ไม่รู้ทำไมอยู่ดีๆ ลูกรักของเราถึงได้กลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์เสียเหลือเกิน ใครทำอะไรไม่ถูกในสักหน่อย เจ้าตัวแสบก็หงุดหงิด โมโห เหวี่ยง วีน และพร้อมจะแผลงฤทธิ์ได้ตลอดเวลา ทำเอาพ่อแม่อย่างเราจนปัญญา ไม่รู้ว่าจะรับมือกับลูกเจ้าอารมณ์คนนี้อย่างไรแล้ว
ลองนำวิธีการที่ M.O.M รวบรวมมาให้ ค่อยๆ ปรับใช้อย่างใจเย็นและอดทน เชื่อว่าวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนนิสัยเด็กเจ้าอารมณ์ของลูก ให้กลายเป็นเด็กที่อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
1. คอยเฝ้าสังเกตลูก
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพื้นอารมณ์ของลูกว่าเป็นอย่างไร มีความสามารถในการสื่อสารอารมณ์ให้บุคคลอื่นรับรู้และเข้าใจได้มากแค่ไหน เพื่อเตรียมวิธีรับมือเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง
2. รีบเข้าให้ถึงตัวลูกก่อนที่ลูกจะแปลงร่างเป็นเด็กเจ้าอารมณ์
เมื่อมีสัญญาณว่าลูกเริ่มจะอารมณ์เสีย ให้คุณพ่อคุณแม่หาทางช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาที่ลูกทำไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เห็นลูกต้องระเบิดอารมณ์ที่ไม่ดีออกมา และสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาสามารถขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ได้แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองอารมณ์เสียมากขึ้นเรื่อยๆ
3. พ่อแม่ต้องไม่อารมณ์เสียตามลูก
เมื่อเห็นลูกอารมณ์เสีย พ่อแม่ก็มักจะอารมณ์เสียตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกด้วย
4. ปล่อยให้ลูกได้ปลดปล่อยอารมณ์ให้สุด
อารมณ์ที่ไม่ดีควรได้รับการปลดปล่อย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรหาพื้นที่ปลอดภัย หรือเป็นส่วนตัวพอที่จะให้ลูกได้ระบายความรู้สึก ที่ขุ่นข้องหมองใจ หรือแม้แต่อาละวาดออกมาในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น
5. อดทนที่จะเห็นลูกในสภาพที่ตัวเองรับไม่ได้
เมื่อลูกลงไปกรีดร้องกับพื้น อาละวาด หรือขว้างปาข้าวของ ถึงแม้คุณอยากจะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นมากแค่ไหน แต่บางครั้ง การปล่อยให้เขาใช้พลังไปกับการอาละวาด จนกว่าจะค่อยๆ สงบลงด้วยตัวเอง ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นไม่มีประโยชน์ แต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องอดทนและแข็งใจปล่อยลูกไว้อย่างนั้น แล้วเฝ้าดูอยู่ห่างๆ
6. สงบสติอารมณ์ได้ทั้งพ่อแม่ลูกแล้วค่อยคุยกันเพื่อต้นตอของปัญหา
เมื่อปล่อยให้เด็กน้อยเจ้าอารมณ์ได้ปลดปล่อยอารมณ์จนจิตใจสงบขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นคุยกันอย่างใจเย็นและมีเหตุผล โดยพ่อแม่อาจจะเริ่มถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมลูกถึงไม่พอใจ อาละวาด หรือแสดงออกอย่างนั้น
7. สะท้อนอารมณ์ให้ลูกรู้ว่าลูกกำลังรู้สึกอะไรอยู่
ระหว่างพูดคุยกับลูก พ่อแม่ต้องคอยเป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ให้ลูกเห็นว่าเขาทำอะไรลงไปบ้าง และสิ่งที่เขาทำไปเรียกว่าอารมณ์ประเภทไหน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีถามนำเพื่อให้ลูกเข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น เช่น ที่หนูขว้างปาข้าวของแบบนี้เป็นเพราะหนูโมโหใช่ไหมคะ
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าการแสดงออกหรือระบายความเกรี้ยวกราดออกมาต่อหน้าคนอื่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสอนวิธีรับมือกับอารมณ์ให้เขา
8. เรียนรู้ที่จะเพิกเฉย และไม่แก้ปัญหาด้วยการตามใจ
เด็กๆ นั้นช่างสรรหาวิธีการเรียกร้องความสนใจ ทั้งร้องไห้ ออดอ้อน หรือแม้แต่การอาละวาด และทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นไม้ตายที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพ่ายแพ้ และลูกก็จะเรียนรู้ว่าการทำแบบนี้แล้วได้ในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหัดที่จะเพิกเฉยและไม่ตามใจ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
COMMENTS ARE OFF THIS POST