วิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้ปกครอง คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลการเติบโต การเรียนรู้ พัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก
การเลี้ยงดูลูกจึงไม่ได้หมายถึงการดูแลทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่คุณพ่อคุณแม่ยังต้องมีความรัก ความเข้าใจ และ จิตวิทยาการเลี้ยงลูก ที่ต้องนำมาปรับใช้กับลูกอย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจเทคนิคและหลักการการเลี้ยงดูที่จะช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับลูกทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจ จิตวิทยาการเลี้ยงลูก ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับลูกทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม จิตวิทยาการเลี้ยงลูกจึงไม่เพียงสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพจิตดีและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
แล้วการเลี้ยงลูกแบบไหนที่จิตแพทย์อยากแนะนำ? เรามีคำตอบค่ะ
1. สร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัว

เด็กทุกคนต้องการความรักและความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ และการเห็นคุณค่าในตัวเอง ดังนั้น การแสดงความรัก เช่น การกอด การพูดให้กำลังใจ และการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและส่งผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก ช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่สามารถรับมือกับความเครียดและความท้าทายในชีวิตได้เป็นอย่างดี
2. เป็นแบบอย่างที่ดี

เด็กเรียนรู้พฤติกรรมและค่านิยมผ่านการสังเกตและเลียนแบบพ่อแม่ การแสดงความซื่อสัตย์ มีน้ำใจ และการจัดการปัญหาอย่างมีเหตุผล จะช่วยให้เด็กซึมซับพฤติกรรมที่เหมาะสมและนำไปปรับใช้ในชีวิต นอกจากนี้ การแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพ่อแม่เองยังเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้เด็กเข้าใจผลลัพธ์ของการตัดสินใจ
3. ให้คำแนะนำและสนับสนุน

คุณพ่อคุณแม่ควรทำหน้าที่เป็น ‘โค้ช’ ที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และเป็นที่ปรึกษาที่ดี มากกว่าการออกคำสั่งให้ทำ เพราะการพูดคุยและการให้คำปรึกษาเมื่อลูกต้องการ จะช่วยให้ลูกเปิดใจและไว้ใจคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น ดนตรี กีฬา หรือศิลปะ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและอาจนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้
4. สร้างกฎเกณฑ์และขอบเขตที่ชัดเจน

การตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเหมาะสมตามวัยของลูก จะช่วยพัฒนาวินัยและความรับผิดชอบให้ลูกได้ แต่ไม่ใช่แค่กับลูกเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรปฏิบัติไปในทางเดียวกันและทำตามกฎอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความสับสนและความขัดแย้งในครอบครัว เพราะขอบเขตที่ได้รับจากครอบครัว คือพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมต่อไป
5. ให้โอกาสเด็กใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์

ธรรมชาติของเด็กคือการมีพลังงานเต็มเปี่ยม เด็กๆ จึงต้องการกิจกรรมเพื่อปลดปล่อยพลังงานและพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปด้วย การส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา ทำงานศิลปะ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเสริมพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และทักษะทางสังคมให้ลูกได้
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ยังช่วยลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย
6. รับฟังและเข้าใจความรู้สึกของลูก

การเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็นหรือเล่าความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก การรับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสินช่วยให้ลูกกล้าพูดคุยและเปิดใจมากขึ้น นอกจากนี้ การสะท้อนความรู้สึกที่เด็กเล่ากลับไป ช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะระบุอารมณ์ของตนเองและจัดการกับความรู้สึกได้ดียิ่งขึ้น
7. ดูแลสุขภาพจิตของพ่อแม่ก่อน

สุขภาพจิตของคุณพ่อคุณแม่มีผลโดยตรงต่อการเลี้ยงดูลูก หากคุณพ่อคุณแม่มีความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิต อาจส่งผลต่อบรรยากาศในครอบครัวและพฤติกรรมของลูกได้
คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลตัวเองด้วยการการพักผ่อนให้เพียงพอ การทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย หรือการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในวันที่รู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และจิตใจของตัวเองได้ ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสำคัญในการสร้างครอบครัวที่มีสุขภาพจิตดี เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่มีความสุขและมีความมั่นคงทางอารมณ์ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้ลูกเติบโตอย่างมีศักยภาพต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST