโยงส่งผลต่อชีวิตทั้งชีวิตได้เลยนะ จะกลายเป็นคนมองไม่เห็นหนทาง ไม่เห็นมุมมองใหม่ๆ ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งใดกับสิ่งใดในชีวิตทั้งสิ้น

ความคิดสร้างสรรค์ จะสื่อสารผ่านการเขียนหรือผ่านหนทางอื่นใด ก็ได้ ไม่สำคัญเลย แต่ที่สำคัญคือเด็กๆ เคยได้เลือกได้รู้จักหนทางแสนวิเศษเหล่านั้นหรือเปล่า เคยได้ทดลองที่จะถ่ายทอดความคิดผ่านหนทางที่หลากหลายเพียงพอหรือเปล่า การมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบและมากพอที่จะจะหล่อเลี้ยงให้เรื่องเล่า (ความคิด) ของเด็กๆ เบ่งบานแล้วก็เติบโตแข็งแรงอยู่ในตัวเด็กๆ
อ่านจบแล้วต้องชวนกันคิดใหม่ พื้นที่เรียนรู้ควรเป็นแบบไหน… ขอขอบคุณ Ministry of Stories (และช็อปหน้าร้าน Hoxton Street Monster Supplies) คลับนักเขียนน้อยในลอนดอน อีกหนึ่งต้นแบบและแรงบันดาลใจของโรงแรมมหัศจรรย์มา ณ ที่นี้อีกครั้งนะคะ


Guest Writer

นักเขียนรับเชิญ (แทบ) ไม่ซ้ำหน้า ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่ (แทบ) ไม่ซ้ำใคร

COMMENTS ARE OFF THIS POST