ได้ยินชื่อ ไวรัส RSV แล้วคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงต้องส่ายหัว ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยอนุบาลถึงแม้จะเข้าใจดีว่า ลูกวัยนี้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยและไม่สบายได้ง่าย ไปโรงเรียนกลับมาก็อาจมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ได้เสมอ แต่ส่วนมากอาการมักจะไม่รุนแรง หายเองได้ในช่วงเวลาสั้นๆแต่จะเกิดอะไรขึ้น หากอาการไอและน้ำมูกไหลของลูกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหายไปง่ายๆ และนี่คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้แม่อย่างเราเริ่มสงสัยว่า อาการเหล่านี้เป็นเพราะลูกเคยติดเชื้อไวรัส RSV หรือเปล่า
แล้วสิ่งที่เราสงสัยก็เป็นความจริง หลังจากที่ลูกมีอาการไอต่อเนื่องนานเกินหนึ่งสัปดาห์ คุณหมอก็ระบุว่า ลูกเป็นภูมิแพ้อากาศ รวมทั้งฝุ่นและควัน ทำให้จาม คัดจมูก มีน้ำมูก และทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า การติดเชื้อไวรัส RSV ที่ผ่านมา เป็นเหมือนการเปิดประตูต้อนรับโรคภูมิแพ้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถหายขาดได้ด้วยการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และให้เวลาระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำงานเต็มที่เมื่อลูกโตขึ้น
ย้อนรอยการติดเชื้อไวรัส RSV
ราวเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา ลูกชายต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเชื้อได้โจมตีทางเดินหายใจส่วนล่าง และทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กรณีรุนแรงอาจทำให้เกิดโรคปอดบวมได้
จากงานวิจัยของ Pingsheng Wu ศาสตราจารย์วิจัยด้านการแพทย์ในแผนกโรคภูมิแพ้ โรคปอด และเวชบำบัดวิกฤติภายในภาควิชาอายุรศาสตร์ ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ระบุว่า การติดเชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กขวบปีแรก เจ็บป่วยมากถึง 70% และเด็กเกือบทุกคนจะต้องติดเชื้อไวรัส RSV อย่างน้อยหนึ่งครั้งเมื่ออายุประมาณสองขวบ
ทางด้าน Dr. Ting Shi นักวิจัยและนักระบาดวิทยาที่มีความสนใจเป็นพิเศษในด้านระบาดวิทยาทางเดินหายใจทั่วโลกระบุว่า ในแต่ละปี จะพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก ติดเชื้อทางเดินทางหายใจส่วนล่างเฉียบพลันที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส RSV ประมาณ 33.1 ล้านครั้ง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่าสามล้านคนต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 118,200 ราย
อาการหลังจาก RSV หายไป
หลังจากที่ลูกชายหายจากการติดเชื้อไวรัส RSV ภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน ลูกชายก็เริ่มมีอาการไอ เสมหะ คัดจมูก น้ำมูกไหล ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ อาการไอก็ยังไม่ทุเลา ยังคงไอถี่และมีเสมหะ เราจึงพาลูกไปโรงพยาบาล (ครั้งแรกหลังจากหายจากติดเชื้อไวรัส RSV)
คุณหมอระบุว่า ‘คออักเสบ’ จ่ายยาละลายเสมหะ คัดจมูก และเมื่อมีน้ำมูกสีเหลืองเขียว คุณหมอจึงจ่ายฆ่าเชื้อร่วมด้วย ระหว่างนี้หมั่นล้างจมูกให้ลูกเช้าเย็น และให้หยุดเรียนไปก่อนผ่านไป 1 สัปดาห์ อาการไอของลูกยังไม่ทุเลา (อาจเป็นเพราะเราทำขวดยาฆ่าเชื้อตกแตกไปก่อน ลูกจึงไม่ได้กินยาครบตามที่หมอสั่ง) เราจึงกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง (ครั้งที่ 2) ได้พบกับคุณหมอทางเดินหายใจ หลังจากซักประวัติและฟังเสียงปอดของลูกชายแล้ว คุณหมอระบุว่าเป็น ‘ไซนัสอักเสบ’ จ่ายยาฆ่าเชื้อมาให้กินต่อเนื่อง 10 วันจนหมด พร้อมกับยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ ยาแก้น้ำมูก และกำชับเรื่องล้างจมูก
อาการเดิมกลับมาอีกครั้ง และหนักขึ้นมากกว่าเดิม
เวลาผ่านไป 10 วัน อาการของลูกค่อยๆ ดีขึ้น และหายไป แต่ราวหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ลูกก็กลับมามีอาการแบบเดิม จุดสังเกตคือ ลูกไม่มีไข้ และมักจะจามหลายครั้ง น้ำมูกไหล และตามมาด้วยการไอแบบมีเสมหะ แต่ระหว่างนั้นลูกยังร่าเริง วิ่งเล่นตามปกติ กินข้าวเก่งเหมือนเดิม ยอมกินยาและล้างจมูก แต่อาการก็ไม่ได้ดีขึ้น เราพาลูกไปหาหมอ (ครั้งที่ 3) ครั้งนี้อาจารย์หมอเด็ก ระบุว่า ลูกเป็นภูมิแพ้อากาศ แนะนำให้ทำความสะอาดแผงกรอกหน้ากากเครื่องปรับอากาศทุกสัปดาห์ ที่นอนหมั่นทำความสะอาด ทำห้องนอนลูกให้โล่ง หลีกเลี่ยงตุ๊กตาหรือกองผ้าห่ม และให้ยาละลายเสมหะ ยาขับเสมหะ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก และหลังจากสองสัปดาห์ ถ้าลูกยังไม่หายให้กลับมาหาอีกครั้ง
ผ่านไปสองสัปดาห์ แม้อาการของลูกจะดีขึ้น แต่ก็ยังไออยู่ คุณหมอจึงให้กินยาชุดเดิม ดูแลแบบเดิมต่อเนื่องมาอีกหนึ่งสัปดาห์ ลูกก็หายเป็นปกติ
แต่ก็ดีขึ้นแค่สัปดาห์เดียว อาการทุกอย่างก็กลับมาอีกครั้ง ลูกเริ่มจามบ่อย มีน้ำมูกใส และไอถี่และหนักมาก ไอจนหอบ ไอจนนอนไม่ได้ และสุดท้านก็ต้องต้องพาลูกกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง (ครั้งที่ 4)
RSV คือประตูสู่ภูมิแพ้ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง
คุณหมออธิบายให้ฟังว่า เด็กที่เคยติดเชื้อไวรัส RSV มาแล้ว เหมือนเป็นการเปิดประตูให้โรคภูมิแพ้เข้ามาได้ง่ายๆ ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว เมื่อเจอกับเชื้อไวรัส RSV ก็ทำให้มีอาการมากขึ้นหรือเป็นโรคภูมิแพ้ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จามและมีน้ำมูก เด็กบางกลุ่มเป็นภูมิแพ้แล้วส่งผลต่อระบบทางเดินทางหายใจส่วนล่าง นั้นคือ มีอาการไอ หอบ ซึ่งใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน และในปัจจุบันมีเด็กต้องกลับมาที่โรงพยาบาลหลังหายจากติดเชื้อ ไวรัส RSV เพราะอาการเหล่านี้มากขึ้น
จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า เด็กที่เคยติดเชื้อ RSV จะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากระบบภูมิคุ้นกันร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ
Dr. Ian Balfour-Lynn ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์ทางเดินหายใจในเด็ก และผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านของเวชศาสตร์ทางเดินหายใจในเด็ก รวมถึงโรคหอบหืด และอาการหายใจมีเสียงหวีดในทารก ระบุว่า การติดเชื้อ RSV สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ และอาจนำไปสู่โรคหอบหืดได้ในอนาคต ทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ได้
วิธีดูแลลูกหลังจากนั้น
กรณีของลูกชายวัยสี่ขวบ ภูมิแพ้เล่นงานหนัก ทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ต้องแอดมิตเพื่อพ่นยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง ลูกชายกินข้าวเก่ง กินยาเองได้ ไม่ต้องให้น้ำเกลือ เพิ่มเติมคือ พ่นจมูก และล้างจมูกอย่างต่อเนื่อง
ลูกชายแอดมิตเพียงสองคืน คุณหมอก็ให้กลับบ้านได้ พร้อมกำชับเรื่องการล้างจมูก งดการว่ายน้ำสักระยะ แต่สามารถวิ่งเล่นออกกำลังกายได้ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ กรณีเลี่ยงไม่ได้ เมื่อลูกมีอาการไอจนหอบ ก็ต้องพากลับมาพ่นยาที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม
ปัจจุบันลูกชายไม่มีอาการใดๆ แล้ว แต่ยังคงกินยาเสริมภูมิอย่างต่อเนื่อง และพ่นจมูกด้วยสเปรย์น้ำเกลือในวันที่อากาศเปลี่ยน และค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเดิมกลับมาเร็วจนเกินไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST