READING

Recap: The Rookie Mom EP91: เสริมภูมิคุ้มกันให้เจ้...

Recap: The Rookie Mom EP91: เสริมภูมิคุ้มกันให้เจ้าเด็ก เมื่อแม่ต้องพาตัวเล็กไปรับวัคซีนตามวัย

วัคซีน

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงจะวนเวียนอยู่กับคำว่า วัคซีน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การฉีด วัคซีน ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเร็วที่สุดดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียวที่มนุษย์จะรับมือกับไวรัสครั้งนี้ได้

แม้การฉีด วัคซีน จะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่ในประเทศให้ความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนมาตรฐานของเด็กไทยก็ยังคงมีอยู่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคติดต่อและโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเราได้

The Rookie Mom ตอนนี้แม่นิดนกจะมาชวนคุยเรื่องการพาลูกไปฉีดวัคซีน ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุด และปิดท้ายด้วยไอเดียที่อยากฝากไปถึงหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบสุขอนามัยของเด็กๆ ในประเทศ

ก่อนเข้าเรื่อง

 

• แม่นิดนกเล่าว่า ชีวิตตัวเองห่างหายจากการฉีดวัคซีนมานาน น่าจะตั้งแต่สมัยประถมหรือมัธยม เท่าที่พอจะนึกออกก็คงจะเป็นวัคซีนบาดทะยัก แต่ก็นานจนนึกไม่ออกว่าฉีดไปนานแค่ไหน เพราะตอนท้องคุณหมอถามว่าเคยฉีดหรือยัง ก็ตอบว่าเคยฉีดแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าปีไหน หมอก็เลยให้ฉีดใหม่อีกครั้ง

 

• จำได้ว่าตอนท้องฉีดวัคซีนไปสามเข็ม มีวัคซีนบาดทะยัก แล้วอีกเข็มจะเป็นวัคซีนที่คุณหมอแนะนำว่าอยากให้ฉีด เพราะเป็นวัคซีนที่ปรุงหรือผสมสูตรมาให้ป้องกันได้หลายอย่าง ส่วนอีกเข็มหนึ่งเป็นวัคซีนอะไรก็จำไม่ได้ (แต่ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้จะพูดเรื่องวัคซีนสำหรับคุณแม่อยู่แล้ว)

 

• หลังจากนั้นก็เข้าสู่เรื่องราวตอนคลอดลูก หลังจากพาลูกออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้านได้ 2-3 วัน หรือหลังลูกคลอดครบเจ็ดวัน แม่นิดนกก็ต้องพาลูกกลับไปโรงพยาบาลเพื่อเช็กสุขภาพอีกรอบ เช่น เช็กตัวเหลือง เช็กน้ำหนักการเติบโต แต่จริงๆ คิดว่าหมออาจจะอยากเช็กสภาพแม่มากกว่า

1. พาลูกเล็กออกไปฉีดวัคซีนไม่ง่าย

• ความรู้สึกตอนเอาลูกออกจากบ้านครั้งแรก ก็มีความกังวลเยอะมาก เริ่มตั้งแต่อุ้มลูกมาขึ้นคาร์ซีตเลย เพราะคอลูกยังอ่อนปวกเปียก ก็ไม่แน่ใจว่าการอยู่บนคาร์ซีตจะดีกับลูกจริงไหม ต่อมาก็เรื่องจัดกระเป๋า เพราะเจ็ดวันแรกของลูก พ่อแม่ส่วนมากยังไม่ค่อยมีสติมากนักหรอก มันจึงเป็นเหมือนบททดสอบที่ยากมากสำหรับแม่ตอนนั้น

• แต่หลังจากนั้น แม่นิดนกก็เห็นว่าตอนคุณชมพู่ (อารยา เอ ฮาร์เก็ต) คลอดลูก เขาใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนานมาก ด้วยเหตุผลว่าก็อยากให้แน่ใจว่าตัวเองสามารถรับมือทุกอย่างได้ และอยู่ให้ถึงเวลาที่ลูกจะต้องกลับมาเช็กสุขภาพและฉีดวัคซีนอีกด้วย ซึ่งก็สะดวกสบายดี

 

• จากการคาดเดา แม่นิดนกลองสมมติสถานการณ์ของตัวเอง การคลอดลูกในโรงพยาบาลเอกชน ค่าห้องพักอย่างน้อยก็คืนละประมาณ 3,000-4,000 บาท และอาจต้องเสียค่าห้องเนอร์เซอรี่ของลูกด้วยคืนละ 1,000-2,000 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคืนอย่างต่ำก็ประมาณ 6,000 บาท คูณไปเจ็ดวัน ก็เป็นเงินเฉพาะค่าห้องประมาณสี่ถึงห้าหมื่น ยังไม่รวมการอัปเกรดห้องต่างๆ เลยเข้าใจว่าตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายที่อาจจะมีแพ็กเกจคลอดที่ขยายเวลาจากสี่คืนสามวันเป็นเจ็ดวันหรือเปล่า ก็ไม่ค่อยแน่ใจ (ใครมีข้อมูลรบกวนแชร์กันได้)

• ถ้าอ้างอิงตารางการให้วัคซีนเด็กไทย ตามข้อมูลของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก แห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 ก็จะมีวัคซีนที่เด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับเช่น วัคซีนบีซีจี (Bacillus Calmette Guerin) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนฮิบ (ฉีดเข็มเดียวป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี-และโรคฮิบ) วัคซีนโปลิโอชนิดกิน โรต้า หัดคางทูม หัดเยอรมัน ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis) และไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนเอชพีวี เหล่านี้คือวัคซีนมาตรฐานที่เด็กต้องได้รับ

 

• นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่นๆ ที่สามารถฉีดเสริมให้ลูกได้ เช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ชนิดไร้เซลล์) นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (pneumococcal conjugate vaccines) ไข้สมองอักเสบเจอี (inactive) ตับอักเสบเอ อีสุกอีใส หรือวัคซีนรวม ไข้หวัดใหญ่ เอชพีวี ไข้เลือดออก และพิษสุนัขบ้า

 

• โดยทั่วไปแล้วแพ็กเกจคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็จะบอกว่าราคานี้รวมการฉีดวัคซีนของลูกหลังคลอดด้วย ซึ่งหลังจากเห็นตารางวัคซีนมาตรฐานของเด็กไทยแล้ว ถึงได้รู้ว่ามันเป็นวัคซีนมาตรฐานที่ต้องได้ฉีดฟรีอยู่แล้ว

 

• วัคซีนของลูกจะได้รับภายใน 3-4 วันหลังคลอด ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล และพอออกจากโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอก็จะให้สมุดประจำตัวลูกมาเพื่อติดตามสุขภาพและพัฒนาการของลูก เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง และบันทึกประวัติการฉีดวัคซีนของลูก ด้วยการแปะสลากหรือบาร์โค้ดเพื่อบอกชื่อวัคซีนและล็อตการผลิต แล้วเซ็นชื่อกำกับ และสมุดเล่มนี้แม่ก็จะต้องเอาไปด้วยทุกครั้งที่พาลูกไปโรงพยาบาลตามนัด

 

• พอลูกอายุครบหนึ่งเดือน ก็ต้องไปโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อรับวัคซีนเข็มต่อไป คุณหมอก็จะเช็กน้ำหนัก ส่วนสูง และความเป็นอยู่ของแม่

 

• การพาลูกไปโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นตอนครบเจ็ดวันหรือหนึ่งเดือน ก็สร้างความเครียดให้แม่ได้ ไม่ได้เครียดเพราะกลัวว่าลูกจะร้องไห้ตอนฉีดวัคซีน เพราะเขาต้องร้องอยู่แล้ว แต่เครียดเพราะว่าโรงพยาบาลมันไม่ใช่สถานที่ที่น่าพาเด็กทารกไป

 

• ตอนแม่นิดนกพาลูกกลับไปโรงพยาบาลครั้งแรก ถึงขั้นให้ลูกแต่งตัวด้วยชุดบอดี้สูตแขนยาว ใส่กางเกงขายาวทับอีกชั้น และใส่ถุงเท้า ถุงมือ ครบทุกอย่าง แต่พอไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องถอดออกทั้งหมดเพื่อชั่งน้ำหนัก ใช้เวลาไม่เกิบสิบวินาที

 

• เคล็ดลับที่ได้จากการไปโรงพยาบาลครั้งนั้นก็คือไม่ต้องแต่งตัวให้ลูกแน่นมากก็ได้ หรือเอาไว้แต่งหลังจากชั่งน้ำหนักเสร็จแล้วก็ได้

 

• นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังรวมไปถึงผ้าอ้อม ที่จะต้องโดนถอดแบบฉีกทิ้งไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น แต่งตัวให้ลูกออกจากบ้านแบบมินิมัลที่สุดเอาไว้ดีกว่า

 

• ตอนพาลูกไปโรงพยาบาลครั้งแรกๆ แม่นิดนกยังไม่รู้ว่าที่โรงพยาบาลจะแยกพื้นที่ระหว่างเด็กที่มาด้วยสุขภาพปกติกับเด็กที่ป่วย เช่น บางโรงพยาบาลก็แยกเป็นฝั่งซ้ายกับขวา หรือบางโรงพยาบาลก็แยกคนละชั้น แต่โรงพยาบาลที่ไม่ได้แยกกันชัดเจนก็มีเช่นกัน

 

• ความที่ไม่รู้ว่ามีการแย่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ทำให้รู้สึกจึงระแวงทุกคนที่เข้ามาในวอร์ด ทั้งพยายามอุ้มลูกไว้ที่อก เอาผ้าอ้อมคลุมหัวคลุมตัวลูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทุกทาง แต่พอรู้ว่าเด็กที่เจอในวอร์ดเดียวกัน ก็คือเด็กทั่วไปที่มารับวัคซีนเหมือนกัน ก็เริ่มผ่อนคลายและไม่เครียดที่จะต้องพาลูกไปโรงพยาบาลอีก

 

• เมื่อลูกโตขึ้น แม่ก็จะยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น อย่างที่โรงพยาบาล แผนกเด็กที่ลูกไปจะมีของเล่นเป็นบ้านพลาสติก ตอนลูกเพิ่งหัดเดินก็ไม่ค่อยอยากให้ลูกไปเล่น เพราะว่ามีเด็กหลายคนเล่นอยู่ จึงไม่อยากให้มีการสัมผัสกันเกิดขึ้น แต่พอลูกโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คิดว่าปล่อยให้เขาเล่นเสร็จ แล้วก็พาไปล้างมือ ทำข้อตกลงก่อนว่าระหว่างเล่นลูกจะไม่เอามือมาจับหน้าจับตาตัวเอง

2. ถึงมือหมอแล้ว

• ขั้นตอนก่อนฉีดวัคซีนก็คือ หมอจะดูผลชั่งน้ำหนักและส่วนสูงของลูก แล้วก็บอกว่าแม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น น้ำหนักใช้ได้แล้ว แต่ควรให้นมเพิ่มเล็กน้อย

 

• หลังจากวิเคราะห์น้ำหนักและส่วนสูงแล้ว ก็ไปสู่การฉีดวัคซีน บางโรงพยาบาลคุณหมอก็จะเป็นคนฉีดวัคซีนให้ แต่บางโรงพยาบาลก็อาจจะให้พยาบาลเป็นคนฉีด

 

• วิธีการฉีดก็คือ ถ้าลูกยังเป็นทารกก็จะให้แม่อุ้มเอาไว้ แต่พอโตขึ้นอีกนิดก็เริ่มให้นอนที่เตียง และถ้าลูกโตพอที่จะนั่งเองได้แล้วก็ให้นั่งบนตักแม่ได้ แต่ล่าสุดที่แม่นิดนกพาลูกไปฉีดวัคซีน ก็สามารถให้ลูกยืนฉีดได้แล้ว

 

• ครั้งแรกๆ ของเด็กที่โดนฉีดวัคซีน เขาอาจจะร้องเพราะความเจ็บ ที่โดนเข็มจิ้ม แต่พอฉีดเสร็จแล้วก็พาไปปลอบไปนั่งกินนม ก็จบ

 

• พอลูกอายุสี่เดือนขึ้นไป เขาก็จะเริ่มแสดงเจตจำนงของตัวเองได้ แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบ และเขาน่าจะจำได้ว่าถ้ามารออยู่ที่หน้าห้องนี้แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น เขาก็จะเริ่มกรีดร้องและงอแง

ปลอบใจลูก

3. วิธีการปลอบใจ

• แนวทางส่วนตัวของแม่นิดนกคือการพูดกับลูกตรงๆ บอกลูกว่า เดี๋ยวเขาจะต้องไปฉีดวัคซีน จะมีเข็มจิ้มที่ขาหนู มันจะเจ็บ ลูกร้องไห้ได้นะถ้าจะร้อง คุณแม่เข้าใจ เพราะคุณแม่ก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่จะไม่บอกเขาว่าเจ็บนิดเดียว เพราะมันไม่จริง ยิ่งถ้าเป็นแม่ที่ไม่ชอบเข็ม ก็จะยิ่งเข้าใจว่ามันไม่จริง ดังนั้นก็บอกลูกไปเลยว่ามันเจ็บนะ แต่คุณแม่จะอยู่ด้วยตรงนี้

 

• ถึงอย่างนั้น พอลูกเข้าไปฉีดวัคซีน เขาก็ร้องไห้หนักมาก ร้องลั่น เราก็กอดอุ้มปลอบเขา บอกเขาว่าเยี่ยมมากเลยนะ ก็ปลอบไปจนเขาเหนื่อยและหลับไป

 

• ล่าสุดลูกของแม่นิดนกอายุสามขวบครึ่งแล้ว ก็ยังคงร้องไห้ตอนฉีดวัคซีนอยู่ ไม่ว่าจะคุยกันหรือบอกกันด้วยเหตุผลแค่ไหน พอถึงเวลา ต่อให้เข้าใจ ลูกก็ร้องไห้อยู่ดี เพราะมันคงเป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบ

 

• มีบางคนแนะนำว่าก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีน ให้ลองเล่นบทบาทสมมติกับลูก เล่นเป็นคุณหมอกับคนที่มาฉีดวัคซีน ซึ่งตอนเล่นลูกก็เข้าใจดี แต่มันอาจจะใช้ไม่ได้กับเด็กทุกคน จึงอยากบอกแม่ทุกคนว่าไม่ต้องกังวล ถ้าหากทำทุกอย่างแล้วลูกยังร้องไห้อยู่ ก็ไม่เป็นไร ให้เขาร้องไป เพราะพยาบาลกับหมอทุกคนย่อมชินกับสถานการณ์อย่างนี้ แต่ก็เกรงใจที่เสียงร้องไห้ของลูกอาจจะไปสร้างความหวั่นไหวให้เด็กคนอื่นได้

4. ทดลองมีเพื่อนฉีดวัคซีน

•  ลูกของแม่นิดนกมีเพื่อนที่โรงเรียนคนหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายอายุเท่ากัน แม่ฝากท้องโรงพยาบาลเดียวกัน คลอดที่เดียวกัน คุณหมอคนเดียวกัน ก็เลยลองนัดแนะกับครอบครัวของเพื่อนลูกคนนี้ให้มาฉีดวัคซีนพร้อมกัน

 

• พอถึงเวลาพบคุณหมอก็เข้าไปพบพร้อมกัน คุณหมอตรวจและพูดคุยสลับกัน แต่ให้รออยู่ในห้องเดียวกัน หลังจากนั้นก็ได้เวลาฉีดวัคซีน ตอนแรกจะให้น้องผู้ชายฉีดก่อน แต่เขายังไม่พร้อม ลูกของแม่นิดนกก็เลยได้ฉีดก่อน ผลก็คือต้องมีพยาบาลมาช่วยกันจับสองคน เพราะเขาดิ้นแรงมากและก็ร้องไห้เสียงดังเหมือนเดิม ซึ่งก็พลอยทำให้น้องผู้ชายที่เห็นเหตุการณ์ ก็เริ่มร้องไห้ตามไปด้วย แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็ผ่านกันมาได้

 

• หลังผ่านการฉีดวัคซีน พอลูกเริ่มมสงบ สิ่งที่แม่นิดนกทำก็คือการคุยกับลูก ถามลูกว่าเจ็บใช่ไหม แต่ลูกกล้าหาญมากเลยนะ ขนาดเจ็บลูกยังยอมทำ แล้วก็พาเขาไปกินไอศกรีมเป็นการให้รางวัล แล้วก็ผ่านวันนั้นไป

การฉีดวัคซีน

5. การฉีดวัคซีนใช้ตัดสินลูกไม่ได้

• คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเปรียบเทียบลูกของเรากับใคร ไม่ต้องกังวลถ้าลูกเราจะร้องไห้ตอนฉีดวัคซีนจนโต เพราะมันเป็นนิสัยของเขา เป็นตัวตนของเขา และลูกอาจจะร้องไห้แค่ประมาณสิบนาที ให้เต็มที่ครึ่งชั่วโมง อารมณ์ไม่ดีไปอีกหนึ่งชั่วโมง แต่มันก็จะผ่านไป ไม่ต้องเครียดหรือกังวลว่าการร้องไห้ของลูกจะแปลว่าเขาอ่อนแอ• แค่การฉีดวัคซีน ไม่สามารถเอามาสะท้อนตัวตนของลูกได้ และมันจะน่าเสียดายมากๆ ถ้าการที่ลูกร้องไห้ตอนฉีดวัคซีนมันไปบดบังความกล้าหาญในวันที่เขาปล่อยตัวลงมาจากสไลเดอร์ หรือวันที่เขากล้ายกมือคุยกับคุณครูที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

 

• เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงภายในสิบนาที มันไม่สามารถบอกได้ว่าลูกเป็นคนยังไง มันอาจจะระบุได้ว่าเขาเป็นคนไม่ชอบเข็มฉีดยา แต่การไม่ชอบเข็มฉีดยาไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนไม่กล้าหาญ

เด็กไม่ได้รับวัคซีน

6. การฉีดวัคซีนของเด็กยังต้องดำเนินต่อไปแม้มีโรคระบาด

ถึงแม้ช่วงที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง จากคำแนะนำของคุณหมอ ถ้าลูกมีนัดฉีดวัคซีนและยังพอไปได้ ก็ควรไป เพราะโรคของเด็กๆ ไม่ได้มีแค่โควิด-19 ถ้าลูกไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นได้เหมือนกัน

รัฐต้องช่วยพ่อแม่

7. ส่งท้าย

• เคยมีการเรียกร้องเกี่ยวกับวัคซีนมาตรฐานของเด็กไทยที่ควรจะได้รับฟรี เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ที่เด็กของประเทศเขาได้รับวัคซีนฟรีครอบคลุมไปจนถึงวัคซีนเสริม ในขณะที่ประเทศไทยถ้าต้องการให้ลูกฉีดวัคซีนเสริมก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องแบกรับอยู่

 

• ปีที่ลูกของแม่นิดนกอายุ 1-2 ขวบ ปีนั้นมีการประกาศให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า (ไวรัสที่ทำให้เด็กมีอาการท้องเสียรุนแรง) เปลี่ยนจากการเป็นวัคซีนเสริมมาเป็นวัคซีนหลักของเด็กไทย

 

• มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับวัคซีนที่ตัวเองต้องได้รับ อาจจะเพราะไม่รู้หรือไม่พร้อมที่จะเสียเงิน ดังนั้นมันคงจะดีกว่าถ้าเด็กจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้โดยง่าย เพราะสุดท้ายแล้วประเทศก็ต้องการคนที่แข็งแรง ต้องการทรัพยากรของประเทศที่พร้อมจะเผชิญกับโลกใบนี้ ไม่ว่าจะมีโรคอะไรเกิดขึ้นก็ตาม เพราะถ้าประชากรเจ็บป่วย มันก็จะกลับมาเป็นภาระของระบบอยู่ดี

 

• วัคซีนของเด็กอาจสะท้อนภาพของวัคซีนโควิด-19 ตอนนี้ ทำไมเราถึงต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งที่ดีให้ตัวเอง ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิ์เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรจะเป็นมาตรฐาน

 

• ถ้ารัฐบาลสามารถให้เด็กฉีดวัคซีนที่ควรจะได้รับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวแล้วว่าต้องการหรือไม่ต้องการวัคซีนตัวไหน แต่เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง หรือจะออกเป็นคูปองสำหรับเด็กแรกเกิดให้พ่อแม่จะนำไปชำระเป็นค่าฉีดวัคซีนของลูกก็ได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่นโยบายของรัฐบาลทำให้เห็นว่ากำลังให้ความสำคัญกับชีวิตประชาชน พ่อแม่ทุกคนอยากดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรงอยู่แล้ว แต่รัฐก็ต้องช่วยเราด้วย

Spotify : https://spoti.fi/3in8gIA
Apple Podcasts : https://apple.co/3BhuWm
Podbean : https://bit.ly/3ky4Cys
YouTube : https://bit.ly/3inNmZT


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST