READING

พ่อแม่กลุ้มใจ ทำไมลูกไม่ค่อยยอมเล่าอะไรให้ฟัง?!...

พ่อแม่กลุ้มใจ ทำไมลูกไม่ค่อยยอมเล่าอะไรให้ฟัง?!

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมคาดหวังว่าตัวเองจะเป็นคนที่ลูกให้ความไว้วางใจที่สุดในชีวิต อยากเป็นคนที่ลูกต้องการแลกเปลี่ยนและพูดคุยทุกเรื่องที่พบเจอให้ฟัง โดยเฉพาะเมื่อลูกเติบโตถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียน การได้เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบตัวจะทำให้ลูกของเราต้องพบเจออะไร และเขารับมือกับมันอย่างไรบ้าง ย่อมเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากรู้

แต่เอ๊ะ… พอถามลูกกลับบ่ายเบี่ยงไม่ค่อยอยากจะเล่าให้ฟัง เป็นแบบนี้บ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งกังวลใจมากขึ้น

ก่อนที่จะคิดไปไกล ต้องเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมของลูกล้วนมีเหตุผลวันนี้ M.O.M ลองรวบรวมเหตุผลว่าทำไมลูกถึงชอบมีอาการเหมือนไม่ค่อยอยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังมาบอกกันค่ะ

1. คุณพ่อคุณแม่ชอบแก้ปัญหาให้ลูกทุกอย่าง

kiddonttellanything_web_1

บางครั้งเมื่อลูกเจอปัญหา เขาอาจเพียงแค่อยากเล่า หรือระบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่พยายามยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ทุกอย่างโดยที่ลูกไม่ได้ร้องขอ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและไม่กล้าเล่าอะไรให้ฟังเท่าไรนัก

ดังนั้นแทนที่คุณพ่อคุณแม่จะคอยทำหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง ลองเปลี่ยนเป็นถามก่อนว่าลูกอยากให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยจัดการเรื่องนี้หรือไม่ อยากให้ช่วยกันคิดหาทางออกด้วยกันหรือเปล่า จะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและอยากเล่าเรื่องที่เจอมาให้คุณพ่อคุณแม่ฟังมากขึ้น

2. คุณพ่อคุณแม่พูดมากกว่าที่จะรับฟัง

kiddonttellanything_web_2

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจหลงลืมการทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยการพูดและอบรมสั่งสอนตลอดเวลาที่ลูกกำลังเล่าเรื่องราวของตัวเอง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรอให้ลูกเล่าหรือพูดให้จบ ไม่ขัดจังหวะ ไม่ชิงพูดแทรกหรือออกความเห็นในขณะที่ลูกกำลังเล่า เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่พร้อมที่จะรับฟัง และช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรื่องราวก็จะกลายเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้สั่งสอนเขาแทน

3. คุณพ่อคุณแม่ชอบตัดสินและต่อว่า

kiddonttellanything_web_3

คงไม่มีใครสบายใจหากเล่าอะไรออกไปแล้วสิ่งที่ได้กลับมาคือการตำหนิและต่อว่า ลูกของเราก็เช่นกันค่ะ บางทีลูกอาจต้องการเล่าสิ่งที่พบเจอ รวมถึงสิ่งที่ทำผิดพลาด ด้วยความคาดหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะรับฟังอย่างเข้าใจ ปลอบใจ และให้กำลังใจเขามากกว่าที่จะตำหนิและต่อว่าสิ่งที่เขาทำผิดพลาดไปแล้ว

ทางที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการตำหนิหรือตักเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟัง ควรพูดขอบคุณที่ลูกไว้ใจและชื่นชมที่ลูกกล้าเล่าความผิดพลาดของตัวเองให้ฟัง แล้วให้กำลังใจหรือแนะแนวทางแก้ไขแทนการต่อว่า เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกถูกตัดสินหรือคิดผิดที่ตัดสินใจเล่าเรื่องต่างๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง

4. คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลา

kiddonttellanything_web_4

จริงๆ แล้วลูกอาจจะพร้อมและอยากจะเล่าเรื่องราวที่เจอมาให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่พอจะเล่า คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ว่าง  รอแล้วรออีกก็ไม่มีวี่แววเลย หรือเริ่มฟังไปได้ไม่นานก็มีอะไรมาขัดจังหวะ ทำให้ลูกเริ่มเสียความมั่นใจ พอนานไป กลายเป็นลูกเริ่มรู้สึกห่างเหินและไม่อยากเล่าอะไรให้ฟังอีก

ดังนั้น นอกจากพฤติกรรมของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตแล้ว อย่าลืมย้อนกลับมาดูพฤติกรรมของตัวเอง ว่าเรามีส่วนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่ค่อยเล่าหรือเปิดใจคุยกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยหรือเปล่านะคะ

อ้างอิง
imperfectfamilies
todaysparent
developingminds

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST