READING

4 วิธี ปกป้องลูกจากภัยเงียบ ‘ฮิคิโคโมริ ซินโดรม’ (...

4 วิธี ปกป้องลูกจากภัยเงียบ ‘ฮิคิโคโมริ ซินโดรม’ (Hikikomori Syndrome)

ฮิคิโคโมริ ซินโดรม (Hikikomori Syndrome) เป็นสภาวะทางจิตประเภทหนึ่ง อาการคือมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ปิดกั้นตัวเอง ไม่ชอบพบปะผู้คน เก็บตัวอยู่แต่ในห้องหรือบ้านโดยไม่ติดต่อกับสังคมภายนอก และถ้าหากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชได้

นักจิตวิทยาหลายคนวิเคราะห์สาเหตุของฮิคิโคโมริ ซินโดรมเอาไว้ว่า อาจเกิดจากความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง เป็นความผิดหวังที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือแรงกดดันที่ทำให้เกิดความเครียด จนกลายความหวาดกลัว โทษตัวเอง และหนีปัญหาด้วยการตีตัวออกห่างจากโลกภายนอก ทำให้คนที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวเลือกที่จะเก็บตัวอยู่ในที่ที่ตัวเองรู้สึกว่าปลอดภัย ซึ่งหมายถึงที่ที่ไม่ต้องพบเจอหรือยุ่งเกี่ยวกับใครนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้ลูกมีความเสี่ยงที่จะมีอาการฮิคิโคโมริ ย่อมดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือรอให้ลูกมีพฤติกรรมเข้าข่ายแล้วจึงพาไปพบแพทย์ แต่คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยดูแลให้ลูกห่างไกลจากอาการฮิคิโคโมริ ได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบค่ะ

1. ใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ

HikikomoriSyndrome_web_1

การใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้หมายถึงการที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเลิกทำงานเพื่ออยู่บ้านดูแลลูกทั้งวัน หรือการมีเวลาอยู่กับลูกไปด้วยแต่นั่งทำงานไปด้วย ก็ไม่ได้แปลว่ากำลังใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ

เพราะการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพแท้จริงแล้วหมายถึง การวางมือจากหน้าที่รับผิดชอบแล้วใช้เวลาทั้งหมดโฟกัสที่การพูดคุย เล่น และแสดงความรักกับลูกอย่างแท้จริง โดยไม่มีสิ่งรบกวนภายนอก เช่น ไม่รับโทรศัพท์และไม่ทำงาน แต่ให้ความสำคัญกับลูกแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน ย่อมมีความหมายมากกว่าการที่คุณพ่อคุณแม่อยู่กับลูกทั้งวัน แต่ไม่มีเวลาใส่ใจลูกอย่างจริงจังแม้แต่นิดเดียว

2. ทำกิจกรรมร่วมกับลูก

HikikomoriSyndrome_web_2

นอกจากการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพแล้ว ควรมองหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เช่น ชวนกันทำอาหาร ดูหนัง พาลูกไปสวนสัตว์ เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์และทำให้ลูกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้เป็นอย่างดี

3. สังเกตพฤติกรรมและสร้างความมั่นใจให้ลูก

HikikomoriSyndrome_web_3

คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้เด็กจะเป็นช่วงวัยแห่งความสดใส แต่เด็กทุกคนก็สามารถมีเรื่องที่กังวลและไม่สบายใจในแบบของตัวเอง เช่น เด็กบางคนไม่ชอบไปโรงเรียน บางคนไม่ชอบถูกบังคับให้เล่นกีฬา หรือบางคนก็กังวลเรื่องผลการเรียนของตัวเอง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมเวลาที่ลูกทำกิจกรรมต่างๆ สังเกตว่าลูกทำอะไรแล้วมีความสุข หรือลูกดูสูญเสียความมั่นใจในการทำอะไรบ้าง หากพบว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมแปลกไป เช่น เก็บตัว ไม่ค่อยเล่น หรือไม่ค่อยพูดคุยกับใคร คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและหาสาเหตุเพื่อหาทางแก้ไข และหากิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ลูกทำ เพื่อลดความกดดันและความรู้สึกกังวลในใจลูก

4. ไม่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป

HikikomoriSyndrome_web_4

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เด็กเกิดอาการฮิคิโคโมริ คือเด็กรู้สึกถูกพ่อแม่หรือสังคมรอบตัวกดดัน จนรู้สึกเครียด เพราะถูกคุณพ่อคุณแม่คาดหวังหรือเคร่งครัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป

ดังนั้น นอกจากคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตตัวเองว่าเข้มงวดกับลูก จนมีส่วนทำให้ลูกเครียดและกดดันมากเกินไปหรือเปล่า

และถ้าทำได้ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนความคาดหวังในตัวลูกให้เป็นการสนับสนุนให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบและคอยให้กำลังใจแทนจะดีกว่า

ที่มา
bbc
raisingchildren
nippon

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST