READING

ทำความเข้าใจกับสารพัดอารมณ์แม่...

ทำความเข้าใจกับสารพัดอารมณ์แม่

Pregnancy Mood

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากร่างกายภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ต่างกันตรงที่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมักจะไม่ได้แสดงออกทางร่างกายมากเท่ากับความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในจิตใจและอารมณ์ (Pregnancy Mood) และทำให้คุณแม่หลายคนขี้กังวล อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และอีกสารพัดอารมณ์ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของแม่ลูก รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้

แต่ถึงอย่างนั้น คนรอบข้างและคนใกล้ชิดคุณแม่นี่แหละ ที่ควรทำความเข้าใจในธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์ให้ความใส่ใจ ดูแลใกล้ชิด ให้กำลังใจและความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

อาการและอารมณ์ต่างๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์มีอะไรและควรรับมืออย่างไร ลองมาเตรียมตัวให้พร้อมไปด้วยกันนะคะ

1. วิตกกังวลมากเป็นพิเศษ

Pregnancy Mood

ถึงแม้ว่าการตั้งครรภ์จะเป็นช่วงแห่งความสุขและตื่นเต้นของคุณแม่มากแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณแม่มีความเครียดและวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ

คุณพ่อเป็นคนสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่ลดความกังวลระหว่างตั้งครรภ์ลงได้ ด้วยการดูแลและให้กำลังใจ ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงลูกไปด้วยกัน ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกว่ากำลังเผชิญเรื่องยากตามลำพังนะคะ

2. อาจเกิดอาการแพนิก (Panic Attack) ขึ้นได้

Pregnancy Mood

อาการแพนิกที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความเครียดและความวิตกกังวลมากเกินไป ทำให้มีอาการตื่นตกใจ ตัวสั่น หายใจลำบาก เกร็งตามกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

หากพบว่าคุณแม่มีอาการแพนิก ในครั้งแรกควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษา หรือให้การช่วยเหลือด้วยการให้คุณแม่นั่งนิ่งๆ สงบสติอารมณ์ และหายใจเข้าออกช้าๆ นอกจากนั้นการได้พูดคุยระบายความเครียดหรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็ช่วยลดการเกิดอาการแพนิกลงได้ค่ะ

3. อารมณ์อ่อนไหว

sensitive

อาการอารมณ์อ่อนไหวของคุณแม่มักพบในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณแม่กลายเป็นคนอารมณ์แปรปรวน จิตใจอ่อนไหว น้อยใจง่าย ร้องไห้ง่าย อาการเหล่านี้ถ้าคุณพ่อและคนรอบข้างไม่เข้าใจ อาจทำให้คุณแม่เครียดและกังวลมากขึ้นไปอีก

ดังนั้นถ้าบางครั้งคุณแม่จะอ่อนไหว เอาแต่ใจ หรือไม่มีเหตุผล คุณพ่อก็ไม่ควรตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือประชดประชัน แต่สามารถบอกให้คุณแม่เข้าใจและรู้ทันอาการผิดปกติของตัวเอง เพื่อช่วยให้คุณแม่ตั้งสติได้ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายนะคะ

4. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

baby blue

คุณแม่หลังคลอดมักมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมของคุณแม่ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวน ความเครียด ความกังวล รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ก็สามารถทำให้คุณแม่หลังคลอดเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ช่วงเวลาหลังคลอด คนในครอบครัวและใกล้ชิด โดยเฉพาะคุณพ่อ จึงควรให้ความช่วยเหลือ แบ่งเบา และให้กำลังใจคุณแม่เพิ่งคลอดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเหนื่อยและท้อที่ต้องเลี้ยงและดูแลลูกอยู่คนเดียว

แต่ทั้งนี้อาการซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้หลายระดับ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่มักเกิดขึ้นและหายไปเองได้ในช่วงเวลาไม่นาน และโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่จะแสดงอาการต่อเนื่อง ยาวนาน และต้องการการรักษาที่ถูกวิธี แต่จะสังเกตความแตกต่างของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

อ้างอิง
bbc
bangpakokrangsit
phyathai
pobpad

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST