คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้ดีว่า บุคลิก ท่าทาง และนิสัยใจคอของคุณพ่อคุณแม่ คือเครื่องมือหล่อหลอมและปลูกฝังทัศนคติและตัวตนของลูกในอนาคต
แนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาของบันดูราได้อธิบายว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากนั้นเป็นการสังเกตจนเกิดเป็น พฤติกรรมเลียนแบบ เพราะมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะคิดว่าต้องพยายามแสดงความแข็งแกร่งหรืออารมณ์ด้านบวกเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น โดยเฉพาะคุณพ่อ ที่ความเป็นผู้ชายและความเป็นผู้นำ ทำให้คุณพ่อยิ่งพยายามทำตัวเข้มแข็ง อดทน และจริงจังต่อหน้าลูก จนกลายเป็นการปิดกั้นอารมณ์และบุคลิกที่แท้จริงของตัวเองมากเกินไป เพราะกลัวว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและส่งผลต่อ พฤติกรรมเลียนแบบ ของลูก
แต่ความจริงแล้ว พฤติกรรมบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าไม่ควรทำ หรือไม่ควรแสดงออกต่อหน้าลูก กลับไม่ได้ส่งผลเสียกับลูกอย่างที่คิด เช่น
1. ร้องไห้ต่อหน้าลูก
คุณพ่ออาจคิดว่า การร้องไห้ต่อหน้าลูกเป็นเรื่องน่าอาย ยกตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Inside Out ตัวละครอารมณ์เศร้า ที่ร้องไห้ตลอดเวลา กลับถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ แต่จากงานวิจัยด้านจิตวิทยาได้ค้นพบว่า การร้องไห้เป็นการกระตุ้นให้สมองหลั่งสาร Endorphin หรือสารแห่งความสุข ซึ่งจะบรรเทาความเจ็บปวดต่าง ๆ และระบายความรู้สึกแย่ ๆ ภายในใจได้ดังนั้นถ้ามีโอกาส คุณพ่อก็สามารถแสดงอารมณ์เศร้าและร้องไห้ออกมาได้เสมอ เพื่อแสดงให้ลูกน้อยได้เห็นว่า ความเศร้าเสียใจ และการร้องไห้ ไม่ใช่ความอ่อนแออย่างที่คิด
2. ขอความช่วยเหลือ
คุณพ่อหลายคนกังวลว่าหากขอความช่วยเหลือคนอื่นให้ลูกเห็น จะทำให้ลูกรู้สึกผิดหวัง หรือมองว่าพ่อไม่เก่ง ไม่แข็งแรงพอที่ลูกจะพึ่งหาได้
แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อสามารถขอความช่วยเหลือคนอื่นและใช้การขอความช่วยเหลือนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการสอนลูกได้ เช่น พ่อถือของคนเดียวไม่สะดวกเลย ลูกช่วยพ่อถือหน่อยได้ไหม นอกจากจะทำให้ลูกรู้ว่าการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในเวลาที่ต้องการจริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดพลาด เสียหาย และยังช่วยพัฒนาพฤติกรรมเอื้อสังคมของลูกน้อยในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย
3. การขอโทษ
บางครั้งคุณพ่อทำผิดพลาด หรือล้มเหลวต่อหน้าลูก แล้วเกิดความเขินอายที่จะพูดขอโทษอย่างตรงไปตรงมา แต่ความจริงแล้ว การที่คุณพ่อยินดีที่จะเอ่ยปากขอโทษคนอื่น หรือแม้แต่ขอโทษลูกเมื่อตัวเองทำผิดพลาด จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการยอมรับความผิดพลาด ไม่กลัวที่จะยอมรับความผิดของตัวเอง และเรียนรู้การให้อภัยคนอื่นอีกด้วย
4. การโต้แย้ง
คุณพ่อคุณแม่อาจมีเรื่องขัดแย้งกัน และกลัวว่าหากพูดจาตอบโต้กันต่อหน้าลูกจะทำให้ลูกเสียความรู้สึกได้ แต่ความจริงแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่สามารถประคับประคองอารมณ์ให้การโต้แย้งกันเต็มไปด้วยเหตุผล การอธิบายอย่างใจเย็น และยอมเป็นผู้ฟังที่ดี ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกรู้จักวิธีการแสดงความเห็น การรับฟัง การอธิบายเหตุผล ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้ลูกต่อไปได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST