Recap: The Rookie Mom EP92: ฝ่าวิกฤตการศึกษาช่วงภาวะโควิด-19 ในแบบฉบับประเทศอิสราเอล

โควิด-19

ก่อนเข้าเรื่อง

• เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน โรงเรียนอนุบาลที่ลูกของแม่นิดนกเรียนอยู่ ได้ทำการเชิญอาจารย์ Nira Shiran Mizrahi (แม่นิดนกเข้าใจว่าน่าจะเป็นอาจารย์ที่เกษียณแล้ว) และอาจารย์ Gali Shiran Reifer (ลูกสาว) ที่กำลังรับตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ชื่อว่า Democratic School ในประเทศอิสราเอล และทั้งสองท่านยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัดสำหรับเด็ก เพื่อพูดคุยและเวิร์กช็อปกับคุณครูและผู้ปกครองของนักเรียน

• ข้อมูลที่ได้ทราบเพิ่มเติมจากคำขยายความของคุณครูไทยที่โรงเรียนก็คือ อิสราเอลเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ มีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่รัฐจัดหาไว้ให้ เด็กๆ จึงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ดังนั้นการจะมีโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเป็นโรงเรียนที่มีความพิเศษไม่น้อย

• แม่นิดนกยกตัวอย่างว่า อาจจะคล้ายกับประเทศฟินแลนด์ ที่โรงเรียนเอกชนจะต้องมีแนวทางเฉพาะที่ชัดเจน เช่น Forest School, Montessori school หรือ Waldorf School ที่พ่อแม่เชื่อในแนวทางของโรงเรียนมากพอที่ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ลูกเรียนตามแนวทางเหล่านี้ มากกว่าโรงเรียนของรัฐบาลที่ดีอยู่แล้ว

• หัวข้อการพูดคุยในวันนั้นคือ  ‘เราจะผ่านวิกฤติ โควิด-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร’ จากมุมมองของคนที่ทำงานกับเด็ก และเข้าใจจิตใจของเด็กๆ และที่สำคัญ อิสราเอลก็ถือว่าเป็นประเทศที่เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเพราะสถานการณ์ โควิด-19 มาแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ใช่การผ่านพ้นโดยสมบูรณ์ก็ตาม

• การพูดคุยจะแบ่งออกเป็นสามประเด็น หนึ่ง—สถานการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่และครอบครัว สอง—สิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกับเด็ก และสาม—แนวทางการรับมือ ก่อนที่จะให้พ่อแม่ได้ซักถามในช่วงท้าย

 

1.

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่และครอบครัว

• เรารู้กันอยู่แล้วว่าโควิด-19 เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับมนุษยชาติ ถ้ามองผิวเผิน อาจรู้สึกว่าโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป เวลาออกจากบ้านก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องล้างมือบ่อยๆ ต้องไม่อยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น กินข้าวก็ต้องมีฉากกั้น เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและการใช้ชีวิต แต่ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพและการทำงานกับจิตใจของเราโดยไม่รู้ตัว

• แม่นิดนกยกตัวอย่าง เวลาที่ดูรูปเก่าๆ เช่น รูปลูกเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนแม่มากมาย มีการกินข้าวด้วยกัน อุ้ม กอด และหอมลูกของเราความรู้สึกแว้บแรกที่เกิดขึ้นคือ เฮ้ย ทำอย่างนั้นได้เหรอ ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่า อ๋อ ทำได้สิ เพราะนั่นมันคือชีวิตปกติ ชีวิตที่เราพึงมี คือการพูดคุยกันได้โดยไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย  สัมผัสหรือโดนตัวกันได้ กอดกันได้

• กลายเป็นว่าเราเคยชินกับวิถีชีวิตแบบใหม่ และมันส่งผลต่อบุคลิกภาพในปัจจุบันเช่น เราพร้อมจะเดินหนีจากคนที่เข้ามาใกล้

• ปกติเวลาเจอปัญหาอะไรก็ตาม คนเรามักจะใช้ประสบการณ์เก่ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่พอเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน มันก็เลยยากและท้าทายมากสำหรับทุกคน

• แม่นิดนกบอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก เพราะค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะมีสติมากพอที่จะรับมือสถานการณ์นี้ได้ แต่พอมีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าและวัคซีนที่มีในประเทศไม่สามารถรับมือกับเชื้อนี้ได้ ก็เริ่มกังวลใจมากขึ้น เริ่มกลัวมากขึ้น ซึ่งพอพ่อแม่กลัวและกังวล ก็จะส่งผลกระทบต่อลูก คือทำให้ลูกเกิดความเครียด

• พ่อแม่ทุกคนอยากจะให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี มีการเรียนรู้ที่ดี แต่เด็กจะเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ เมื่อรู้สึกปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องการความรู้สึกปลอดภัยก่อน เราถึงจะลงมือและเริ่มต้นทำอะไรได้

• ดังนั้นสิ่งแรกที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่รอบตัวเด็กทำได้ คือการทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ไปพร้อมกับการทำให้เขารู้สึกมีความหวัง แต่การทำให้มีความหวังก็ต้องคุยกับลูกให้ชัดเจนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง ซึ่งแม่นิดนกเชื่อว่าเราสามารถคุยกับลูกได้ ไม่ว่าลูกจะเล็กแค่ไหน เราสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่าลืมให้ความหวังและทำให้ลูกเชื่อว่าสักวันทุกอย่างจะดีขึ้น แม้เราจะไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน แต่เราจะต้องให้ความหวัง เพราะถ้าไม่มีความหวังก็คงจะใช้ชีวิตต่อไปได้ยาก

การศึกษา

• ดังนั้น ครอบครัวต้องรวมตัวกันเหมือนองค์กรเฉพาะกิจ คือพ่อแม่ต้องเข็มแข็งกว่าเดิม เพราะพ่อแม่ไม่ใช่แค่ดูแลตัวเองแต่ยังต้องเป็นฐานทางใจให้ลูกด้วย แม้จะต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่มันก็เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะมีลูก ดังนั้นชีวิตมันจะไม่ง่ายเหมือนเดิม และพ่อแม่จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้จริงๆ

• แต่วิธีการรับมือก็คือ เราต้องแยกแยะปัญหาออกมาให้ได้ อาจจะต้องคุยกันในครอบครัว ช่วยกันคิดว่าเรากำลังเจอปัญหาอะไรบ้าง อะไรเป็นเรื่องสำคัญและอะไรที่สามารถรอหรือพักก่อนได้

• สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ก็คือ พ่อแม่ต้องต้องทำหน้าที่เป็นคุณครู เพราะเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ บางครอบครัวมีมีลูกมากกว่าหนึ่งคนก็เหมือนเป็นยิ่งกว่าซูเปอร์ครู ที่ต้องดูแลการเรียนของลูกทุกคน

• ปัญหาที่ตามมาก็คือ เด็กๆ ต้องอยู่กับหน้าจอมากเกินไป จนไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร เพราะเด็กปฐมวัย หรือช่วงอายุ 0-8 ปี ควรจะได้ใช้เวลาวิ่งเล่นซุกซนและขยับเขยื้อนร่างกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน อาจจะไม่ใช่สามชั่วโมงต่อเนื่องก็ได้ เพื่อเผาผลาญพลังงานออกไปบ้าง แต่สถานการณ์ตอนนี้ เด็กๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้ออกไปวิ่งเล่นใช้พลังงานเลยด้วยซ้ำ

• ปัญหาของเด็กเจนเนอร์เรชั่นอัลฟ่า ก็คือโรคขาดธรรมชาติ หรือการที่เด็กไม่ได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ โดยเฉพาะเด็กในเมืองที่อยู่แต่ในบ้าน ไม่มีพื้นที่ธรรมชาติหรือพี้นที่สาธารณะให้เด็กๆ ได้เล่นหรือใช้เวลาด้วยได้ ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อจิตใจของเด็กกลายเป็นความเครียด และอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

• ที่ประเทศอิสราเอล ช่วงที่เด็กๆ ไปโรงเรียนไม่ได้ก็ต้องเรียนออนไลน์เช่นเดียวกัน หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือพื้นที่ส่วนตัวของเด็กๆ หายไป เพราะบ้านที่ปกติเคยเป็นพื้นที่ที่มีแต่คนในครอบครัว แต่แล้ววันหนึ่ง การอยู่บ้านก็ต้องเปิดกล้องเพื่อสื่อสารกับคนอื่นทางหน้าจอ เหมือนจำเป็นต้องเปิดประตูรับใครเข้ามาในบ้าน เด็กบางคนอาจจะไม่ชอบ เพราะเขารักในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ดังนั้นการเรียนออนไลน์จึงส่งผลต่อจิตใจของเด็ก ถ้ามันทำให้เขารู้สึกว่าพื้นที่ปลอดภัยเริ่มไม่ปลอดภัยอีกต่อไป แม่นิดนกจึงคิดว่า พ่อแม่ต้องคุยกับลูก ตกลงกันว่าลูกอยากใช้พื้นที่ตรงไหนในบ้านเพื่อนั่งเรียน หรือจะช่วยกันจัดมุมสำหรับเรียนหนังสือของลูก อย่างน้อยก็เพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมในการเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง

• ช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างตอนนี้ ความรู้ไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึก ดังนั้นพ่อแม่ควรดูว่าลูกมีสุขภาพกายและใจอย่างไร ส่วนเรื่องอื่น ถือว่าเป็นเรื่องรองลงมาทั้งสิ้น

สุขภาพกายและใจ

 

2.

สิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกับเด็ก 

• สิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กคือการรับรู้เรื่องเวลา เช่น ถ้าในชีวิตปกติ เด็กที่ไปโรงเรียนแล้วก็จะตื่นมา อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว ขึ้นรถ ไปโรงเรียน พอบ่ายสาม คุณแม่ไปรับ กินของว่างนิดหน่อย เล่น อาบน้ำแต่งตัว กินข้าว อ่านนิทาน และเข้านอน สิ่งเหล่านี้คือวงจรชีวิตที่เด็กคุ้นเคย พอวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีอิสระมากขึ้น ได้ออกไปเที่ยว ไปเจอคนอื่น เด็กๆ ก็จะรู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ แต่พอขาดกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ไป การรับรู้เรื่องเวลาก็จางลงไปด้วย

• ถึงแม้ว่าเด็กอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องวันที่ในปฏิทิน แต่การทำให้ลูกรับรู้ขอบเขตของวันเวลา ว่าตื่นขึ้นมาในวันธรรมดาต้องทำอะไร หรือถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ต้องทำอะไร ก็เป็นเรื่องจำเป็น 

กิจวัตรประจำวัน

• พ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกิจวัตรประจำวันให้ลูกยึดถือ เพราะกิจวัตรประจำวันจะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางใจ เพราะมันทำให้ลูกรู้ว่าตื่นขึ้นมาต้องทำอะไร อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นตารางเวลาเข้มงวด แต่ส่วนตัวแม่นิดนกก็พยายามรักษากิจวัตรประจำวันตอนเช้าและตอนกลางคืนของลูกเอาไว้ให้ใกล้เคียงกับตอนที่ลูกยังไปโรงเรียนมากที่สุ

• ตอนเช้าถึงจะไม่ได้ออกไปไหนก็ต้องอาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นชุดสำหรับใส่ออกจากบ้าน บางทีเขาอยากใส่ชุดนักเรียนก็ให้ใส่ คือให้เลือกว่าอยากใส่ชุดอะไร ส่วนตอนเย็น กินข้าวเสร็จ อาบน้ำแต่งตัว เล่านิทาน และเข้านอนเวลาเดิม คือไม่เกินสามทุ่ม เพื่อรักษากิจวัตรประจำวันเอาไว้

• การมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงทางใจ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาก็สามารถคาดเดาได้ว่า ตอนเย็นจะได้กินข้าว ได้เล่น และได้นอนฟังนิทานก่อนเข้านอนเหมือนทุกวันที่ผ่านมา

• ในทางกลับกัน ถ้าเด็กรู้สึกไม่มั่นคงหรืออ่อนไหวง่าย เขาจะเปราะบางต่อสิ่งที่มากระทบได้ง่าย เหมือนบางทีที่ลูกชอบถามว่า คุณแม่จะไปไหน ทั้งที่อยู่บ้านด้วยกันตลอดเวลา และแค่เดินหายออกมาจากสายตาเขาเท่านั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกอาจจะไม่ได้รู้สึกปลอดภัยมากพอ ลูกอาจจะมีความกังวลในสถานการณ์ หรือไม่คุ้นเคยกับการเห็นแม่นั่งทำงาน เพราะภาพจำที่มีคือเวลาอยู่บ้าน ก็คือเวลาที่แม่สามารถเล่นกับเขาได้ แต่การอยู่บ้านด้วยกันตลอดเวลา ลูกอาจจะได้เห็นแม่ที่ต้องประชุม ต้องทำงาน และไม่สนใจเขาในบางเวลา ลูกก็เลยรู้สึกไม่มั่นใจ และมักจะเดาความรู้สึกของพ่อแม่ด้วยสังเกตจากสีหน้า การที่ลูกเห็นพ่อแม่เคร่งเครียด มีแนวโน้มว่าเขาจะนึกโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง จึงทำให้ลูกเครียดและเปราะบางได้ง่าย

• เราต้องเข้าใจว่าเด็กมี fear of loneliness ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอก เราอาจจะคิดว่าเด็กที่เหงาหรือมีภาวะเศร้าซึม จะต้องไปนั่งกอดเข่าอยู่มุมห้อง แต่ความจริงแล้วเด็กมีวิธีการแสดงออกมากกว่านั้น เช่น เขาอาจจะการตะโกนโวยวาย หรือร่าเริงผิดปกติ หรืออารมณ์เสียง่าย สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือสังเกตว่าลูกมีอะไรแปลกไปจากเดิม เพราะนั่นก็พอจะบอกได้ว่าลูกกำลังเครียด และพ่อแม่ต้องช่วยเขา

• เพราะเด็กจะรับอารมณ์ของพ่อแม่และคนใกล้ตัวเข้าไปไว้ในจิตใจของตัวเอง ยิ่งอยู่ในครอบครัวที่มีคนเยอะ อารมณ์ที่เด็กรับมาก็ยิ่งเยอะตามไปด้วย

• สิ่งที่พ่อแม่ทำได้เมื่อพบว่าลูกมีความเครียด คือเข้าไปประกบอย่างรวดเร็ว เข้าไปใช้เวลากับลูก เล่นกับลูก และสิ่งที่ระบายพลังงานส่วนเกินในจิตใจของเด็กได้ดีที่สุดคือ น้ำ ทราย และดิน ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายลงก็คือพาลูกไปเล่นน้ำเล่นทรายดูบ้าง

• ถ้าครอบครัวที่อยู่คอนโดฯ อาจจะเปิดน้ำใส่กะละมังในห้องน้ำแล้วให้ลูกเล่นให้เต็มที่ หรือหาถาดสักใบมาใส่ทรายให้ลูกเล่น อาจจะยุ่งยากสักหน่อย แต่ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้ลูกคลายความเครียดลงได้

ความเป็นอยู่ที่ดี

• แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเป็นอยู่ที่ดี (well being) คือ ลูกต้องมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ลูกไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องใหม่เลยก็ได้ในช่วงเวลาแบบนี้ เพราะเด็กสามารถกลับมาเรียนรู้ได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคืออารมณ์และความรู้สึกของลูก รวมถึงพ่อแม่ด้วย

 

3.

แนวทางการรับมือ

• สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือบอกสถานการณ์ให้ลูกเข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งมักจะเห็นครอบครัวสองประเภท คือ ครอบครัวที่เลือกจะไม่เล่าอะไรให้ลูกฟังเลย บอกลูกแค่ว่าเราต้องอยู่บ้านและโรงเรียนปิด แต่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าเพราะอะไร เพราะพ่อแม่อาจจะคิดว่าลูกเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจได้

• มีผู้ปกครองถามว่า ถ้าอย่างนั้น พ่อแม่จำเป็นต้องเปิดข่าวให้ลูกดูไหม ลูกจะได้รับรู้สถานการณ์ แต่คุณครูให้คำแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ให้เลี่ยงดีกว่า รวมถึงตัวพ่อแม่เองก็ต้องรับข่าวสารอย่างพอดี ในขณะที่เด็กไม่ควรต้องดูข่าวด้วยตัวเอง เพราะลำพังตัวเด็กเองก็มีอารมณ์เยอะมากอยู่แล้ว การเปิดข่าวแต่ละครั้งมันมีทั้งคำ ทั้งภาพที่จะเข้าถึงลูก ดังนั้นพ่อแม่ควรเป็นผู้เลือกที่จะกรองสารเหล่านั้น แล้วใช้วิธีเล่าให้ฟังแทนดีกว่า

• อีกหนึ่งข้อคือพ่อแม่จะต้องหาพื้นที่สงบภายในบ้าน คุณครูใช้คำว่า quite area เป็นที่ที่พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ เช่น แม่คิดว่าหนูกำลังมีความรู้สึกบางอย่าง บอกแม่ได้ไหมว่าหนูรู้สึกยังไง เพราะการที่ลูกได้พูดความรู้สึกออกมาและรู้ว่ามีคนรับฟัง หลังจากรับรู้ความรู้สึกลูกแล้ว ก็ให้ถามต่อว่าเราสามารถช่วยอะไรลูกได้บ้าง และถ้าลูกบอกแล้ว เราก็ทำให้เขาทันที

• แม่นิดนกคิดว่า ถ้าลูกอยู่ในช่วงเวลาเศร้าจริงๆ แล้ว สิ่งที่เขาต้องการก็จะออกมาจากความรู้สึกของเขาจริงๆ เช่นกัน

• แต่ถ้าลูกยังเล็กมาก บางครั้งเขาอาจจะเลือกใช้คำเพื่ออธิบายความรู้สึกไม่ถูก พ่อแม่ก็มีหน้าที่ช่วยให้ตัวเลือก เช่น หนูเหงา หรือว่าหนูคิดถึง หรือหนูกำลังน้อยใจ หรือหนูรู้สึกเศร้าคะ ให้เขาเลือกว่าคำไหนที่ใกล้เคียงความรู้สึกเขาที่สุด

• ถ้าเด็กโตขึ้นอีกนิด ความรู้สึกของเขาอาจจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถหาคำที่ละเอียดอ่อนพอจะอธิบายความรู้สึกของตัวเองได้ เช่น บางทีลูกร้องไห้แล้วบอกว่าหนูเศร้า แต่พ่อแม่พอจะสังเกตได้ว่ามันไม่ใช่ความเศร้าเสียทีเดียว ก็อาจจะต้องช่วยให้ลูกได้ลองขยายความว่า เอ… หนูเศร้าเพราะหนูตกใจหรือเปล่า หรือว่าหนูเศร้าเพราะน้อยใจคุณแม่ ต่อไปเขาก็จะจำได้ว่าความรู้สึกแบบนี้เรียกว่าน้อยใจจะชัดเจนมากกว่า

• พ่อแม่เองก็สามารถพูดความรู้สึกให้ลูกรับรู้ได้ เพราะว่าคำที่เราพูด ก็จะกลายไปเป็นคลังคำที่ลูกเอาไว้ใช้ระบุความรู้สึกตัวเองเช่นกัน

• การช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเองอีกวิธีหนึ่งก็คือ การอ่านหนังสือ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหนังสือที่ตั้งใจพูดเรื่องอารมณ์ เพราะในหนังสือนิทานหรือหนังสือภาพ ย่อมมีเรื่องราวของตัวละครที่เด็กๆ สามารถเชื่อมโยงและเข้าใจพฤติกรรมได้ไม่ยาก เช่น สิงโตที่เดินหน้าเศร้าๆ ไปนั่งใต้ต้นไม้ตามลำพัง เด็กก็พอจะเดาได้ว่า สิงโตคงจะเหงาหรือเสียใจอยู่ โดยที่ไม่ต้องพูดออกมา

• เทคนิคส่วนตัวของแม่นิดนกที่จะทำให้ลูกเข้าใจอารมณ์ที่หลากหลายและลึกซึ้ง คือการเลือกหนังสือนิทานที่มีความเป็นนิยายหรือฟิกชั่นที่เข้าถึงอารมณ์คนอ่านได้ เหมือนดูหนัง มีปมอะไรให้คลี่คลายและมีรายละเอียดให้ภาพให้ลูกได้ตีความ

• นอกจากพ่อแม่จะช่วยให้ลูกระบุความรู้สึกตัวเองได้แล้ว ต้องให้เขาสามารถบอกสเกลความรู้สึกของตัวเองได้ เช่น คุณแม่มีคะแนน 1 ถึง 10 หนูคิดว่าตัวเองโกรธอยู่แค่ไหน เพราะว่าการโกรธระดับ 2 กับการโกรธระดับ 10 มันไม่เหมือนกัน

• ถ้าเด็กสามารถสเกลความรู้สึกของตัวเองได้ เราจะรู้ว่าจะช่วยเหลือเขายังไง แต่ในเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราสามารถใช้ท่าทาง ภาษากาย หรือภาษามือ เช่น หนูโกรธแค่นี้ ใช้เสียงเล็กๆ ทำมือบอกขนาดเล็กๆ หรือว่า หนูโกรธมากกก ใช้เสียงใหญ่ ทำมือบอกขนาดใหญ่

• การที่ลูกสามารถระบุอารมณ์และขนาดของอารมณ์ตัวเองได้ จะช่วยลูกได้มาก โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงวัยที่อารมณ์พุ่งพล่าน ถ้าเขารู้ตัวเองได้ว่ากำลังรู้สึกอะไร มากแค่ไหน ก็เหมือนเขาได้แก้ปัญหาไปแล้วเปราะหนึ่ง เพราะการที่รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองก็เท่ากับว่าลูกเริ่มรับมือได้แล้ว รู้แล้วว่าจะต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง

• มีผู้ปกครองถามว่า ถ้าลูกไม่ยอมบอก คุณครูก็มีเทคนิคคือให้เอาหุ่นหรือโมเดลที่ลูกชอบ มาสมมติว่าเป็นตัวเขา แล้วถามว่าวันนี้คุณซูเปอร์แมนมีอะไรอยากเล่าให้แม่ฟังบ้าง หรือวันนี้ซูเปอร์แมนรู้สึกยังไงครับ คุณครูบอกว่าเด็กทุกคนจะตอบ เพราะเขาจะแทนตัวเองว่ากำลังเป็นซูเปอร์แมนอยู่

• คุณครูบอกว่าคนเราจะเกิดมาพร้อมกับ 5 อารมณ์พื้นฐาน ได้แก่ joy, fear, sadness, disgust และ anger มีเอาไว้เพื่อให้เรามีชีวิตรอด เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญชาตญาณล้วนๆ แต่ในบางวัฒนธรรม เรามักจะให้ลูกกดอารมณ์เหล่านี้เอาไว้ เช่น อย่าร้องไห้นะ เป็นเด็กผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ เป็นพี่ต้องไม่ร้องไห้นะ ในช่วงเวลาที่ข้างในลูกมีอารมณ์เยอะมาก การห้ามไม่ให้ลูกแสดงออก จะยิ่งกลายเป็นระเบิดเวลา กลับกัน การให้ลูกได้ปลดปล่อยอารมณ์ออกมาต่างหากที่จะทำให้อารมณ์ของลูกสมดุลขึ้น

• สิ่งที่จะสร้างสมดุลให้อารมณ์ลูกอีกอย่างก็คือกิจวัตรประจำวัน เพราะกิจวัตรประจำวันคือธรรมชาติ ถ้าเราสังเกตให้ดี ธรรมชาติมีเวลาที่แน่นอน มีเช้าก็มีเย็น พระจันทร์ขึ้นก็มีพระอาทิตย์ตก ในแบบที่เราคาดการณ์ได้

• เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีกิจวัตรประจำวันที่มั่นคง รู้เวลาตื่น เวลากิน เวลานอน เวลาเล่น มันจะสร้างสมดุลให้กับเรา  Nature give us routine so go together with the nature. คือให้เราใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติ พระอาทิตย์ขึ้นเราตื่นนอน แล้วก็ค่อยๆ cool down อารมณ์ของตัวเองลงตอนกลางคืน นี่คือการใช้ชีวิตที่ล้อไปกับธรรมชาติ จะทำให้ลูกไม่สับสนและปลดปล่อยพลังงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม

• มีผู้ปกครองถามว่า ถ้าลูกอยู่ในจุดที่กำลังจะระเบิดอารมณ์ เราควรจะทำยังไง คุณครูก็แนะนำให้ใช้การสัมผัสหรือกอด แล้วใช้ใจเข้าไปคุยกับเขา ที่สำคัญคืออย่าผลักไสลูกไปจากเรา ก็จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียดได้

• แม่นิดนกเล่าว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนโรงเรียนของลูกได้มีการจัดประชุมออนไลน์เพื่อคุยกับพ่อแม่ของเด็กๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง และก็พบว่า คุณพ่อคุณแม่รู้สึกดีที่ได้พูดคุย ได้รับฟังว่าบ้านอื่นก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน ครอบครัวเราไม่ได้เผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่คนเดียว ก็ช่วยให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นว่า ไม่ได้เป็นเพราะเราทำอะไรผิด ซึ่งการที่โรงเรียนเปิดโอกาสและพื้นที่ให้พ่อแม่ได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์กันโดยที่อาจจะมีคุณครูเข้ามาช่วยแนะนำหรือเป็นเมนเทอร์ให้ ก็ช่วยพ่อแม่ในสถานการณ์แบบนี้ได้มากเลยทีเดียว

 

ช่องทางฟังรายการ The Rookie Mom Ep.92
Spotify: https://sptfy.com/6dev
Apple Podcasts: https://apple.co/3rBLIs0
Podbean: https://bit.ly/3yhYCO0
YouTube: https://bit.ly/3BFMHvS

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST