Ep. นี้ จะมาพูดคุยกันถึงประเด็นที่น่าสนใจจากซีรีส์เกาหลี Move To Heaven ที่กำลังโด่งดัง ได้รับการพูดถึงในโซเชียลฯ หลากหลายแง่มุม บ้างก็ว่าอบอุ่น บ้างก็ว่าเศร้า แต่สุดท้ายดูจบแล้วก็ซาบซึ้งใจเป็นที่สุด
และสิ่งที่แม่นิดนกจะมาพูดถึงหลังจากได้พิสูจน์ Move To Heaven ด้วยตัวเองไปแล้วก็คือ ประเด็นเรื่องเด็กพิเศษ ครอบครัว และการรับบุตรบุญธรรมที่ยุนจีรยอน (ผู้เขียนบท) แทรกเอาไว้ซีรีส์ชวนให้คิดตาม จนต้องหยิบมาพูดคุยกันนี่แหละ
จากนี้เราจะพาคุณไปเล่าเรื่องราวและพูดถึงประเด็นที่ลึกซึ้งผ่านกล่องเก็บความทรงจำ และบริษัท Move To Heaven ไปพร้อมๆ กัน
การรีแคปนี้อาจจะมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน แต่ว่าเราก็พยายามข้ามส่วนที่สำคัญต่อเนื้อเรื่องและอรรถรสในการดูไปแล้วนะคะ 🙂
เด็กพิเศษ
• ซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานของ Netflix Original มีความยาวทั้งหมด 10 ตอน
• ว่าด้วยธุรกิจของครอบครัวหนึ่งที่ใช้ชื่อบริษัทว่า Move To Heaven ให้บริการเก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อทิ้งและแยกของที่มีความหมายเก็บลงกล่องความทรงจำสีเหลือง เพื่อส่งคืนให้ครอบครัวผู้ตายรับกลับไปดูแล
• ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยมีอาชีพแบบนี้ไหม แต่รูปแบบของงานนี้ก็คือ ทุกคนก่อนตายย่อมมีถิ่นที่อยู่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เป็นห้องพัก ห้องเช่า หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อมีการตายก็ต้องมีคนเข้ามาเก็บข้าวของออกจากสถานที่นั้น
• เราคิดว่างานนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะการที่คนนอกจะเข้ามาจัดการกับของใช้ส่วนตัวและต้องประเมิน ‘คุณค่า’ ของสิ่งของนั้น มันต้องใช้สายตาที่แหลมคมมากเลยทีเดียว ซึ่งถ้าสมมติคนในครอบครัวเราเป็นอะไรไป เราก็คงอยากจะเป็นคนที่ทำหน้าที่นี้ เพราะเรารู้ว่าอะไรที่เราอยากจะเก็บไว้
• แต่เคสที่มาใช้บริการ Move To Heaven จึงค่อนข้างเศร้า เพราะไม่มีใครที่จะเข้าไปเก็บของให้คนตาย ไม่มีครอบครัวเข้าไปจัดการ หรือบางทีอาจจะมี แต่เป็นครอบครัวเองที่ทำใจเข้าไปจัดการไม่ได้
เด็กพิเศษ
• ตัวดำเนินเรื่องคือพ่อ-ลูกคู่หนึ่ง ที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและดีต่อกันมากๆ ซึ่งมันก็จะนำเราไปสู่เหตุผลที่พ่ออ่อนโยนและดูแลลูกชายวัยหนุ่มมากเป็นพิเศษ เพราะว่าลูกชายของเขามีภาวะบางอย่างที่ไม่เหมือนคนทั่วไป
• ต่อมาเราก็พบว่าลูกชาย (ในเรื่องชื่อ ฮันกือรู) เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของอาการออทิสติก ทำให้ลูกชายมีปัญหาในด้านการเข้าสังคม แต่ก็จะมีความสามารถพิเศษ คือถ้าเขาสนใจอะไรก็จะโฟกัสและจดจ่อกับสิ่งนั้นเป็นพิเศษ
• ฮันกือรู มีความชื่นชอบสัตว์น้ำและการไปอควาเรียมมาก และความพิเศษก็คือเขาสามารถจดจำและแยกแยะสัตว์น้ำแต่ละตัวได้
• ลองนึกภาพ ถ้าเป็นเราเห็นปลากระเบนสิบตัว เราจะไม่สามารถแยกหรือจำปลากระเบนแต่ละตัวได้ แต่ฮันกือรูจำได้
• พ่อลูกคู่นี้ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อเสียชีวิต ตัวละครที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ซังกู อาหรือน้องชายของพ่อ ที่ฮันกือรูไม่เคยรู้จักมาก่อน และเป็นคาแรกเตอร์ที่คนดูก็จะไม่ค่อยรักตัวละครนี้เท่าไร แต่ซีรีส์ก็ทำให้เราต้องติตตามความสัมพันธ์ของอากับหลานคู่นี้ ว่าจะพัฒนาไปยังไง
แม่นิดนกบอกว่า คนเขียนบทเรื่องนี้เก่งที่สามารถวางปมของความสัมพันธ์ค่อนข้างดี แม้ว่าจะบีบคั้นเพราะตัวละครล้วนเจอเรื่องราวที่หนักหนาสาหัสมาก่อน
• เราจะได้เห็นการปะติดปะต่อเรื่องราวของแต่ละชีวิตที่จากไปแล้ว ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่เหลืออยู่ ซึ่งฮันกือรูก็คือคนที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้ได้
Move to Heaven เล่าเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวได้น่าสนใจ พอดูแล้วก็ได้นึกถึงอะไรหลายๆ อย่าง นึกคนที่เรารัก นึกถึงตัวเราในอนาคต นึกถึงครอบครัวว่าจะเป็นยังไงต่อไปในวันที่เราไม่อยู่ และนี่คือเหตุผลที่แม่นิดนกคิดว่าควรพูดถึงซีรีส์เรื่องนี้ อย่างน้อยๆ ก็ในประเด็นที่ค่อนข้างทำงานกับความรู้สึกของคนเป็นแม่
• ประเด็นแรกก็คือ โรคแอสเพอร์เกอร์ ที่ไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้จักมาก่อน หรืออาจจะเคยได้เห็นผ่านคาแรกเตอร์ของหนังเรื่องอื่นๆ มาบ้าง แต่อย่างน้อยเรื่องนี้ก็ทำให้รู้สึกสนใจและจดจำลักษณะอาการของโรคนี้ได้
• คนที่มีกลุ่มอาการของโรคนี้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ก็อาจจะมีปัญหาในด้านการเข้าสังคมบ้าง ซึ่งสังคมต้องตระหนักและเข้าใจว่า บนโลกใบนี้อาจจะมีบางคนที่มีบุคลิกที่เราเห็นแล้วอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ แล้วเราอาจจะเผลอไปตัดสินว่าเขาเป็นคนโง่ คนปัญญาอ่อน ซึ่งความจริงคำพูดพวกนี้มันควรหมดไปได้แล้ว
• สมัยก่อนเราอาจจะไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้ว่าโลกนี้มันมีกลุ่มอาการบางอย่าง ที่อธิบายไม่ได้ เช่น ทำไมเด็กบางคนเรียนเหมือนคนอื่นแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็จะถูกตัดสินไปแล้วว่าเป็นเด็กโง่ แต่ปัจจุบันการศึกษาในยุคใหม่ เราสามารถอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้นของเด็กได้แล้ว
• อาการบางอย่างก็เห็นได้ชัด แต่บางอย่างก็อาการเล็กน้อยมากๆ เช่น เด็กบางคนอาจจะบกพร่องทางการอ่าน อ่านหนังสือไม่ได้ แต่ก็สามารถเรียนรู้ทางอื่นได้
• ในโรงเรียนที่เข้าใจ ก็จะเห็นการให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนร่วมกับคนอื่นได้ เพียงแต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก็จะมีคุณครูคอยให้การดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน
• ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ฉุกคิดได้ว่า บางทีเราอาจจะเจอคนที่มีความไม่ปกติบางอย่างแล้วเผลอไปตัดสินว่าเขา โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังดีลกับคนที่มีอาการเหล่านี้อยู่ และมันไม่ใช่ความผิดของเขา
• ในขณะเดียวกัน ต่อให้ลูกเราเป็นเด็กปกติที่เราไม่ต้องกังวล แต่ว่าลูกเราก็มีโอกาสที่จะเติบโตมากับเด็กที่ต้องการความพิเศษเหล่านั้น ดังนั้นตัวเราเองก็ต้องเข้าใจ ลูกเราก็ต้องเข้าใจด้วยเหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างของมนุษย์
• มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และพ่อแม่อย่างเราต้องไม่กังวลว่า ลูกเรียนร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษแล้วจะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือเปล่า แต่เราคิดว่ามันหนีไม่ได้ เพราะมันเป็นความจริงในสังคม
• ในช่วงท้ายของเรื่องจะมีการพูดถึงตัวละครชื่อแมทธิว กรีน ที่ถูกรับเป็นบุตรบุญธรรม และย้ายไปเติบโตที่สหรัฐอเมริกา แต่พ่อแม่บุญธรรมไม่ได้ทำเรื่องขอสัญชาติอเมริกันให้ ก็เลยกลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ และถูกส่งตัวกลับเกาหลี
• ด้วยความที่ไปเติบโตที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เขาไม่รู้สึกคุ้นเคยกับทุกอย่างในเกาหลี ไม่ว่าจะแนวคิด ภาษา วัฒนธรรม และที่สำคัญเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเกาหลี แม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเอง
• ตัวละครที่เพิ่มเข้ามาก็คือนักสังคมสงเคราะห์ เป็นคนเดียวที่คอยให้ความช่วยเหลือและดูแลแมทธิว
• เราคิดว่าซีรีส์ตอนนี้น่าจะตั้งใจที่จะพูดถึงเรื่องคนไม่มีครอบครัว และถูกรับไปอยู่ต่างประเทศ เพราะความรู้ใหม่ที่ได้จากการดูเรื่องนี้ก็คือ ครั้งหนึ่งเกาหลีเคยเป็นประเทศที่ส่งเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมของคนประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นผลพวงมาตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลีต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงยุคสงครามเย็น เพราะเป็นช่วงที่มีเด็กที่เกิดจากทหารอเมริกันกับคนในท้องถิ่น
• เรื่องราวของลูกครึ่งที่เกิดจากทหารอเมริกันกับแม่ที่เป็นคนในท้องถิ่น เราเคยเห็นจากละครเวทีเรื่อง Miss Saigon ที่พูดถึงสงครามเวียดนาม ส่วนของไทยก็เคยมีละคร เช่น ข้าวนอกนา ผู้หญิงคนนี้ชื่อบุญรอด
• ส่วนที่เกาหลี ปัญหาที่ตามมาจากการส่งเด็กไปเป็นลูกบุญธรรมที่ต่างประเทศก็คือ ถ้าเด็กไปแล้วไม่ได้สัญชาติ ก็จะโดนส่งกลับประเทศที่ไม่ได้มีครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน
• ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องนี้ค่อนข้างลึกซึ้ง มีความรักและความปราถนาดีต่อกันเยอะมาก โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันแต่มันเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่บังเอิญอยู่บ้านตรงข้าม บังเอิญออกมาจากคุกแล้วรู้ว่าตัวเองมีหลาน หรือบังเอิญถูกรับไปเป็นบุตรบุญธรรม บังเอิญมาเจอนักสังคมสงเคราะห์ แต่ก็เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้
• มีตอนที่ค่อนข้างสะเทือนใจมากก็คือตอนแรกของซีรีส์ที่พูดถึงการตายของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ระหว่างนั้นก็ต้องหางานทำไปด้วย จนได้เป็นคนงานในบริษัทก่อสร้างและเสียชีวิตระหว่างทำงาน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือเห็นคุณค่าจากบริษัท
• ในตอนเดียวกันนี้มีการพูดถึงเข็มกลัดที่ฮันกือรูไปขอมาติดที่กระเป๋าของเด็กหนุ่ม เป็นเข็มกลัดที่มีข้อความเตือนใจในความหมายที่ว่า เด็กคนนี้มีค่าและเขาก็มีพ่อมีแม่เหมือนกัน
• ตอนที่ชอบมากอีกตอน คือตอนที่พูดถึงการตายของคุณครูอนุบาล ที่ความผิดพลาดเดียวในชีวิตคือการเลือกคู่ชีวิตผิดพลาด และความผิดพลาดนั้นทำให้เธอถึงแก่ชีวิต
• ฮันกือรูเป็นคนเอาม้วนกระดาษที่เด็กนักเรียนอนุบาลเขียนแสดงความรู้สึกถึงคุณครูอันเป็นที่รักของเขา ไปให้คนร้ายได้อ่าน
• ยังมีอีกหลายความสัมพันธ์ที่เราไม่สามารถนิยามได้ แต่ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของมนุษย์ มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สายเลือดมาสร้างความมั่นคงก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วคนเรามันผูกพันกันได้แม้เราจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม
• พอดูเรื่องนี้จบ เราก็พบว่าต่อให้เราไม่สามารถที่จะเป็นครอบครัวที่ดีให้กับลูกได้ หรือครอบครัวของเราอาจจะบกพร่อง แต่มันอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้นแล้ว เพราะสุดท้าย ชีวิตอาจจะพาเราไปเจอความสัมพันธ์อื่นๆ ที่ลึกซึ้งกว่าคนในครอบครัวก็ได้ครอบครัวได้ หรือบางทีคนในครอบครัวก็อาจจะทำร้ายเราได้เช่นกัน มันไม่เสมอไปว่า ‘ครอบครัว’ จะเป็นสิ่งดีที่สุด
.
.
.
คุณพ่อคุณแม่สามารถรับฟังพอดแคสต์ THE ROOKIE MOM Ep.87 ได้จากช่องทางต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ
Spotify : https://spoti.fi/3wKWY75Apple
Podcasts : https://apple.co/3iVOwOb
Podbean : https://bit.ly/3vCNpWo
YouTube : https://bit.ly/35BrZyp
COMMENTS ARE OFF THIS POST