การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน ระบบไหลเวียนเลือด รูปร่าง และการทำงานของอวัยวะต่างๆ
โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก แม้จะพอรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือ อาการคนท้อง แต่ก็มักจะเกิดความกังวลมากกว่าปกติและสงสัยว่า อาการแบบไหนคือ อาการคนท้อง ปกติทั่วไปแบบไหน และอาการแบบไหนที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
อาการปกติของการตั้งครรภ์ (อาการที่คุณแม่ท้องแรกอาจจะกังวล)

1. คลื่นไส้ อาเจียน (แพ้ท้อง) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน hCG ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนรับประทานอาหารไม่ได้
2. เจ็บคัดเต้านม เกิดจากเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกตามธรรมชาติ
3. เลือดออกกะปริดกะปรอย เป็นอาการที่พบได้กับคุณแม่บางคนในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากการที่ตัวอ่อนจะเข้าไปฝังตัวยังผนังมดลูก ส่งผลให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยโดยไม่มีอาการปวดท้องเกร็งแต่อย่างใด
4. ตะคริว เกิดจากเปลี่ยนแปลงของระดับแคลเซียมและแมกนีเซียมในร่างกาย คุณแม่จึงควรหมั่นยืดกล้ามเนื้อ กินอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมให้มากพอ
5. เส้นเลือดขอด เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด และแรงกดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น แนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนานๆ หรือยกขาสูงเมื่อพักผ่อน
6. ริดสีดวงทวาร เกิดจากแรงกดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง คุณแม่บางท่านอาจมีอาการริดสีดวงที่ทำให้เจ็บปวดและมีเลือดออกขณะเบ่งอุจจาระ
7. คันตามผิวหนัง ผิวหนังที่ขยายตัวและฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้มีอาการผิวแห้งและคัน โดยเฉพาะบริเวณท้องและเต้านม แนะนำให้คุณแม่ทาโลชั่นบำรุงผิวสูตรอ่อนโยน และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน
8. อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงไตรมาส 2-3 ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดลม เนื่องจากฮอร์โมน การขยายตัวของมดลูก และระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้ช้าลง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ แนะนำคุณแม่เลี่ยงอาหารลดจัดและมัน
9. อารมณ์แปรปรวน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ได้ง่าย บางคนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมากกว่าปกติ
10. ปัสสาวะบ่อย มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกและสุดท้าย คุณแม่บางท่านอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ
อาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่ต้องรีบพบแพทย์ (อาการที่ควรกังวล)

1. เลือดออกทางช่องคลอด หากคุณแม่มีอาการเลือดไหลต่อเนื่องร่วมกับอาการปวดท้องเกร็ง อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อน เช่น แท้งบุตร รกเกาะต่ำ รกคลุมปากมดลูก หรือการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งปริมาณเลือดอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมาก
2. น้ำเดิน เป็นน้ำที่ไหลออกมาจากช่องคลอด มีลักษะใสหรือมีสีขุ่น อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด หรือการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
3. ลูกไม่ค่อยดิ้น โดยปกติแล้ว ทารกจะเริ่มดิ้นให้คุณแม่รู้สึกได้ในช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าทารกในครรภ์กำลังขาดออกซิเจน หรือมีภาวะเครียด
4. จุกเสียดลิ้นปี่ ร่วมกับปวดศีรษะ หรือตามัว เป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ มักเกิดในช่วงไตรมาสที่ 3 หากเกิดอาการนี้คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที
5. มีตกขาวผิดปกติ หากตกขาวมีกลิ่น ปริมาณ หรือสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีเขียว เหลือง หรือสีน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด
6. ชักเกร็ง หายใจติดขัด อาจเป็นสัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง โดยมักเกิดขึ้นหลังอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์
7. ปัสสาวะแสบขัด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ท่อปัสสาวะ เพราะมดลูกมีการขยายตัวกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะค้างและติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากอาการเหล่านี้ หากคุณแม่มีอาการทางด้านร่างกายหรือจิตใจที่มากเกินการควบคุม ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ เช่น ปวดหัวจนทนไม่ไหว มีอาการวิตกหรือซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
COMMENTS ARE OFF THIS POST