ลูกคือหัวใจของครอบครัว หรือหัวแก้วหัวแหวนของพ่อแม่ คงจะเป็นคำพูดที่ไม่ไกลจากความเป็นจริงเท่าไรนัก เพราะเมื่อมีลูก ความรักความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะทุ่มเทลงไปที่ลูก
โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกคนเดียว คุณพ่อคุณแม่มักจะทุ่มเทเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด อยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และมีความผูกพันยึดโยงกับลูกมากเป็นพิเศษ เมื่อรวมเข้ากับสัญชาตญาณของคุณพ่อคุณแม่ต้องการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลลูกให้นานที่สุด อาการ พ่อแม่หวงลูก จึงเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
นอกจากอาการ พ่อแม่หวงลูก ทั่วไปแล้ว ครอบครัวส่วนมากยังมักมีความคาดหวังในตัวลูกชายมากเป็นพิเศษ เช่น อยากให้ลูกชายมีความเป็นผู้นำ ดูแลกิจการของครอบครัวต่อจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นกำลังหลักของครอบครัวในอนาคต
หากสังเกตให้ดี อาการหวงลูกมักถูกพูดถึงในแง่ คุณพ่อหวงลูกสาวและคุณแม่หวงลูกชาย นั่นหมายความว่าอาการหวงลูก เกิดขึ้นได้ทั้งกับคุณพ่อและคุณแม่ แต่วันนี้เราจะชวนมาทำความเข้าใจ 4 เหตุผลที่มีส่วนทำให้คุณแม่มักจะหวงลูกชายมากเป็นพิเศษกันก่อน
1. ความแตกต่างทางเพศ
ลูกชายและลูกสาวมีความต้องการและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน สำหรับคุณแม่ การเลี้ยงลูกชาย อาจมีความท้าทายที่แตกต่างและมากกว่าการเลี้ยงลูกสาว คุณแม่อาจต้องการเวลาเพื่อปรับตัวและหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงดูลูกชาย
สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นจากเว็บไซต์ Netmums ที่มีผู้เข้าร่วมมากถึง 2,500 คน พบว่า คุณแม่มีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์ลูกสาวมากกว่าลูกชายถึงสองเท่า ในขณะที่มากกว่าครึ่งยอมรับว่ารู้สึกผูกพันกับลูกชายมากกว่าลูกสาว
2. มีความกังวลว่าลูกต้องการเป็นอิสระ
ความรักและความห่วงใยที่มีต่อลูกอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนมีความกลัวที่จะปล่อยให้ลูกเติบโตที่จะมีอิสระในชีวิตของตนเอง ความกลัวนี้อาจมีต้นเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น กลัวลูกออกนอกลู่นอกทาง อยากปกป้องลูกในทุกสถานการณ์
โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับลูก จึงมักรู้สึกกังวลเมื่อลูกเริ่มมีชีวิตที่อิสระมากขึ้น และความกลัวนั้นทำให้เกิดการพยายามควบคุมลูกมากเกินไปได้
3. คุณแม่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป
คุณแม่มักมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกชายให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และคาดหวังให้ลูกชายประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การงาน หรือการสร้างครอบครัว ความคาดหวังนี้ทำให้คุณแม่ต้องการให้ลูกชายได้รับการดูแลที่ดีที่สุด และพยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก จนไม่ยอมให้ลูกได้ทำอะไรตามความชอบและความถนัดของตัวเองได้
4. เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว
มีการศึกษาในปี 2013 พบว่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีบทบาทสำคัญในส่งเสริมให้ลูกชายประสบความสำเร็จทางการศึกษา มักจะใช้วิธีการเลี้ยงดูที่เข้มงวดและมีความคาดหวังในตัวลูกสูง แต่ทั้งหมดก็เพื่อช่วยให้ลูกชายสามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะสร้างความผูกพันทางอารมณ์ยึดโยงกับลูกชายอย่างเหนียวแน่น ความผูกพันทำให้คุณแม่รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในชีวิตของลูกมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่ต้องการใกล้ชิดและอยู่กับลูกมากจนกลายเป็นความหวงลูกชาย มากเป็นพิเศษนั่นเอง
COMMENTS ARE OFF THIS POST