หลายครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวน่าเศร้า เมื่ออุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้บางครอบครัวต้องสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ในทางกลับกัน เราก็เคยเห็นว่ามีเด็กที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันได้ราวกับปาฏิหารย์
งานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าเด็กที่นั่งอยู่ในคาร์ซีตขณะที่รถเกิดอุบัติเหตุ มีโอกาสที่จะปลอดภัยมากถึงร้อยละ 60-70
และคุณพ่อพ่อคุณแม่อย่างเราก็คงจะเริ่มเห็นความสำคัญของการให้ลูกนั่งคาร์ซีตขณะเดินทางมากขึ้น และเริ่มที่จะหาหนทางฝึกเจ้าตัวเล็กที่บ้านให้ยอมนั่งคาร์ซีตอย่างสงบดี
แต่หลายครอบครัวก็รู้ดีว่าการฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย M.O.M มีเทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีตมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
1. ยิ่งฝึกเร็วยิ่งดี
เหมือนการฝึกหลายๆ อย่าง คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโต เพราะเราสามารถเลือกคาร์ชีตที่เหมาะกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้กับลูกได้ และทุกครั้งที่ขึ้นรถ คุณแม่ไม่ควรใจอ่อนอุ้มลูกไว้กับตัว เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความคุ้นเคยให้กับลูกว่าที่นั่งของเขาบนรถคือในคาร์ซีตเท่านั้น
2. ฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีตในระยะทางสั้นๆ ก่อน
ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเดินทางจริงเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถลองให้ลูกนั่งคาร์ซีตในระยะทางสั้นๆ เช่น ขับรถเล่นรอบหมู่บ้าน หรือออกไปซื้อของใกล้ๆ ได้ ถ้าผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แล้วค่อยลองเพิ่มระยะทางมากขึ้น ให้ลูกอยู่ในคาร์ซีตมากขึ้น เพื่อเวลาที่ต้องเดินทางจริงทั้งลูกและคุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ตื่นสนามมากนัก
3. อดทนกับเสียงร้องไห้ของลูก
ถ้าลูกร้องไห้งอแงระหว่างนั่งคาร์ซีตก็ขอให้รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน สงบสติอารมณ์ เพื่อให้เป้าหมายการฝึกลูกนั่งคาร์ซีตของเราสำเร็จ
4. ไม่อุ้มลูกออกจากคาร์ซีตก่อนถึงที่หมาย
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อนหากลูกร้องไห้งอแงเมื่อต้องนั่งคาร์ซีต และไม่ควรประมาทเมื่อเห็นว่าใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง อุ้มลูกออกมาเตรียมตัวก่อนเล็กน้อยคงไม่เป็นอะไร ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับเราและลูกของเราได้ทุกที่ทุกเวลา
5. ทำให้ลูกเข้าใจอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการไม่นั่งคาร์ซีต
สำหรับเด็กที่เคยนั่งคาร์ซีตมาตลอด พออายุประมาณ 3-4 ขวบ ก็อาจจะเริ่มต่อต้านการนั่งคาร์ซีตอีกครั้ง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันอธิบายหรือยกตัวอย่างอันตรายที่เกิดจากการไม่นั่งคาร์ซีตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะเล่าปากเปล่าหรือลองหาตัวอย่างคลิปที่ไม่น่ากลัวเกินไปนักให้ลูกดูก็ได้
6. เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกคาร์ซีตของตัวเอง
เมื่อลูกโตพอที่จะรู้จักเลือกของใช้ที่ชอบหรือไม่ชอบของตัวเองได้ การที่คุณพ่อคุณแม่ลองให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกคาร์ซีตของตัวเอง ก็จะทำให้ลูกรู้สึกเป็นเจ้าของและมีอารมณ์ร่วมกับการนั่งคาร์ซีต
7. ฝึกตอนเขาอารมณ์ดี
อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญในการทำทุกอย่าง การฝึกลูกเล็กนั่งคาร์ซีตก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหาจังหวะที่ลูกอารมณ์ดีเป็นการเริ่มต้น ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะกรีดร้องโวยวายไปได้มากเลยทีเดียว
COMMENTS ARE OFF THIS POST