พฤติกรรมถดถอยของเด็ก (Regression) คือ การที่เด็กแสดงพฤติกรรมเป็นเด็กลงไปกว่าวัย เช่น จากที่ช่วยเหลือตัวเองได้กลายเป็นช่วยตัวเองไม่ได้ เลิกดูดนิ้วแล้วกลับมาดูดนิ้วใหม่ เอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิดงอแง กังวลกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด
เพราะพัฒนาการของเด็กไม่ได้เป็นเส้นตรงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เด็กมีการพัฒนาแบบขั้นบันได คือขึ้นไปทีละขั้น เมื่อพบเห็นสิ่งที่น่าสนใจก็จะหยุดดู หยุดเล่นชั่วคราว แล้วเดินขึ้นไปต่อ
ระหว่างทางขึ้นบันไดพบกับสิ่งน่ากลัว อาจลงมาสักชั้น สองชั้น แต่ถ้าได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ ลูกก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นบันไดไปต่อแน่นอน
1. ฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง
พ่อแม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกหยุดการพัฒนา เพราะทำทุกอย่างให้ลูกหมด ไม่ว่าจะเป็น ป้อนข้าว ป้อนน้ำ อาบน้ำ และแต่งตัวให้ รวมไปถึงตามใจลูกทุกเรื่อง หลังจากนี้เมื่อลูกถูกขัดใจ จะโมโหอย่างรุนแรง นี่จึงเป็นสาเหตุของพฤติกรรมถดถอยของลูก
2. คอยปลอบใจและให้กำลังใจ
ทั้งคำพูดและการกระทำของพ่อแม่ ส่งผลต่อความรู้สึกของลูก เช่น การโอบกอด หอมแก้มก่อนนอน การบอกรัก และกล่าวชื่นชมเมื่อลูกเป็นเด็กน่ารัก
หากลูกมีพฤติกรรมถดถอยแล้ว วันแรกๆ พ่อแม่อาจช่วยลูกบ้าง แล้วอย่าลืมชื่นชมลูก เช่น “เห็นไหม แม่ช่วยนิดเดียวหนูก็ทำได้แล้วแล้ว” และที่สำคัญคือ อย่าไปตำหนิ เพราะจะทำให้มีพฤติกรรมถดถอยมากกว่าเดิม
3. ให้เวลากับลูกมากขึ้น
ถ้าวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ให้เวลากับลูกสองชั่วโมง ก็ลองเพิ่มเป็นสี่ชั่วโมง เพราะเพียงแค่ลูกได้เห็นหน้าพ่อแม่ ได้สัมผัสตัว ได้ความรัก และความเอาใจใส่ แค่นี้ก็ลดความเครียด และความเหนื่อยล้าในใจเด็กได้แล้ว
4. ลูกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัว
เป็นเรื่องปกติ เมื่อลูกไปโรงเรียนใหม่ เจอเพื่อนใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงจากชีวิตประจำวันที่เคยเป็น เปลี่ยนแปลงที่อยู่ ช่วงนี้จึงต้องปรับตัวเยอะ และมีพฤติกรรมถดถอยบ้าง พ่อแม่ควรอยู่ให้กำลังใจลูก
5. ลดความลำเอียงในครอบครัว
ให้ความเท่าเทียมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว อย่าบังคับว่าพี่จะต้องยอมน้อง โดยให้เหตุผลว่า เพราะเป็นน้อง แต่ควรให้เหตุผลอื่น เช่น “น้องยังทำเองไม่เป็น ถ้าลูกช่วยสอนน้อง อีกหน่อยน้องก็จะทำเองเป็น”
และที่สำคัญคือ พ่อแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูก เกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา ความฉลาด รวมถึงล้อเลียนปมด้อย เพราะเด็กรับรู้ได้ถึงการปฏิบัติตัวที่ต่างกันของพ่อแม่ และขาดความมั่นใจในตัวเอง
6. ถามสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหา
เมื่อเห็นลูกมีพฤติกรรมถดถอย สาเหตุอาจเกิดจากความเครียดหรือความกดดัน คุณพ่อคุณแม่ต้องกระตุ้นให้ลูกเล่าสาเหตุของความเครียดออกมา ด้วยความตั้งใจ ช่วยลูกคิดหาทางออก และชวนลูกไปทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ลูกชอบ เช่น วาดรูประบายสี เป็นต้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST