M.O.M ชวนคุณพ่อคุณแม่มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ถามตอบปัญหา แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ตั้งวงเป็น ‘M.O.M คลับ (แม่) เมาท์ คุยทุกเรื่องรอบลูก’ พร้อมแขกรับเชิญที่จะมาร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ รอบตัวพ่อแม่ลูก
และในเซสชั่นที่ 3 ครูเม—มาริษา ยอดมณฑป จากเพจตามใจจิตวิทยา กลับมาอีกครั้งเพื่อพูดคุยและตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ เรื่องวัยทองของลูกๆ ที่ไม่ใช่แค่ 2 ขวบ แต่ลากยาวไปถึง 2-3-4 ขวบกัน!
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เข้าฟังเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เรามีสรุปคำถามคำตอบที่น่าสนใจจากห้องสนทนามาให้ติดตามกันค่ะ
1. คำว่า ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ที่ได้ยินบ่อยๆ หมายความว่าอะไร และมีตัวชี้วัดการเป็นแม่ที่มีอยู่จริงอย่างไร
• ไม่มีเกณฑ์ชี้วัดการเป็นแม่ที่มีอยู่จริง แต่การที่ลูกฟังเรา และลูกรู้สึกว่าเราก็รับฟังเขา เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องคับข้องใจลูกมาหาเราและไม่กลัวที่จะแสดงอารมณ์ตัวเองออกมาต่อหน้าเรา เพราะเขารู้ว่าแม่ยอมรับตัวของเขาได้
• แม่ที่มีเวลาคุณภาพให้ลูก แม่ที่พร้อมจะเล่นและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก พ่อแม่ที่พร้อมจะยอมรับ ปรับปรุง ขอบคุณ ขอโทษ และบอกรักลูก นี่คือนิยามของ ‘พ่อแม่ที่มีอยู่จริง’ ที่ครูเมหมายถึง
ถ้าเราไม่เคยเป็นแม่ที่มีอยู่จริงให้ลูกมาก่อน จะสามารถเรียกคืนสิ่งนี้ได้ไหม
• พ่อแม่สามารถกลับมาเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงได้เสมอ แต่อาจต้องใช้เวลามากหรือน้อยแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ลูกรู้ว่าเราพร้อม มีความสม่ำเสมอ และสามารถทำตามสัญญาอะไรก็ตามที่ไว้กับลูกได้
2. ลูกชาย 4 ขวบ มีเพื่อนสนิทที่ชอบใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเวลาโกรธหรือไม่พอใจก็จะตีและต่อยคนอื่น ซึ่งลูกเราก็โดนมาบ้าง แต่ก็มักจะยอมตลอด ปัญหาคือตอนนี้ลูกชายเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบ เอาความรุนแรง มาใช้กับน้องวัย 2 ขวบ จะทำอย่างไรดี
• อย่างแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องดูว่าลูกเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ เพราะถ้าพัฒนาการทางร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็อาจส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ของลูกได้
• ตั้งกฎ 3 ข้อ ของการอยู่ร่วมกัน คือไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ
• ในบ้านควรมีจุดสงบ (calm down spot) เป็นพื้นที่สำหรับให้ลูกได้ระบายความโกรธและสงบสติอารมณ์ เช่น มีนวมให้ต่อย มีบีนแบ็กให้ทิ้งตัว หรือมีตุ๊กตาให้กอด
• บอกให้ลูกรู้ว่า แม่อนุญาตให้ลูกโมโหได้ แต่ไม่อนุญาตให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
• เมื่อลูกทำผิดกฎของการอยู่ร่วมกัน เช่น ทำร้ายน้อง ให้พาลูกไปที่จุดสงบ คอยพูดคุยกับลูก บอกลูกว่าเวลาที่โกรธอะไรที่ไม่ควรทำ และอะไรบ้างที่ลูกสามารถทำได้
• เด็กเล็กหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ควรได้เล่นหรือออกกำลังกาย เอาต์ดอร์อย่างน้อยสองชั่วโมงต่อวัน ถ้าเด็กได้เล่นและปล่อยพลังงานจนเหนื่อยแล้ว จะมีแรงไปทำร้ายคนอื่นน้อยลง
• พ่อแม่ควรเป็นคนที่สอนให้ลูกรู้จักการสัมผัสที่อ่อนโยน ลูกจะได้นำไปใช้กับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม
3. ลูกชายอายุ 2 ขวบ ชอบกรี๊ดเวลาที่ต้องการความสนใจ เช่น ไปร้านอาหาร หรือขับรถแล้วแม่คุยกับคุณพ่อ ทุกครั้งที่ลูกกรี๊ด แม่จะรับมือด้วยการเงียบ และบอกให้เขาค่อยๆ พูด แต่ก็ไม่ได้ผล อยากถามว่าจะรับมือต่อไปอย่างไร
• ถ้าคุณแม่เคยบอกลูกไปแล้วว่าถ้าต้องการเรียกหรือพูดอะไรกับคุณแม่ ให้เรียกแล้วค่อยๆ พูด และไม่ใช้วิธีกรี๊ด แต่ลูกไม่ฟังและยังคงทำอยู่ วิธีรับมือก็คือ เวลาลูกกรี๊ดให้พาลูกออกจากที่เกิดเหตุ แล้วบอกลูกว่าการกรี๊ดมันไม่โอเคยังไง เช่น ที่นี่เป็นร้านอาหารที่มีคนเยอะ เราจะไม่กรี๊ดกันในสถานที่แบบนี้
• และถ้าลูกยังกรี๊ดอยู่ บอกให้ลูกรู้ว่าเราจะยังไม่กลับไปจนกว่าลูกจะพร้อม และถ้าลูกไม่พร้อมที่จะสงบ ให้พากลับบ้านก่อน เพราะลูกกำลังจะรบกวนคนอื่น
ช่วงนี้ลูกเริ่มมีพฤติกรรมตีเพื่อนด้วย บางทีเพื่อนนั่งคาร์ซีตอยู่ข้างๆ กัน พอเพื่อนจับคาร์ซีตของเขา เขาก็ตีเพื่อนทันที แม่ขับรถอยู่จะหันไปห้ามเขาจริงจังก็ไม่ได้ และไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะดีลกับเขายังไง
• การที่เด็กตีคนอื่น เกิดจากความไม่พอใจของเขา เพราะเขายังพูด บอก หรือสื่อสารได้ไม่ทันใจ การตีทำได้ง่ายและเร็วกว่า เพราะทำแล้วเพื่อนหยุดทันที เด็กเลยชอบใช้ร่างกายตอบสนองมากกว่า
• สอนให้ลูกพูดคำว่า ‘ไม่เอา’ หรือ ‘อย่า’ เพื่อให้เขาบอกคนอื่นแทนการตี
• การสอนลูก ควรสอนตอนที่ยังอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เพราะเด็กยังมีความจำและการเชื่อมโยงได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่ การปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปนานๆ แล้วกลับมาสอนลูกเรื่องเก่า ลูกอาจจะลืมไปแล้ว
4. เป็นคุณพ่อ มีลูกอายุ 1 ขวบครึ่ง ภรรยาทำงานนอกบ้าน ตัวเองเลี้ยงลูกเป็นหลัก และสังเกตว่าลูกชอบตีเรา ตีเราคนเดียว ไม่ตีคนอื่น และตอนนี้ภรรยากำลังจะมีน้องคนเล็ก ก็เลยมีความกังวลที่จะต้องเลี้ยงลูกสองคนในเวลาเดียวกัน ถ้าลูกงอแงขึ้นมาพร้อมกัน เราควรรับมือกับใครก่อน
• ต้องยอมรับว่าวัยขวบครึ่ง เวลาไม่พอใจอะไร เขาจะต้านเราสุดแรง ไม่ว่าจะตี ฟาด เตะ ต่อย เขาจะทำทุกอย่าง
• ถ้าลูกตีเรา ให้จับข้อมือเขา ย่อตัวลงนั่งให้เท่าลูก มองตา แล้วบอกเขาว่าไม่ตีนะ ไม่ทำ พอจะปล่อยมือก็บอกเขาว่า พ่อจะปล่อยแล้ว ลูกก็จะไม่ตีแล้วนะ
• คุยกับลูกได้ เช่น หนูไม่พอใจใช่ไหมที่พ่อทำแบบนี้ แต่มันจำเป็นนะ ถ้าลูกร้องไห้หรือดิ้น ก็ปล่อยเขา เราแค่นั่งรออยู่ข้างๆ พอลูกสงบค่อยบอกลูกว่าเมื่อกี้ไม่โอเคยังไง ขอโทษกันและกัน กอดเขาหนึ่งที
• ถ้าลูกงอแงขึ้นมาพร้อมกันสองคนแล้วต้องเลือกรับมือกับคนใดคนหนึ่ง ครูเมจะเลือกจัดการกับเด็กที่รู้เรื่องมากกว่าก่อน เพราะมีแนวโน้มที่เราจะทำให้สงบลงได้มากกว่า
5. ลูกสาวกำลังจะ 4 ขวบ เป็นเด็กสามภาษา เพราะตอนนี้ครอบครัวอยู่ที่สิงคโปร์ เวลาไปโรงเรียนจะเป็นเด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าพูด ไม่ตอบ แต่เวลาอยู่บ้านเขาก็พูดคุยกับเราได้ปกติ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับการที่ลูกเคยโดนทักว่าพูดไม่ชัดหรือเปล่า… แล้วควรทำยังไงดี
• พูดไม่ชัด อาจทำให้คนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาพูด ทำให้เขารู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ ก็เป็นไปได้ที่ทำให้เขาไม่ยอมพูด
• วิธีแก้คือ อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากโรงเรียน ให้มีคุณครูที่เขารู้สึกไว้วางใจ สามารถพูดคุยกับเขาได้ ไม่ตัดสิน และสนับสนุนให้เขาพูด
• ครูเมแนะนำว่า การเล่นบำบัด (Play Therapy) ก็ช่วยได้ เพราะการเล่นเป็นภาษาสากล เด็กจะลดความอัดอั้นตันใจ เพราะการบำบัดด้วยการเล่นและศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก ในห้องบำบัดนั้นเขาจะได้รับการยอมรับ ซึ่งมันจะช่วยให้เขายอมรับตัวเองมากขึ้น เรียกความมั่นใจของเด็กกลับมาได้
6. ลูกคนโตอายุ 4 ขวบ เราตกลงกันว่าในบ้านมีกฎสามข้อ คือไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ แต่ลูกจะบอกว่าเขาไม่ตกลงกับกฎสามข้อนี้ และชอบถามว่าถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เราบอกว่าไม่ดึงใบไม้นะคะ เขาก็จะถามว่าแล้วถ้าดึงจะทำไม เราบอกว่าไม่ตีคนอื่นนะ เขาก็จะถามว่าตีแล้วจะทำไม…
• ก่อนอื่นกฎสามข้อที่ว่านี้ ไม่ควรใช้ในเรื่องเล็กน้อย เช่น ถ้าลูกอยากเล่นซนตามพัฒนาการ อาจจะดึงใบไม้เพราะความสงสัยอยากรู้ก็ต้องปล่อยเขา ดีที่สุดคือการบอกว่าลูกเล่นอะไรได้บ้าง ตรงนี้ทำอะไรได้ พยายามเปิดโอกาสให้เขาเป็นอิสระมากที่สุด เพียงแตกฎฎสามข้อเป็นกรอบใหญ่
• ถ้าลูกบอกว่า เขาไม่ตกลงกับกฎนี้ ก็ให้บอกว่ากฎนี้เป็นกฎของบ้าน เป็นของทุกคนในครอบครัว และแทบจะทุกที่ก็ใช้กรอบหรือกฎนี้ ดังนั้นที่แม่สอนหนูเพราะอยากให้หนูอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข
• เด็กที่ตั้งคำถามเยอะ อาจเป็นเพราะเรามีกฎข้อห้ามมากเกินไป ดีที่สุดคือนอกจากการห้าม ควรบอกลูกว่าเขาสามารถทำสิ่งนี้ที่ไหนได้
• วัย 4 ขวบ เป็นวัยที่กำลังสร้างตัวตน ถ้าเขาโดนห้ามเยอะเกินไป ก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย อาจกลายเป็นเด็กที่กลัวไปหมด หรือต่อต้านไปหมดเลยก็ได้
7. มีลูกชายอายุ 1 ขวบ 9 เดือนเป็นคนเลี้ยงลูกด้วยการให้โอกาสและให้อิสระเขาเต็มที่ แต่ลูกค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง เช่น ถ้าเขาต่อเลโก้ไม่ได้ หรือวิ่งแล้วล้ม ถ้าเราถาม เขาจะไตอบ เหมือนเขาอยากจัดกา ถ้าเราจะช่วย เขาก็บอกอกไม่ ไม่ เหมือนเขาอยากทำเองให้ดีที่สุด
• เด็กวัยนี้กำลังอยากทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะเขากำลังพัฒนาความเป็นตัวเอง กำลังเรียนรู้ว่านี่คือร่างกายฉัน และกำลังทดสอบขีดจำกัดของตัวเอง
• สิ่งที่ทำได้คือสอนให้ลูกช่วยเหลื ตัวเอง ไม่ว่าจะอาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว แต่งตัว ถ้าเขาไม่ชอบใหหรือช่วยทำอคุณแม่ คุณแม่ก็ลองใช้ทำคู่ขนานไปกับลูก ลูกจะเป็นฝ่ายสังเกตพฤติกรรมและเลียนแบบเราแทน
• ถ้าลูกทำผิด หรือทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ให้บอกเขาว่าแม่ให้เวลาหนูเท่านี้นมีการจับเวลา ถ้าถึงเวลาแล้วลูกยังทำไม่ได้ แม่ขอเข้าไปช่วยนะคะ เพื่อให้เขายอมรับการสอนจากเราบ้าง
• อะไรก็ตามที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต มันก็คือการเรียนรู้ ถ้าลูกยังไม่อยากให้แม่เข้าไปช่วย ก็ปล่อยให้เขาจัดการตัวเอง
ล่าสุดเขามีอารมณ์หงุดหงิด แม่ก็เลยเข้าไปสอนเขาด้วยการแทนอารมณ์โกรธของเขาว่าเป็นพี่หมีจอมโวยวาย และบอกเขาว่าพี่หมีจอมโวยวายจะอยู่อีกไม่นานใช่ไหม เดี๋ยวลูกก็จะกลับมาเป็นพี่หมีใจดีใช่ไหม, การที่แม่พูดกับเขาแบบนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่า
• การสอนอารมณ์ในเด็กเล็กสามารถทำได้
• แต่เราต้องสอนให้ลูกรู้ว่า มันไม่เป็นไรที่ลูกจะโกรธหรือมีพี่หมีจอมโวยวายเกิดขึ้น แต่แม่จะรอให้หนูสบายใจ แล้วหนูค่อยเข้ามาหาแม่ แม่ก็จะคุยกับหนู
• เราควรให้เด็กเรียนรู้ว่า ไม่ว่าเขาจะอารมณ์ดีหรือไม่ดี เขาก็เป็นที่ยอมรับเสมอ เพราะถ้าเราไปทำให้เขารู้สึกว่าถ้าอารมณ์ไม่ดีแล้วจะไม่ได้รับการยอมรับ เด็กก็จะผูกอารมณ์นี้ไว้กับความรู้สึกด้านลบ ซึ่งมันไม่ดีต่อสุขภาพจิตของเด็กมากกว่า
COMMENTS ARE OFF THIS POST