การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กมีความสุข น่าจะเป็นหนึ่งในความตั้งใจลึกๆ ของพ่อแม่ทุกคน นั่นจึงทำให้ประโยค ‘เด็กๆ ต้องเล่นเดี๋ยวนี้’ จากซีรีส์เกาหลี Extraordinary Attorney Woo (อูยองอู ทนายอัจฉริยะ) กลายเป็นแฮชแท็กที่โดนใจพ่อแม่อย่างเราเหลือเกิน
คำพูดนี้มีที่มาจาก บังกูปง ชายหนุ่มผู้ลักพาตัวเด็กๆ เพื่อไปเล่นที่เนินเขา ด้วยเหตุผลง่ายๆ สามข้อก็คือ ‘หนึ่ง—เด็กๆ จะต้องเล่นเดี๋ยวนี้ สอง—เด็กๆ จะต้องสุขภาพแข็งแรงเดี๋ยวนี้ และสาม—เด็กๆ จะต้องมีความสุขเดี๋ยวนี้’ ประโยคและแนวคิดนี้ตรงกับสิ่งที่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายเอาไว้ว่า ‘สำหรับเด็กปฐมวัย นิ้วมือคือสมองที่สอง นิ้วมากกว่าสมองดีกว่า เล่นสิบนิ้วสมองดีมากกว่า แต่เมื่อบังคับให้ลูกเขียนหนังสือ หรือระบายสีให้สวยก่อนวัยอันควร เขาจะจับดินสอสามนิ้ว สมองดีสามส่วน แล้วแช่แข็งเจ็ดนิ้วที่เหลือ’
ดังนั้น การ เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กมีความสุข คุณพ่อคุณแม่จึงต้องปล่อยให้ลูกได้เล่น เพราะการเล่น ไม่ใช่เพื่อเล่นสนุก แต่เพื่อสมองที่ดี เพราะสมองที่ดีเป็นพื้นฐานของการมี EF ที่ดี เพื่อให้เด็กๆ รู้จักควบคุมตัวเองและเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในอนาคต ส่วนที่เหลือก็คือการสร้างวินัยในการดูแลตัวเองกับลูก แล้วปล่อยให้ลูกเติบโตเป็น ‘เด็กธรรมดาที่มีความสุข’ เพื่อพาตัวเองไปสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21
ได้เวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะปลดแอกตัวเอง แล้ว เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กมีความสุข ปลดปล่อยให้ลูกได้เล่นซนอย่างมีความสุข เพื่อรักษาความเป็นเด็กน้อยที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่จะเป็นรากฐานชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ปล่อยให้เล่น สร้างวินัย และส่งเสริมให้ลูกทำงานบ้านตามวัย
#ลูกต้องได้เล่นเดี๋ยวนี้ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science and Medicine in Sport ปี 2017 ระบุว่า การเล่นกลางแจ้งสามารถพัฒนาทักษะการเข้าสังคมให้กับเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีเวลาออกไปเล่นนอกบ้าน จะสามารถเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ การมีส่วนร่วม การควบคุมตัวเอง และมีความสุขมากยิ่งขึ้น เมื่อได้ปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของตัวเองผ่านการเล่นอย่างเต็มที่
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูก #สร้างวินัย ในการดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย หรืออย่างช้า ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกอายุเกิน 6 ปี เพื่อให้ลูกสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมและดูแลตัวเอง เพราะการควบคุมและดูแลตัวเองได้นั้นจะส่งผลในระยะยาวต่อไป
ผลการศึกษาปี 2014 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Personality พบว่า คนที่สามารถควบคุมตนเองได้ดี จะมีความสุขและอารมณ์ดีมากขึ้น แต่หากอ่อนวินัย ลูกอาจจะสบายใจและมีความสุขแค่ชั่วขณะ แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้น เขาก็จะเจ็บปวดจากการขาดวินัยมากเกินกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยได้
#ให้ลูกทำกิจวัตรที่เหมาะสม เช่น การมอบหมายงานบ้าน ให้ลูกรับผิดชอบทำเป็นหน้าที่ประจำ ก่อนอายุ 12 ปี
จากงานวิจัยของ Marty Rossmann รองศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการศึกษาครอบครัว มหาวิทยาลัยมินนิโซตา แสดงให้เห็นว่า การให้เด็กทำงานบ้านตั้งแต่อายุ 3-4 ปี จะให้เด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ รู้จักรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของตัวเอง และนำไปสู่การเป็นคนที่มีความสุขแต่ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองได้
โรสส์แมนน์ให้ความเห็นต่อว่า การที่เด็กได้ทำงานบ้าน พวกเขาจะรู้สึกว่ากำลังทุ่มเท และเป็นส่วนสำคัญของครอบครัว ความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยให้ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง เมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก และสามารถรับมือกับสิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ได้ด้วยดี
2. ชวนลูกค้นหาความสุขรอบตัว
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “การใช้ชีวิตมีเพียงสองวิธีเท่านั้น หนึ่งใช้ชีวิตราวกับว่าปฏิหาริย์ไม่มีจริง และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือปาฏิหาริย์”
คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนให้ลูกสังเกต ‘ปาฏิหาริย์’ ในชีวิตประจำวัน และปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสความสุขในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน อาจจะเป็นเพียงแค่เพียงการได้ตื่นขึ้นมาแล้วได้กินมื้อเช้าแสนอร่อย การหาผีเสื้อตัวเล็กๆ เจอ ท่ามกลางตึกระฟ้า ความอบอุ่นที่เกิดจากการได้ทักทายคุณตาที่ลุกเดินได้หลังจากไม่สบายไปหลายวัน
เช่นเดียวกับ Fred Bryant ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิจัย Loyola University Chicago ระหว่างที่เขาเดินออกกำลังกายแบบ Savoring Walks ทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์และได้พบความเป็นจริงที่ว่า ‘ความสุขเล็กๆ น้อยๆ แต่ค่อยๆ มากขึ้น ล้วนเกิดจากการสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวอย่างมีสติ’
ในขณะเดียวกัน เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่า อะไรสำคัญกับชีวิต จากการมองเห็นความสุขรอบตัวของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
3. ส่งยิ้มให้กับตัวเองและผู้อื่น
#ส่งยิ้ม คุณพ่อคุณแม่สามารถเชื่อมโยงลูก และจักรวาลแห่งความสุขให้เป็นนิสัยได้ด้วย ‘การยิ้ม’ ส่งเสริมให้ลูกและเรายิ้มให้กับตัวเอง ยิ้มให้กับคนที่รัก ยิ้มให้กับเพื่อน และยิ้มให้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ผ่านการทำให้ลูกเห็นด้วยรอยยิ้มและทัศนคติเชิงบวกของคุณพ่อคุณแม่
#เอ่ยคำชม ความสุขที่ใกล้ตัวที่สุดคือ พลังของการชมเชย รัก และชื่นชมตัวเอง ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่างได้ เพียงแค่บอกรักและชื่นชมตัวเองให้ลูกได้ยิน แต่ถ้าวันไหนที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกล้มเหลว ก็พูดให้กำลังใจตัวเองออกมาได้เช่นกัน
4. สอนให้ลูก ‘ขอบคุณ’ จากใจ
Sara Algoe ผู้อำนวยการฝ่ายอารมณ์และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในห้องทดลองความสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า การสอนให้ลูกรู้จักขอบคุณตัวเอง ชื่นชมในสิ่งที่ตัวเองมี และการแสดงความขอบคุณต่อคนรอบข้างอย่างเปิดเผย จะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีมารยาทในการเข้าสังคม สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวได้ และมีความสุขเมื่อกล่าวคำขอบคุณออกมาจากใจจริง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
ดังที่ L. Frank Baum นักเขียนชาวนิวยอร์ก ผู้แต่งวรรณกรรมเด็กสุดคลาสสิก The Wonderful Wizard of Oz (ปี 1900) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ในโลกนี้ ไม่มีอะไรสวยงาม เท่าเด็กที่มีความสุข”
COMMENTS ARE OFF THIS POST