READING

ลูกไม่เอาพ่อ: อยากให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูก แต่ติดที่...

ลูกไม่เอาพ่อ: อยากให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูก แต่ติดที่ลูกไม่ยอม ทำไงดี

ลูกไม่เอาพ่อ

แม่ๆ ทุกคนย่อมอยากให้คุณพ่อสามารถเป็นมือวางอันดับสองที่ไว้ใจให้ช่วยเลี้ยงดูลูกแทนในช่วงเวลาที่ตัวเองต้องทำหน้าที่การงานอย่างอื่น แต่ไม่ว่าคุณพ่อจะยินดีและเต็มใจแค่ไหน ปัญหาที่ทำให้แม่ๆ ต้องปวดหัวก็คือลูกไม่ยอม! หรือที่แม่ๆ มักจะบ่นว่า ลูกไม่เอาพ่อ เลยนั่นเอง

Vanessa Lapointe นักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็กและครอบครัวแห่งเซาท์เซอร์รีย์ ประเทศแคนาดา อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กปฐมวัยจะมอบความรักและโลกทั้งใบของตัวเองได้ทีละหนึ่งความสัมพันธ์เท่านั้น ดังนั้นหากลูกอยู่กับคุณแม่มาตลอดทั้งวัน เมื่อคุณพ่อกลับมา ลูกจึงไม่สามารถโฟกัสที่พ่อและแม่พร้อมกันได้ เด็กส่วนใหญ่จึงยังคงให้ความสนใจคุณแม่เพียงคนเดียว ในขณะที่บางคนก็จะเปลี่ยนความสนใจเป็นวิ่งเข้าหาคุณพ่อทันทีเช่นกัน

อีกมุมหนึ่ง Dr. Tovah P. Klein นักจิตวิทยาเด็กและผู้อำนวยการ Barnard Center for Toddler Development อธิบายเพิ่มเติมว่า การลูกติดแม่ แต่ไม่ติดพ่อ คือการที่ลูกกำลังพยายามควบคุมโลกของตัวเอง เพื่อแสดงออกว่าต้องการใคร หรือไม่ต้องการใคร และเมื่อไหร่ที่ต้องการคนนี้มากกว่าคนนั้น

แต่สิ่งสำคัญที่ ดร.ไคน์ เน้นย้ำก็คือ คนที่ลูกไม่ต้องการในเวลานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเสียใจที่ถูกลูกรักปฏิเสธ และยังยืนยันว่า การที่ลูกแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากให้คุณพ่อเป็นคนดูแล อีกนัยหนึ่ง เป็นเพราะลูกรู้สึกเชื่อมั่นว่าอย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะเป็นคนที่รักและต้องการเขาเสมอ

ดังนั้นเพื่อเยียวยาหัวใจของคุณพ่อ และช่วยบรรเทาความเหนื่อยให้คุณแม่ได้ การหาวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อควรศึกษาและกลวิธีเอาชนะใจลูกติดตัวไว้ใช้เหมือนกันนะคะ

1. แท็กทีมกับคุณแม่

rejectingfather_web_1

Dr. Rebecca Schrag Hershberg นักจิตวิทยาและโค้ชด้านการเลี้ยงดูลูก ให้คำแนะนำว่า คุณพ่อควรเสนอตัวเป็นคนดูแลลูกอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อให้คุณแม่มีเวลาพักอย่างเต็มที่ และเพิ่มโอกาสให้ลูกได้อยู่กับคุณพ่อตามลำพัง และทำกิจกรรมที่ลูกเคยทำกับคุณแม่ถึงแม่ว่าลูกอาจจะคัดค้านหรือต่อต้านในช่วงแรก แต่คุณพ่อต้องอย่าเพิ่งยอมแพ้

 อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจและต้องมีคุณแม่ให้ความร่วมมือก็คือ การที่คุณแม่เป็นคนเอ่ยปากให้คุณพ่อเข้ามาเป็นผู้ช่วย หรือรับหน้าที่บางอย่างแทน โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดปฏิเสธที่ทำร้ายความรู้สึกลูก เช่น เมื่อลูกขอให้แม่ช่วยใส่ถุงเท้าให้ แต่คุณแม่กำลังง่วนอยู่กับการเตรียมอาหารเช้า แทนที่จะบอกปัดหรือพูดว่า ไปให้คุณพ่อช่วยใส่ก็ได้ ลองเปลี่ยนเป็นบอกลูกว่า ตอนนี้แม่ไม่ว่างเลย แต่แม่รู้ว่า คุณพ่อชอบใส่ถุงเท้าให้ลูกมากที่สุด และคุณพ่อน่าจะทำได้เรียบร้อยกว่าแม่เสียอีก

2. ให้พ่อลูกได้เดตกันสองต่อสอง

rejectingfather_web_2

คุณแม่อาจต้องตัดใจ มอบหมายให้คุณพ่อรับหน้าที่พาลูกออกไปเที่ยวเล่นหรือทำกิจกรรมตามลำพังดูบ้าง เพราะการเล่นและการดูแลในแบบของคุณพ่อ จะไม่ได้ผลเลยถ้าคุณแม่ยังคงอยู่ใกล้ๆ หรือในทางกลับกันก็เป็นคุณแม่ที่ตัดใจออกจากบ้านไปทำธุระ ช้อปปิ้ง หรือพักผ่อนคนเดียว แล้วปล่อยให้พ่อลูกได้ใช้เวลาอยู่กันสองต่อสองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อกับลูกให้มากยิ่งขึ้น

3. มองหน้าจอให้น้อย มองหน้าลูกให้นาน

rejectingfather_web_3

หากคุณพ่อรู้ว่าวันนี้ในอินเทอร์เน็ตมีประเด็นร้อนอะไรให้พูดถึง แต่ไม่รู้ว่า วันนี้ลูกให้ความสนใจอะไรเป็นพิเศษ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณพ่อต้องเป็นฝ่ายเข้าหาลูกมากขึ้นด้วยการเอาตัวออกห่างจากหน้าจอตรงหน้าเสียบ้าง

ตามคำแนะนำของ ดร.ไคน์ ระบุว่า กุญแจสำคัญที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพ่อลูกก็คือ ควรมีส่วนร่วมกับลูกให้มากที่สุดให้เวลากับลูกและเล่นกับลูกให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการให้เวลา คือการทำให้ลูกรับรู้ว่าคุณพ่อก็สามารถดูแลเอาใจใส่เขาได้ไม่ต่างจากคุณแม่

4. บอกรักลูก และแม่ของลูกเสมอ

rejectingfather_web_4 (1)

คุณพ่อควรเป็นฝ่ายแสดงความรักกับลูกและแม่ของลูกทุกครั้งที่มีโอกาส แม้ว่าลูกจะมีท่าทีขัดขืนหรือไม่สนใจ แต่การแสดงความรักและบอกรักของคุณพ่อ จะทำให้ลูกค่อยๆ ซึมซับและอบอุ่นใจมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

แต่สำหรับคุณพ่อที่เขินอาย Jennifer Kolari นักบำบัดเด็กและครอบครัวในโตรอนโต ผู้เขียนบทความลงเว็บไซต์ Connected Parenting แนะนำว่าให้คุณพ่อลองบอกรักแบบไม่ใช้คำพูด แต่แสดงออกผ่านการโอบกอด การเล่น หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัส เช่น นอนดูหนังบนโซฟาด้วยกัน วิ่งไล่จับ หรือเล่นมวยปล้ำบนพื้นนุ่มๆ วิธีนี้จะช่วยเพิ่ม Oxytocin ฮอร์โมนแห่งความรักความผูกพันให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้

เช่นเดียวกันกับการบอกรักแม่ของลูก ก็ช่วยสร้างกำลังใจ บรรเทาความเหนื่อยล้า และเป็นหนึ่งในการยืนยันว่าคุณพ่อพร้อมจะเคียงข้างและรับหน้าที่ช่วยดูแลลูกอยู่เสมอ

อ้างอิง
today
todaysparent
romper

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST