จะมีเจ้าตัวแสบบ้านไหนที่ไม่เค้ย ไม่เคยทำความผิดสักครั้งเลยไหมคะ? ถามแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจรวมใจกันแล้วตอบเป็นเสียงเดียวว่า ไม่มี!
ใช่ค่ะ, เพราะทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น แม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็ยังคงมีเรื่องที่ทำผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วกับลูกๆ ที่ยังอ่อนประสบการณ์และไร้เดียงสาอย่างนั้น ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะระมัดระวังและแก้ให้ดีขึ้นเสมอแต่เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่มักจะมาคู่กันก็คือการลงโทษ แต่การลงโทษที่ดี คือการทำเพื่อให้เด็กรู้ตัวว่าทำผิดและไม่ควรทำซ้ำอีก การลงโทษจึงไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงหรือพูดจากทำร้ายจิตใจลูก เพราะการลงโทษเด็กที่ไม่สร้างสรรค์ แทนที่จะช่วยแก้ปัญหา อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาในอนาคตได้
แล้วการลงโทษอย่างสร้างสรรค์ ที่นอกจากจะไม่ทำร้ายจิตใจลูกแล้ว ยังช่วยสอนลูกอย่างได้ผลมีอะไรบ้าง เรามีไอเดียมาเสนอค่ะ
1. ทำงานบ้านเพื่อเก็บคะแนน

คุณพ่อคุณแม่อาจจะลงโทษด้วยการให้ลูกช่วยทำความสะอาดบ้าน โดยมีการกำหนดคะแนนให้กับงานบ้านแต่ละอย่าง เช่น กวาดบ้าน 50 คะแนน เก็บผ้า 20 คะแนน วิธีการคือ มีสมุดสะสมคะแนน และกำหนดเป็นกติกาที่เข้าใจร่วมกัน เช่น ถ้าลูกรังแกคนอื่น จะต้องโดนหัก 100 คะแนน ดังนั้นลูกจะโดนลงโทษด้วยการช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านเพื่อเก็บคะแนนเพิ่ม
การทำงานบ้านจะช่วยให้ลูกมีเวลาทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง และยังช่วยให้ลูกได้เรียนรู้วิธีทำงานบ้านและช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย
2. กำหนดเวลาและจับเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ

เด็กๆ มักมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารเวลา เช่น กินข้าวหรืออาบน้ำนานเกินไปเพราะมัวแต่ห่วงเล่น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดกติการใช้เวลาในการทำกิจวัตรต่างๆ ของลูกได้ เช่น ลูกควรจะกินข้าวให้เสร็จภายในกี่นาที ถ้าลูกทำไม่ได้หรือใช้เวลาเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ ลูกจะโดนลงโทษด้วยการลดเวลาเล่นเกมหรืออ่านนิทานก่อนนอน
3. ให้ใช้อุปกรณ์หรือของเล่นน้อยลง

ถ้าลูกมีนิสัยชอบวางของเล่นหรือของใช้ต่างๆ ไม่เป็นที่ เล่นเสร็จก็วางทิ้งเกลื่อนกลาดไปทั่ว การลงโทษเพื่อแก้นิสัยไม่ยอมเก็บของให้เป็นที่ของลูก อาจใช้วิธีการลดสิทธิ์ในการใช้ของนั้นๆ เช่น ถ้าเล่นลูกบอลแล้วไม่เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย คุณแม่จะเอาบอลไปเก็บที่อื่นและลูกจะไม่ได้เล่นอีกเป็นเวลาสองวัน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อเล่นหรือใช้สิ่งของอะไรแล้วจะต้องเก็บเข้าที่ เพื่อให้สามารถหยิบมาเล่นในครั้งต่อไปได้
4. Time-outs ไม่เวิร์กก็ลอง Time-in ดู

เวลาที่ลูกร้องไห้งอแงมากๆ เข้า คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธี Time out กับลูก คือให้ลูกไปนั่งสงบสติอารมณ์เงียบๆ ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลานานและไม่ได้ผล
ถ้าอย่างนั้นลองมาใช้วิธีการ Time in คือการให้ลูกได้จดจ่อกับการทำกิจกรรมบางอย่างไปจนกว่าจะสงบสติอารมณ์ได้ เช่น ถ้าลูกยังไม่พร้อมที่จะคุยกับคุณพ่อคุณแม่ ก็ให้นั่งวาดรูประบายสีพร้อมกับทบทวนความผิดพลาดของตัวเองไปด้วย
COMMENTS ARE OFF THIS POST