READING

ทำไมลูกชอบฝืนกฎ! 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกเป็นเด็กไ...

ทำไมลูกชอบฝืนกฎ! 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกเป็นเด็กไม่ทำตามระเบียบ

ฝืนกฎ

ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเล็กๆ หรือสังคมขนาดใหญ่ การจะทำให้ทุกคนสามารถมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกันได้ ย่อมต้องมีการตั้งกฎเกณฑ์และข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน

บ้านและครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญที่จะสอนให้ลูกเรียนรู้การเคารพกฎระเบียบในสังคม แต่บางครั้งลูกก็พยายามเหลือเกินที่จะต่อต้านและไม่ยอมทำตามกฎระเบียบที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้ ยิ่งบอก ยิ่งเตือนก็เหมือนลูกจะยิ่งอยาก ฝืนกฎ มากขึ้นเรื่อยๆ จนคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกมีนิสัยหรือชอบทำตัวเป็นเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง และไม่รู้ว่าจะรับมือกับลูกได้อย่างไร

แต่อะไรที่ทำให้ลูกชอบ ฝืนกฎ ไม่เคารพกฎระเบียบ และไม่ทำตามข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน เรื่องอย่างนี้ต้องมีที่มาค่ะ

1. ลูกมีความเครียดหรือมีอารมณ์ที่รุนแรง

โมโห

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่ากฎระเบียบในบ้านมากและเข้มงวดเกินไปจนทำให้ลูกเกิดความเครียดหรือเปล่า เพราะความเครียดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากทำตามกฎระเบียบที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้

นอกจากนั้นสภาพจิตใจและอารมณ์ของลูก เช่น ความโกรธ อึดอัด เสียใจ หรือไม่พอใจ ก็ทำให้ลูกมีพฤติกรรมชอบฝืนหรือทำผิดกฎระเบียบได้

2. กฎระเบียบเกณฑ์ที่ตั้งเข้มงวดเกินไป

แหกกฎ

บางครั้งลูกอาจไม่ได้ต้องการฝืนกฎ แต่ที่ลูกไม่ทำตามกฎอาจเป็นเพราะว่ากฎที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งไว้เข้มงวดและยากเกินไปสำหรับช่วงวัยของลูก

การตั้งกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงภายในบ้านควรคำนึงถึงช่วงวัยของลูก ว่าลูกสามารถเข้าใจและทำอะไรได้แค่ไหน  หากกฎที่ตั้งขึ้นมายากเกินกว่าที่ลูกจะทำตามได้ คุณพ่อคุณแม่จึงเข้าใจว่าลูกไม่ยอมทำตามกฎระเบียบภายในบ้าน

3. ลูกอยากมีส่วนกำหนดหรือควบคุมอะไรด้วยตัวเองบ้าง

ควบคุม

กฎระเบียบในบ้านมักเกิดจากการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงการกำหนดกิจวัตรประจำวันของลูก เช่น มื้อนี้ต้องกินอะไร แต่งตัวอย่างไร ไปไหน และทำอะไรเมื่อไหร่ โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ทันคิดว่าลูกอาจจะไม่ได้เต็มใจหรืออยากทำอย่างนั้น ทางที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองตัดสินใจและมีส่วนร่วมในการตั้งกฎระเบียบภายในบ้าน เพื่อให้ลูกได้แสดงความเห็นและมีทางเลือกที่ตัวเองรู้สึกสบายใจที่จะทำตามได้โดยไม่รู้สึกฝืนใจตั้งแต่แรก

4. ลูกอยากรู้ขีดจำกัดของคุณพ่อคุณแม่

ขีดจำกัด

เด็กๆ มักมีความอยากรู้และอยากลองทดสอบขีดจำกัดของตัวเองว่าจะทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน เช่น เล่นเสียงดังได้แค่ไหน รื้อของตรงนี้ได้ไหม ขว้างบอลใส่คนอื่นได้หรือเปล่า และถ้าทำแล้วคุณพ่อคุณแม่จะว่าอย่างไรบ้าง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการบอกขอบเขตให้ลูกเข้าใจว่าสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน และแค่ไหนที่คุณพ่อคุณแม่จะถือว่าเป็นการทำผิดกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้ เช่น ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เล่นเสียงดัง แต่ลูกอาจจะไม่เข้าใจว่าเสียงดังแค่ไหนถึงผิดข้อตกลง ลูกจึงลองเล่นเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดสอบข้อจำกัดนั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจว่า ลูกไม่ควรเล่นจนเสียงดังออกมานอกห้อง เพราะจะเป็นการรบกวนคนอื่นได้

อ้างอิง
extension
scholastic
lifehacker

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST