คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินคำเตือนเรื่องการกล่าว ชื่นชม ลูก โดยเฉพาะจากผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่าตายายที่มองว่าการชื่นชมลูกบ่อยๆ จะทำให้ลูกเหลิง กลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป จนไม่เชื่อฟังและไม่ทำตามคำสอนของคุณพ่อคุณแม่แต่ความจริงแล้ว การชื่นชมลูกเมื่อลูกทำอะไรได้ดี เช่น ช่วยเหลือตัวเอง หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการทำให้ลูกมีพัฒนาการเติบโตที่ดี เพราะเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง จะเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเอง รวมถึงคำชมจากคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นการแสดงความรักและความภูมิใจที่มีในตัวลูกได้อีกด้วย
แต่ถึงการกล่าว ชื่นชม ลูกจะมีข้อดีไม่น้อย แต่การชื่นชมที่ดีก็ควรอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นก็อาจส่งผลเสียกับลูกอย่างที่หลายคนกังวลได้เช่นกันM.O.M จึงได้นำวิธีการชื่นชมลูกอย่างเหมาะสม และไม่เกิดผลเสียกับลูกมาฝาก ให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปใช้กันดูนะคะ
1. ชื่นชมในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์

การชื่นชมที่ดี ควรเริ่มจากการมองเห็นความพยายามของลูกมากกว่าผลลัพธ์ เช่น ลูกตั้งใจฝึกซ้อมเปียโนเพื่อลงแข่ง กล้าเลือกเพลงที่ท้าทาย และพยายามพัฒนาฝีมือของตัวเองเสมอ แม้สุดท้ายลูกอาจจะชนะหรือไม่ชนะการประกวดก็ตาม แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชื่นชมและให้คุณค่าในความพยายามของลูก
การชื่นชมในความพยายามของลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่สูญเปล่า แม้อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ แต่ก็แลกมากับการที่ลูกได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญลูกจะรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มองเห็นสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอ
2. พูดคุยและถามถึงอุปสรรคที่ลูกพบเจอบ้าง

นอกจากการชื่นชมและให้กำลังใจลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจและถามถึงอุปสรรค หรือความยากลำบากที่ลูกกำลังเผชิญด้วย เช่น ลูกอาจต้องการเวลาในแต่ละวันมากขึ้นเพื่อฝึกซ้อมเปียโน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะช่วยจัดสรรเวลาให้ลูกได้อย่างไร หรือลูกอาจต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ก็เป็นได้การให้ความสำคัญกับอุปสรรคและปัญหาของลูก จะทำให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เพียงแต่ชื่นชม แต่ยังรับรู้ คอยอยู่เคียงข้าง และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโดยไม่ได้ทิ้งให้ลูกแก้ปัญหาของตัวเองตามลำพัง
3. ชื่นชมลูกต่อหน้าคนอื่นบ้างตามสมควร

นอกจากการชื่นชมลูกต่อหน้าแล้ว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถชื่นชมลูกต่อหน้าคนอื่น เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเขามากแค่ไหน
โดยให้ใจความสำคัญของคำชม เป็นเรื่องของความภูมิใจที่ลูกมีความตั้งใจและพยายาม เพราะจะทำให้ลูกมีกำลังใจในการพยายามครั้งต่อไปมากขึ้นอีกด้วย
4. ไม่ชื่นชมลูกแบบมีเงื่อนไข

คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมลูกอย่างจริงใจ ด้วยการใช้คำพูดเชิงบวก ที่ไม่มีการซ่อนข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคำชมที่ลูกไม่อยากได้ยินที่สุดก็คือคำชมที่แฝงไปด้วยเงื่อนไขและความกดดัน เช่น ครั้งนี้ลูกทำได้ดีมาก แต่ถ้าลูกพยายามกว่านี้ แม่คิดว่าลูกน่าจะทำได้ดีกว่านี้แน่…
เพราะถึงแม้จะดูเหมือนเป็นคำชมหรือให้กำลังใจ แต่ก็แฝงไปด้วยคำพูดเชิงตำหนิ และกดดันให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองทำดีไม่พอ จากที่ควรจะมีความมั่นใจจากการได้รับคำชม ก็จะกลายเป็นเด็กที่เสียความมั่นใจในตัวเองไปได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST