READING

ลูกไม่สู้คน: 4 แนวทางสอนลูกป้องกันตัวเองจากการถูกร...

ลูกไม่สู้คน: 4 แนวทางสอนลูกป้องกันตัวเองจากการถูกรังแก

ลูกไม่สู้คน

ข่าวผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจมากพออยู่แล้ว แต่หากความรุนแรงที่เกิดกับลูก มาจากเด็กหรือเพื่อนวัยเดียวกันอย่างที่เราเห็นในข่าวการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในเด็กอนุบาล อาจยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้ ลูกไม่สู้คน หรือไม่รู้จักปกป้องตัวเองเสียเลย ลูกก็อาจตกเป็นเป้าหมายของการถูกรังแกได้ง่าย

Sherri Gordon ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการกลั่นแกล้ง ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของวัยรุ่น ยืนยันว่า การกลั่นแกล้งเป็นปัญหาที่ผู้คนเผชิญอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในห้องเรียน ทางอินเทอร์เน็ต หรือในที่ทำงาน และสามารถสร้างผลกระทบร้ายแรงได้ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่า ลูกไม่สู้คน นั้นเป็นเพราะลูกยังไม่รู้จักการต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง จึงอาจมีการเผชิญหน้ากับการถูกรังแกในโรงเรียนได้ทุกเมื่อ

ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับทัศนคติที่มีต่อการเป็นเด็กไม่สู้คนของลูก ให้กลายเป็นความภูมิใจที่ลูกสามารถควบคุมสติอารมณ์ของตัวเองได้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสอนให้ลูกรู้วิธีการป้องกันตัวและตอบโต้อย่างสันติวิธี เพื่อไม่ให้ลูกกลายเป็นเหยื่อหรือโดนเพื่อนรังแกซ้ำๆ ได้

1. มาดเข้ม สยบทุกความเคลื่อนไหว

Self-Defense_web_1

#ภาษากาย ความมั่นใจในตัวเองจะเป็นเกราะป้องกันชั้นแรก หากคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกก้าวเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย มีรอยยิ้มที่สดใส กล้าที่จะสบตา และทักทายคนอื่นด้วยท่าทีที่เป็นมิตร บุคลิกท่าทางเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสการถูกกลั่นแกล้งได้ดี ในขณะที่เด็กที่ดูไม่มีความมั่นใจ เดินห่อไหล่ หลบสายตา และดูอ่อนแอ จะตกเป็นเป้าของการถูกแกล้งได้ง่าย

#การใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น หากเพื่อนทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย มีท่าทีคุกคาม รังแก หรือทำให้บาดเจ็บ การใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจังในการปฏิเสธเพื่อน เช่น “เราไม่ชอบให้ตี” หรือ “อย่าดึงแขนคนอื่น” อาจทำให้เพื่อนรู้สึกตัวและหยุดพฤติกรรมได้ แต่เพื่อป้องกันสถานการณ์บานปลาย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเดินหนีไปหาเพื่อนหรือคุณครู เพื่อพาตัวเองออกมาจากอันตรายให้เร็วที่สุด

สำหรับเด็กวัยอนุบาล ทักษะทั้งสองอย่างนี้จะต้องใช้เวลาและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกสามารถจัดการสถานการณ์แย่ๆ ในโรงเรียนได้แล้ว การฝึกบุคลิกภาพและการใช้น้ำเสียงที่ดียังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมต่อไปในอนาคตอีกด้วย

2. มีเพื่อน และหลีกเลี่ยงการอยู่ลำพัง

Self-Defense_web_2

 Dr. Karyn Healy นักจิตวิทยาและนักวิจัยด้านการป้องกันและจัดการกับการกลั่นแกล้งของเด็ก มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ อธิบายว่า เด็กที่โดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนหรือไม่ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อน มีความเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่ชอบเก็บตัว และอยู่ตามลำพังในห้อง สนามเด็กเล่น หรือโรงอาหาร รวมถึงเด็กโตจะที่ชอบอยู่ตามลำพังบนรถประจำทาง หรือเดินไปเข้าห้องน้ำคนเดียว ก็มีโอกาสจะตกเป็นเป้าหมายของการรังแกได้ง่าย

เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะถูกรังแก ด็อกเตอร์ฮีลลี่แนะนำว่า การมีเพื่อนที่ดีสักคนนั้นสำคัญมาก เพราะการมีเพื่อนจะทำให้เด็กๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่เคียงข้าง หากเกิดการถูกกลั่นแกล้ง มีโอกาสที่เพื่อนจะช่วยตอบโต้ หรือพากันหลีกเลี่ยง ก็จะช่วยให้สถานการณ์เหล่านั้นไม่บานปลาย จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายที่รุนแรง

ตรงกันข้าม หากมีกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก็มีโอกาสที่จะนำลูกไปสู่การเป็นผู้รังแกคนอื่นได้

3. เน้นหลีกเลี่ยง ไม่เน้นสู้

Self-Defense_web_3

ผู้ปกครองชาวอเมริกันเรียกวิธีป้องกันตัวที่ปลอดภัยที่สุดนี่ว่า on flight, not fight ซึ่งหมายถึงในการต่อสู้ ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ แต่ลูกควรเดินหนีจากเพื่อนคนนั้นให้เร็วที่สุด และรีบไปขอความช่วยเหลือจากคุณครูจะดีกว่า

คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกได้ว่าการเดินหนีไม่ใช่ความขลาดกลัว แต่คือ การแสดงความกล้าหาญที่จะพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่มีความรุนแรง หลีกเลี่ยงการโต้กลับทันที เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญวิธีนี้ยังสามารถนำไปใช้เมื่อเจอกับคนแปลกหน้า ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน

4. เรียนรู้วิชาป้องกันตัว

Self-Defense_web_4

แม้ว่าการสอนให้ลูกสู้คนด้วยการใช้กำลังจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เด็กๆ สามารถเรียนรู้วิชาหลบหมัด หรือดิ้นให้หลุดจากการถูกล็อกตัว เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกรังแกได้

กีฬาเทควันโดเป็นหนึ่งในวิชาป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐานที่เด็กเล็กสามารถเรียนรู้ได้ โดยการรับรองจาก American Taekwondo Association พัฒนาจากสาขาศิลปะการต่อสู้ ให้เทควันโดเป็นวิชาทางเลือกเสริมที่จะสอนเด็กๆ เรื่องความมั่นใจ และการควบคุมตนเอง เพื่อนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่ถูกรังแกได้

 

อ่านบทความเรื่อง: วิธีกอบกู้ตัวตนเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง

 

อ้างอิง
verywellfamily
kidspot
lifeeducationqld

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST