READING

6 วิธี ทำให้บ้านและครอบครัวเป็น Safe Zone ของลูก...

6 วิธี ทำให้บ้านและครอบครัวเป็น Safe Zone ของลูก

safe zone

เราต่างคาดหวังว่า ‘บ้าน’ จะเป็น safe zone เป็นที่สำหรับชาร์จพลังและปลดปล่อยความเป็นตัวเอง และเมื่อกลับเข้าบ้าน ความเหนื่อยล้าทั้งกายใจก็จะได้รับการคลี่คลายไปในที่สุด

แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะบ้านควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองแล้ว บ้านยิ่งต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกในเวลาเดียวกัน

เราไม่ได้กำลังหมายถึงบ้านที่เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ เพราะคำว่าบ้านของลูก ย่อมหมายถึงสถานที่ที่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็น safe zone ของตัวเองอย่างแท้จริง ก็คือการที่เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และไว้วางใจคุณพ่อคุณแม่มากกว่าคนอื่น

การทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านและคุณพ่อคุณแม่คือพื้นที่ปลอดภัยจึงเป็นพื้นฐานชีวิตที่ดี เพราะลูกจะไม่ต้องมองหาคนอื่นเพื่อเป็นที่พึ่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต้องจำเป็นต้องหาความสบายใจนอกบ้าน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ ตามมาได้

แต่จะทำอย่างไรให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่และบ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟโซนของเขาเสมอ เรามีเทคนิคดีๆ มาบอกค่ะ

1. หาโอกาสพูดคุยและรับฟังลูกอยู่เสมอ

safe zone

การมีเวลาพูดคุยกันในครอบครัว จะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนในบ้านได้แบ่งปันเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรอให้เป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญเสมอไปก็ได้

เคล็ดลับของการพูดคุยกับลูกคือคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มด้วยการเล่าเรื่องของตัวเอง เช่น วันนี้แม่ไปไหน และทำอะไรระหว่างลูกอยู่ที่โรงเรียน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นถามว่าลูกได้ทำอะไรไปบ้าง จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายกว่าการบอกให้ลูกเล่าเรื่องตัวเองให้ฟังเฉยๆ และเมื่อทำบ่อยๆ ลูกจะเกิดความคุ้นเคยและสบายใจที่จะเล่าเรื่องตัวเองออกมาโดยที่คุณแม่ไม่ต้องพยายามเลยล่ะค่ะ

2. อย่าอายที่จะแสดงความรู้สึกและชื่นชมลูก

safe zone

คุณพ่อคุณแม่มักกังวลที่จะบอกหรือแสดงความรู้สึกให้ลูกรับรู้ และบางครั้งอาจคิดว่าการพูดชมลูกบ่อยๆ จะไม่เป็นผลดีกับลูก ทำให้คุณพ่อคุณแม่มักจะปิดกั้นไม่ให้ลูกเข้าใจความรู้สึกนั้น เช่น เมื่อคุณแม่มีสีหน้าเคร่งเครียด แต่พอลูกถามกลับปฏิเสธว่าไม่มีอะไร หรือบอกปัดไปว่าไม่ใช่เรื่องที่ลูกต้องรู้ รวมถึงไม่ค่อยแสดงออกว่ารู้สึกภูมิใจและชื่นชมในตัวลูก เพราะกลัวว่าจะทำให้ลูกเคยตัว

แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายความรู้สึกตัวเองของตัวเองให้ลูกฟังด้วยถ้อยคำง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เช่น วันนี้คุณแม่เหนื่อยจัง หรือคุณพ่อมีเรื่องที่กังวลใจนิดหน่อย เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง และอย่าลืมหาโอกาสพูดขอบคุณและชื่นชมลูกบ้างในเวลาที่เหมาะสมนะคะ

3. ภาษากายก็สำคัญ

family

บางครั้งแค่คำพูดหรือการบอกว่าคุณพ่อคุณแม่รักและเป็นห่วงลูกมากแค่ไหน อาจจะไม่สามารถแสดงความรู้สึกให้ลูกเข้าใจได้ดีพอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสื่อสารและแสดงความรู้สึกผ่านภาษากายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกอด หอมแก้ม จูงมือหรือแม้แต่บีบมือให้กำลังใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย

4. ทุกคนในบ้านมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน

ชวนลูกไปเที่ยว

บางครั้งความคิดเห็นหรือความต้องการของลูกอาจไม่ตรงกับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันหยุดนี้จะออกไปเที่ยวที่ไหน ลูกอาจจะอยากไปสวนสัตว์ ส่วนคุณพ่อคุณแม่อยากไปห้างสรรพสินค้า การต้องหาข้อตกลง เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่มองข้ามหรือเสียงของเขานั้นไม่มีความหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ

คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงออกให้ลูกเห็นว่าเสียงของเขาได้รับการรับฟังเสมอ และสร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่น ไปสวนสัตว์ก่อนแล้วตอนเย็นค่อยไปห้างฯ ก็ได้

5. ไม่พูดคำว่า ‘ผิดหวัง’

safe zone

บางครั้ง ถ้าลองสังเกตให้ดีจะพบว่า ที่ลูกไม่ค่อยอยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ก็เพราะกลัวว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวัง หรือไม่พอใจในตัวเขา

ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ คอยซัปพอร์ตและให้กำลังใจลูกเสมอ เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟัง ให้คำปรึกษา ช่วยหาทางแก้ไข และจะไม่ตัดสินหรือซ้ำเติมความผิดของลูก

6. ให้เวลากับครอบครัว

family

ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะแน่นแฟ้นมากขึ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่จัดสรรเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเที่ยวไกลๆ แต่อาจจะเป็นเวลาที่อยู่บ้านและดูหนังด้วยกันทั้งครอบครัว เล่นบอร์ดเกมส์ด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายภายในบ้าน ทำให้ลูกรู้สึกว่าการได้อยู่กับครอบครัวเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและสามารถช่วยเยียวยาบางเหตุการณ์ที่อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยจากภายนอกได้

“ไม่สำคัญว่าบ้านคุณจะเล็กหรือใหญแค่ไหน สิ่งสำคัญคือความรู้สึกรักและอบอุ่นที่อยู่ข้างในต่างหาก”

 Peter Buffett
(นักประพันธ์เพลงชาวอเมริกัน)

 

 

อ้างอิง
wiseok
theplaceforchildrenwithautism
bangkokbiznews

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST