READING

ชีวิตล็อกดาวน์ กับ 5 วิธีช่วยลูกให้ไม่เฉื่อยชา...

ชีวิตล็อกดาวน์ กับ 5 วิธีช่วยลูกให้ไม่เฉื่อยชา

เฉื่อยชา

ช่วงเวลาล็อกดาวน์ กิจวัตรประจำวันทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความเข้มข้นของนโยบายป้องกันโรคระบาด 

คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทำงานอยู่ที่บ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ เด็กๆ นอกจากต้องปรับตัวเรื่องเรียนออนไลน์แล้ว กิจกรรมที่เคยทำได้ เช่น ออกไปวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ เล่นกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ต้องงดและพยายามเก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด

สิ่งที่ตามมาก็คือลูกเริ่มขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา ไม่มีสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรมใหม่ๆ มาทำให้รู้สึกตื่นเต้นอีกต่อไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาวิธีกระตุ้นและรักษาความกระตือรือร้นของลูกเอาไว้ เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกมีพลังที่จะสนใจ เรียนรู้ และสนุกกับการเติบโตของตัวเองต่อไป

แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยให้ลูกเป็นเด็กกระตือรือร้น ไม่ เฉื่อยชา และมีความสุขได้อย่างไรบ้าง เรามาลองเริ่มไปพร้อมกันนะคะ

1. มอบหมายงานให้ทำ

มอบหมายงานให้ทำ

กิจกรรมในบ้านอาจจะไม่น่าตื่นเต้นมากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถมอบความรู้สึกมีคุณค่าให้ลูกได้ด้วยการมอบหมายงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน หรือเก็บของเล่นเข้าที่ด้วยตัวเอง

การมอบหมายงานให้ลูกทำ จะทำให้ลูกได้เปลี่ยนกิจวัตรของตัวเอง ได้ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายแทนนั่งเรียนออนไลน์ตลอดทั้งวัน

ที่สำคัญคือควรเป็นงานที่ลูกเต็มใจหรือเลือกเองว่าอยากทำ และคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้มงวดกับผลลัพธ์ของงานนั้นมากเกินไป เพราะแทนที่ลูกจะรู้สึกสนุกกับการทำงาน ก็อาจกลายเป็นเพิ่มความเครียดและลูกจะกลายเป็นไม่อยากทำอะไรมากขึ้นไปอีก

2. กระตุ้นลูกด้วยการให้รางวัลบ้าง

ให้รางวัล

ในวันที่ลูกทำภารกิจต่างๆ ได้ดี เช่น ทำได้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น หรือทำเสร็จก่อนเวลา คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นการแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกประสบความสำเร็จในหน้าที่ของตัวเอง จะทำให้ลูกมีความกระตือรือร้นที่อยากจะลองทำสิ่งอื่นมากขึ้น

3. กำหนดตารางเวลาและกิจวัตรประจำวัน

กำหนดตารางเวลา

การมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอจะทำให้ลูกรู้เป้าหมายและคาดการณ์ชีวิตของตัวเองได้ ว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องทำอะไร และควรใช้เวลานานแค่ไหน เพื่อให้สามารถทำกิจวัตรต่อไปได้ตามเวลาที่ตั้งใจ

นอกจากนั้น การมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกเลื่อนลอย เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร หรือคิดว่าอยากทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะช่วยฝึกวินัยและความรับผิดชอบ ทำให้ลูกไม่เป็นเด็กเฉื่อยชาเพราะไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง

4. กำหนดเวลาหน้าจอ

กำหนดเวลาหน้าจอ

ในปัจจุบันเจ้าเหล่าหน้าจอถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในยุคนี้โดยเฉพาะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้สักทีเดียวว่าการอยู่แต่หน้าจอทั้งวันมันมีผลเสียที่พร้อมจะตามมาทุกเมื่อ และก็ยังมีผลเสียลามไปถึงความกระตือรือร้น ความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวของเด็กลดลง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรกำหนดเวลาการใช้หน้าจอให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก และเมื่อหมดเวลาแล้วให้ชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกาย ก็จะช่วยลดอาการเฉื่อยชาของลูกได้เป็นอย่างดี

5. ให้ลูกรู้ผลลัพธ์ของการปล่อยตัวเองให้เฉื่อยชา

lockdownlife_web_5

ถึงแม้จะทำทุกวิถีทาง มอบหมายงานก็แล้ว มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนก็แล้ว แต่บางครั้งลูกก็เกิดอาการเบื่อและไม่อยากทำนั่นทำนี่อยู่ดี

คุณพ่อคุณแม่จึงควรบอกผลลัพธ์จากการที่ลูกขาดความกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง ผลเสียของการเป็นคนเฉื่อยชา เช่น ถ้าลูกไม่รีบทำการบ้านให้เสร็จตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ลูกก็จะเหลือเวลาฟังนิทานน้อยลงไปด้วย การบอกให้ลูกสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมา จะช่วยกระตุ้นให้ลูกมีความรับผิดชอบและเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองได้

อ้างอิง
lifehack
kidvento

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST